เนื้อหาในหมวด การเงิน

กพท. ชงมาตรการเฝ้าระวังขาดทุนสะสม มี 5 สายการบินที่เข้าข่ายน่าเป็นห่วง

กพท. ชงมาตรการเฝ้าระวังขาดทุนสะสม มี 5 สายการบินที่เข้าข่ายน่าเป็นห่วง

เว็บไซต์ thebangkokinsight รายงานว่า นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ระบุ กพท. กำลังจับตาธุรกิจสายการบินภายในประเทศอย่างใกล้ชิด เนื่องจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ต่างๆ เริ่มแย่ลง โดยจะเห็นว่า ผู้ประกอบการเครื่องบินแบบเช่าเหมาลำ (Charter Flight) บางรายได้หยุดประกอบกิจการไปในปีนี้

379474

ด้านสายการบินราคาประหยัด (Low-cost Airline) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการหลักและมีลูกค้าจำนวนมากในประเทศไทย ก็มีการแข่งขันสูง มีผลประกอบการขาดทุน และเริ่มอยู่ในสถานะที่น่าเป็นห่วง จึงเกรงว่าหากสายการบินขาดสภาพคล่อง จะไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างสม่ำเสมอและอาจส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารที่ซื้อบัตรโดยสารล่วงหน้า เหมือนเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในประเทศอินเดียและยุโรปก่อนหน้านี้

airport

ชงมาตรการเฝ้าระวัง

นายจุฬากล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว กพท. จึงเตรียมเสนอมาตรการเฝ้าระวังให้คณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ที่มีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน พิจารณาในวันที่ 6 ธันวาคม 2562

โดยจะขออำนาจให้ กพท. สามารถเชิญสายการบินที่มีส่วนทุนลดต่ำกว่า 50% มาหารือและเรียกแผนแก้ไขปัญหาต่างๆ มาพิจารณาได้ เพื่อให้ กพท. สามารถติดตามสถานการณ์ในภาพรวมได้อย่างใกล้ชิดและชัดเจน เพราะสายการบินแต่ละแห่งก็มีรายละเอียดและที่มาของผลประกอบการที่แตกต่างกัน บางรายอาจขาดทุนจากการลงทุน บางรายก็ซื้อเครื่องบินมาเป็นทรัพย์สินขององค์กร แต่บางรายเลือกวิธีการเช่าเครื่องบิน เป็นต้น มาตรการนี้ยังส่งผลให้เกิดความเท่าเทียมและไม่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้ประกอบการแต่ละราย

อย่างไรก็ตาม หาก กพท. ติดตามแผนแก้ไขปัญหาที่เสนอมาแล้วพบว่า สถานการณ์กลับแย่ลงหรือมีผลขาดทุนมากขึ้น ก็อาจขอให้ผู้ประกอบการจัดทำแผนฟื้นฟูหรือมีมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมต่อไป

“ยังไม่มี Sign ว่าสายการบินไหนจะล้ม แต่เราพอเห็นขาดทุน ก็ต้องเข้ามาดูก่อน เพราะถ้าส่วนผู้ถือหุ้นหายไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งเขาต้องการเติมเงินหรือกระแสเงินสด แต่สัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) เยอะ ก็มีความเสี่ยงที่แบงก์จะไม่ให้กู้ ซึ่งอาจจะทำให้กิจกรรมของสายการบินลดลง มีการลดคน หรือกระทบผู้โดยสาร” นายจุฬา กล่าว

airport1

5 สายการบินเข้าข่าย

สายการบินที่เข้าข่ายจะต้องถูกเชิญมาหารือ และเรียกแผนแก้ไขปัญหาตามมาตรการดังกล่าว มีทั้งหมด 5 ราย ประกอบด้วยสายการบิน

  • การบินไทย
  • ไทยสมายล์
  • นกแอร์
  • ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์
  • ไทยไลอ้อนแอร์
  • ทั้งนี้ สายการบินไลอ้อนแอร์มีสถานการณ์น่าเป็นห่วงมากที่สุด เนื่องจากเป็นสายการบินที่มีรายได้มาก แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมต้นทุนที่มีจำนวนสูงกว่า ส่งผลให้มีผลขาดทุนสะสมสูง โดยในปี 2561 ไทยไลอ้อนแอร์มีผลขาดทุนสะสมประมาณ 7 พันล้านบาท และอาจจะเพิ่มเป็นระดับ 1 หมื่นล้านบาทในสิ้นปีนี้

    ก่อนหน้านี้ กพท. จึงได้เชิญไทยไลอ้อนแอร์มาหารือเรื่องแผนธุรกิจและแผนแก้ไขปัญหาแล้ว โดยไลอ้อนแอร์ก็ระบุว่า จะพยายามลดค่าใช้จ่าย รวมถึงใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นฐานเพื่อเพิ่มรายได้ ซึ่ง กพท. ก็ต้องติดตามว่าเอกชนจะสามารถดำเนินการได้ตามแผนหรือไม่

    airport2

    ไม่ถึงขั้นทุ่มตลาด

    เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า กพท. จะออกมาตรการควบคุมการแข่งขันด้านราคาเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้มีผู้ประกอบการล้มหายตายจากไปหรือไม่ นายจุฬากล่าวว่า เริ่มมีการพูดกันมากขึ้นว่าผู้ประกอบการบางคนลดค่าโดยสารมากเกินไป แต่จากการติดตามของ กพท. ก็ยังไม่เห็นกรณีที่เป็นการทุ่มตลาดอย่างชัดเจน เช่น ต้นทุน 1,000 บาท ขาย 500 บาทติดต่อกันนานๆ ซึ่งหากมีการทุ่มตลาดอย่างเห็นได้ชัดก็จะเข้าไปดูแลอย่างแน่นอน

    โดยขณะนี้ กพท. จะดำเนินนโยบายด้านราคาเหมือนเดิมไปก่อน คือ ไม่กำหนดเพดานราคาต่ำสุด เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ผู้โดยสาร แต่จะกำหนดเพดานราคาค่าโดยสารสูงสุด

    อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ของธุรกิจสายการบินจะไม่ค่อยดีนัก แต่ก็ยังมีสายการบินยื่นขอเพิ่มเที่ยวบินกับ กพท. อย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่จะเป็นการเพิ่มเที่ยวบินระหว่างภาค เช่น เชียงใหม่-อุดรธานี และเชียงใหม่-ภูเก็ต เพราะตารางบินในสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิหนาแน่นมาก