ความเหมือนที่แตกต่างระหว่าง IT กับ เพื่อนที่ระลึก
สองภาพยนตร์สยองขวัญที่เข้าฉายในสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องหนึ่งเป็นหนังสอยงขวัญสัญชาติอเมริกา ดัดแปลงมาจากนวนิยายของสตีเฟ่นคิง ส่วนอีกเรื่องเป็นหนังของค่าย GDH ที่กำกับโดย จิม โสภณ ศักดาพิศิษฏ์ ซึ่งครั้งหนึ่งเขาเคยได้รับเสียงชื่นชมเป็นอย่างมากจากหนังเรื่องลัดดาแลนด์
หนังสองเรื่องนี้อาจจะเกิดขึ้นต่างสถานที่ ต่างช่วงเวลา และตัวละครก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันอย่างสิ้นเชิง แต่เหนืออื่นใดหนังสองเรื่องนี้กลับพูดถึงประเด็นเดียวกันที่ชัดเจนที่สุดในก็คือ “ความเจ็บปวดของการก้าวผ่านวัย” และแน่นอนว่าบทความนี้จะมีการเปิดเผยเรื่องราวและจุดสำคัญในภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องโดยละเอียด
เพื่อนที่ระลึก
สิ่งที่เกิดขึ้นในหนังเรื่องนี้ในช่วงฉากเปิดเรื่องนั้น เราจะได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างบุ๋ม (ธัญญภัสร์ ภัทรธีรชัยเจริญ) และอิ๊บ (ปาณิสรา ริกุลสุรกาน) สองเด็กสาวที่ฐานะทางบ้านจัดได้ว่าร่ำรวย ทั้งสองมีกล้องแฮนดี้แคมเอาไว้บันทึกช่วงเวลาอันสนุกสนาน เรียนโรงเรียนเอกชน (พิจารณาจากเครื่องแบบนักเรียน) ประกอบกับมีรถหรูที่บริการรับส่งทั้งสอง อีกทั้งเรายังได้เห็นว่าบุ๋มและอิ๊บนั้น เป็นเพื่อนรักเพื่อนสนิทกัน เพราะมีพ่อของตนที่ร่วมทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
ระหว่างนั้นหนังก็ตัดภาพเหตุการณ์จากแฟ้มข่าวในปีพ.ศ. 2540 ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่ นั่นก็คือวิกฤติต้มยำกุ้งที่รัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาทส่งผลให้คนทั่วประเทศตกงาน กิจการล้มละลาย เกิดสภาวะฟองสบู่แตก และอสังหาริมทรัพย์หลายโครงการต้องหยุดชะงักไม่มีการสร้างต่อ โครงการที่พ่อของบุ๋มและอิ๊บก็เป็นหนึ่งผู้ประสบชะตากรรมดังกล่าว
หนังไม่ได้เลือกจะเล่ามุมมองวิกฤติปี 40 ผ่านสายตาผู้ใหญ่ แต่มันถูกเลือกเล่าผ่านสายตาของบุ๋ม ในวัย 15 ปี ช่วงวัยแห่งความสับสนและการก้าวข้ามผ่านวัย เธออาจจะยังไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตเธอนัก ด้วยความไร้เดียงสาเราจะได้เห็นตัวละครนี้เกาะกุมมือเพื่อนสนิทตอนที่พวกเธอมองเห็นพ่อของตัวเองคุยโทรศัพท์และทรุดตัวลงที่พื้น การที่ทั้งสองให้กำลังใจผ่านเพจเจอร์ หรือการที่ทั้งคู่เลิกเรียนแล้วกลับมานั่งปรับทุกข์กันที่ชั้นสูงสุดของตึกสาธรเสตจ ที่เหมือนจะไม่มีวันสร้างเสร็จ...
ในฉากถัดมาเราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวละครบุ๋ม ผ่านเครื่องแต่งกายชุดนักเรียนที่ดูเหมือนว่าเธอจะไม่ได้เรียนอยู่ในโรงเรียนเอกชนอีกต่อไป ฉากดังกล่าวเธอเดินทางขึ้นไปพบกับอิ๊บบนตึกสาธรเสตจ พร้อมกับนำเงินค่าเทอมของตัวเองไปให้กับอิ๊บ เด็กสาวทั้งสองคงยังคงงุนงงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่พวกเขาก็ยังแก้ปัญหาในวิถีทางเดิมๆ นั่นคือไม่ได้คิดหน้าคิดหลังให้มาก ตามวิถีของเด็กสาวที่ถูกเลี้ยงมาดูความสุขสบาย แต่ฉากฉัดมาเราเห็นได้ชัดเลยว่าสภาพความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนแปลงไปของบุ๋มที่ครั้งหนึ่งน่าจะเคยได้อยู่อาศัยในบ้านหลังโต กลับต้องมาอาศัยอยู่ในแฟลชสกปรก (ที่มีแมลงสาปในหมวกคลุมอาบน้ำ) ทำให้เธอไม่พอใจและเกรี้ยวกราดจนเกิดการมีปากมีเสียงกับแม่ของตัวเองที่เข้ามาต่อว่าเธอเรื่อง เงินค่าเทอมถูกนำไปใช้อะไร แต่แทนที่จะบอกความจริงเธอกลับแสดงความรู้สึกตามประสาเด็กที่ยังไม่เข้าใจต่อสถานการณ์ของครอบครัวที่ว่า “พวกเขากำลังเป็นคนล้มละลาย” และบุ๋มก็อายเกินกว่าที่จะสู้หน้าเพื่อนๆว่าทำไมแม่ของเธอต้องไปขายของแบกับดินราวกับคนยากจน เพราะนั่นคือความจริงที่เกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัวและมันก็ยากเกินไปสำหรับเด็กสาวที่เคยสุขสบายมาก่อนนั่นเอง
ทุกอย่างคงไม่เดินไปถึงสภาวะวิกฤติ เมื่อบุ๋มจับได้ว่าการที่พ่อของเธอให้คำมั่นกับลูกสาวที่ว่า “เราจะกลับมารวยอีกครั้ง” เป็นเรื่องโกหก และพ่อของเธอกำลังอยู่ในสภาวะวิกลจริต บุ๋มค้นพบว่าพ่อของเธอนั่งพูดเรื่องโปรเจ็คใหญ่โตในร้านอาหารกลางสยามสแควร์เพียงคนเดียว ท่ามกลางสายตาของคนในร้านที่จับจ้องราวกับเขาเป็นตัวประหลาด เมื่อเห็นเช่นนั้นเธอก็ตัดสินใจนัดแนะกับอิ๊บว่าทั้งสองจะฆ่าตัวตายไปด้วยกันที่ตึกสาธรเสตจ เห็นได้ชัดเลยว่าทั้งสองสาวกำลังมองโลกผ่านสายตาของพวกเธอเองด้วยความไร้เดียงสา จนบางทีบุ๋มอาจจะไม่ได้ทันฉุกคิดว่าการที่แม่ต่อว่าเธอนั้น ก็เพราะว่าไม่อยากให้ลูกใช้เงินฟุ่มเฟือยและต้องฝึกให้เธอนั้นต่อสู้กับสภาพความเป็นจริงและการที่พ่อของเธอพูดคนเดียวในร้านอาหารนั้นอาจจะเป็นเพราะ พ่อของเธอก็กำลังปรับตัวและพยายามรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นกัน
แต่น่าเสียดายที่อิ๊บก็ปลิดชีพตัวเองไปก่อน และบุ๋มก็ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่าบางครั้งการตายอาจจะไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเธอ เวลาผ่านพ้นไป 20 ปี เราได้เห็นการเติบใหญ่ของบุ๋มที่กลายมาเป็นเจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีลูกสาวที่น่ารักวัย 14 ปี 1 คน แต่เธอกำลังจะต้องเผชิญหน้ากับอดีตที่ตามกลับมาหลอกหลอนเมื่อเธอมีโครงการจะรีโนเวทตึกสาธรทาวเวอร์อีกครั้ง เพื่อประคับประคองธุรกิจของเธอให้ดำเนินหน้าต่อไปได้ และเป็นที่มาของหนัง “เพื่อนที่ระลึก”
ตัวละครอย่างบุ๋ม อาจจะก้าวข้ามผ่านวัยเด็กด้วยความเจ็บปวด ทั้งการต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติเศรษฐกิจ สภาพครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไป และการตัดสินใจแบบชั่ววูบนำมาซึ่งตราบาปที่หลอกหลอนเธอไปชั่วชีวิต
IT
เหล่าบรรดาตัวละครเด็กๆในหนังเรื่อง IT ต่างก็ต้องเผชิญหน้ากับความกลัว แต่เหนืออื่นใดคือหนังเรื่องนี้ไม่ได้เป็นหนังผีที่โจมตีคนดูแบบดาษดื่น ตัวละครทุกตัวต่างก็มีเรื่องส่วนตัวที่พวกเขา “กลัว” กันเป็นต้นทุนอยู่แล้ว แต่หนังก็สร้างรูปธรรมด้วยการใช้ตัวตลกเพนนีไวส์ มาเป็นจุดศูนย์รวมของความกลัว และในโลกของความกลัวนี้มีแค่เพียงเด็กๆเท่านั้นที่มองเห็นมัน ผู้ใหญ่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้ วัดได้จากฉากที่พ่อของเบเวอร์ลีย์ มาร์ช (โซเฟีย ลิลลิส) มองไม่เห็นห้องน้ำที่เต็มไปด้วยคราบเลือดที่สาดกระเซ็นไปทั่วห้อง
เมื่อวิเคราะห์ไปถึงรายตัวละครแล้วเราจะพบว่าบิลล์ เดนโบรห์ (เจเดน ลีเบอร์เฮอร์) มีความหลังฝังใจเรื่องน้องชายอย่างจอร์จี้ที่หายตัวไปเพราะออกไปเล่นเรือกระดาษกลางฝน (และเขากลายเป็นเหยื่อของ “มัน” ในช่วงต้นเรื่อง) เอ็ดดี แคสพ์แบรค (แจ็ค ดีแลน) เด็กชายขี้กลัวที่ถูกทำให้เชื่อว่าเขาป่วยและเป็นโรคขี้หวาดระแวง และเข้าสังคมไม่ได้ สแตนลีย์ ยูริส (ไวแอตต์ โอเลฟฟ์)เด็กชายขี้สงสัยที่กลัวภาพวาดหญิงสาวที่หน้าตาบูดเบี้ยวซึ่งรูปภาพในอยู่ในโบสถ์ที่เข้าจะต้องเข้าร่วมพิธีบาร์มิตซวาห์ เบ็น แฮนสคอม (เจเรมี เรย์ เทย์เลอร์) เด็กอ้วน หนอนหนังสือที่ค้นพบประวัติอันแสนน่ากลัวของเมืองเดอร์รี เขาถูกทำร้ายจากแก๊งค์เด็กเกเรประจำถิ่น และไมค์ แฮนลอน (โชสเซน เจค็อบส์) เด็กผิวสีที่โดนอดีตเหตุการณ์ไฟไหม้ที่ทำให้พ่อและแม่ของเขาต้องเสียชีวิตในกองเพลิงตามหลอกหลอน และ
เบเวอร์ลีย์ มาร์ช เด็กสาวผู้โดนกลั่นแกล้งจากเด็กหญิงในโรงเรียน อีกทั้งเธออยู่กับพ่อที่พร้อมจะคุกคามทางเพศกับเธอตลอดเวลา อีกทั้งเธอยังเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้คนดูได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของ “ช่วงวัย” ให้กับคนดูอย่างชัดเจนที่สุด นั่นคือการที่เธอเริ่มต้นมีประจำเดือน ฉากน่ากลัวในห้องน้ำ รวมไปถึงการที่เธอตัดสินใจฟาดหัวพ่อของตัวเองด้วยฝาชักโครก ทั้งหมดนี้คือจุดเริ่มต้นจนไปถึงการเอาชนะความกลัวของตัวละครนี้ (เช่นเดียวกันกับตัวละครอื่นๆ)
การเอาชนะความกลัวทั้งหมดของตัวละครเด็กเหล่านี้ ขมวดปมที่ฉากท่อระบายน้ำในช่วงท้ายเรื่องที่บิลล์ เดนโบรห์ตัดสินใจยิงหัวจอร์จี้ (มัน ที่จำแลงกายมา) ซึ่งเป็นการพิสูจน์ให้คนดูเห็นว่า เขาสามารถเอาชนะความกลัวที่ตามเกาะกุมจิตใจเขามาตลอด และพร้อมจะปล่อยวางได้แล้วว่าน้องชายของเขาได้จากไปอย่างไม่มีวันกลับอย่างแท้จริง
แม้ว่าพวกเหล่าเด็กๆตัวเดินเรื่องจะสามารถเอาชนะ “มัน” ได้ แต่เราจะเห็นได้ว่า “มัน” ก็ยังหนีต่อไปและกลับไปจำศีล ราวกับว่ามันพร้อมจะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเราสามารถตีความได้ว่าถึงเด็กๆกลุ่มนี้จะเอาชนะความกลัวในช่วงวัยของตัวเองได้ก็ตาม แต่สักวันหนึ่งความกลัวก็จะกลับมาอีกครั้งแต่แค่เป็นรูปแบบอื่นที่พวกเขาจะต้องเผชิญหน้ากับมัน
เช่นเดียวกันกับบุ๋มใน เพื่อนที่ระลึกที่ต้องรับมือกับสภาวะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังมาถึงทางตัน ลูกสาวที่ป่วยเป็นโรคละเมอ ผีเพื่อนสนิทที่ตามมาหลอกหลอน เหล่านี้น่ากลัวกว่าเหตุการณ์ที่เธอเคยต้องเผชิญในช่วงอายุ 15 ปีหลายเท่าตัวนัก แต่ท้ายที่สุดแล้วชีวิตก็มีสองทางเลือกเสมอคือ สู้กับความกลัวนั้น หรือยอมแพ้ให้กับมันและเลือกจบชีวิตแบบอิ๊บ
ไม่ว่า IT CHAPTER 2 จะมีบทสรุปในวัยผู้ใหญ่อย่างไร แต่แน่นอนว่าพวกตัวละครเด็กในภาคนี้จะต้องกลับมาสู้กับ “มัน” อีกครั้ง แบบเดียวกับที่บุ๋มใน เพื่อนที่ระลึก ต้องเผชิญอย่างแน่นอน