ผู้ประกอบการโอด จำกัดโควต้าสิมิลัน จำใจปลดลูกจ้างเป็นร้อย โซเชียลแห่ให้กำลังใจ
จากมาตรการจำกัดโควต้าเข้าออกอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน เพื่อทำการอนุรักษ์ทรัพยากร หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปีที่เพิ่งจะกำลังจะเปิดอย่างเป็นทางการ ทำให้นักท่องเที่ยวต้องมองหาแผนท่องเที่ยวแห่งใหม่
ล่าสุดผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Torphong Wongsathienchai หรือรู้จักกันในนาม พี่สตางค์ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ได้โพสต์ถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น เนื่องจากการอนุรักษ์อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันในช่วงการเปิดฤดูกาลท่องเที่ยว
"ผมมีความเศร้าใจ จำเป็นต้องขอให้พนักงานลาออก ในเบื้องต้นจำนวนประมาณ 120 คน ทั้งตำแหน่งกัปตัน เด็กเรือ ไกด์ แม่บ้าน พนักงานท่าเรือ พนักงานครัว ด้วยความเจ็บปวดใจ เสียใจและไม่มีทางเลือกอื่น เท่าที่ได้คุยกับบริษัทอื่นๆ ก็กำลังประสบวิกฤติและมีความจำเป็นต้องทำเช่นเดียวกันหลายสิบแห่ง"
ผู้โพสต์ได้กล่าวอีกว่า การท่องเที่ยวกลายเป็นสิ่งที่ถูกตราหน้าว่าเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้เกิดมาตรการถูกปิดพื้นที่อย่างกะทันหัน เพียงแค่ไม่กี่วันก่อนการเปิดฤดูกาลท่องเที่ยว แม้จะยอมรับในการตัดสินใจ แต่ก็ไม่อาจมีทางออกร่วมกันได้ ทั้งยกเลิกนโยบายค้างคืนบนเกาะ จำกัดโควต้าเพียง 35 คน ไม่ให้ออกเรือได้เกิน 70 คน ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปลดพนักงาน
"3 ปีก่อน เกาะสิมิลัน มีบริษัทเพียงสิบกว่าแห่ง เราเคยเสนอให้มีการจำกัดแต่ไม่เกิดขึ้น 3 ปีต่อมากลายเป็น 53 บริษัท อุทยานแถลงวันนี้ว่ามีบริษัทที่เดินเรือจริงๆ เพียง 30 บริษัท อีกประมาณ 20 กว่าบริษัท ไม่ได้ดำเนินการเอง หรือเป็นเรือเช่า อาจมาให้บริการช่วงเทศกาลระยะเวลาสั้นๆ แล้วลงทะเบียนไว้ ก็ได้สิทธิ์และโควต้าเท่ากับบริษัทที่ทำมาเป็นสิบปีงานทะเลทำเป็นงานหลัก"
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังได้บอกว่า หลายคนอาจเห็นว่าเป็นข่าวดีของเกาะต่างๆ แต่คิดว่าคงไม่ใช่ข่าวดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพราะนักท่องเที่ยวก็จะแห่ย้ายกันไปสร้างผลกระทบในที่แห่งใหม่ เพาะอดีตถึงปัจจุบันไม่มีแผนการใดๆ รองรับเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือยกระดับการท่องเที่ยวคุณภาพอย่างเป็นรูปธรรม
"ปิดเกาะตาชัย ก็มากระทบเกาะสิมิลัน วันนี้เกาะสิมิลันลำบากและหน่วยงานนั้นๆ ก็เป็นผู้เซ็นใบอนุญาติให้เข้ามาเองทั้งสิ้น โดยมิได้ตระหนักถึงการเติบโตจนเกินขีดในรอบหลายปี และยังแถลงภูมิใจผลงานการเก็บเงินที่สูงเป็นประวัติการณ์ และผมก็ยินดีที่อุทยานจะได้เงินไปจัดการบริหารแบ่งให้อุทยานอื่นๆ ที่ขาดแคลน"
ผู้ใช้เฟซบุ๊กยังกล่าวทิ้งท้ายเอาไว้ว่า ประเด็นนี้จะโทษเพราะการท่องเที่ยวทั้งหมดคงไม่ได้ เพราะอำนาจการจัดการดูแลไม่ได้อยู่กับผู้ประกอบการ แต่กลายเป็นว่าการท่องเที่ยวเป็นแพะรับบาป วันนี้พนักงานหลายคนต้องถูกลอยแพ ชาวมอแกนจากเกาะสุรินทร์ก็ต้องตกงานเพราะไม่มีอะไรให้ทำเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่โพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ปรากฏว่ามีคนเข้ามาโพสต์ให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก มองว่าปัญหานี้ควรจะมีการหาทางออกให้กับทุกฝ่าย เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับในหลายๆ ภาคส่วน