การเมืองเรื่องความงาม: ส่องภาวะ “คลั่งสวย” ของคนหลากสี
อาทิตย์ที่เพิ่งผ่านไปคงจะไม่มีเหตุการณ์ไหนที่เป็นกระแสได้มากเท่ากับการประกวดมิสยูนิเวิร์สประจำปี 2018 ซึ่งได้เดินทางมาถึงจุดสิ้นสุด ผลปรากฏว่า Catriona Gray มิสยูนิเวิร์สจากฟิลิปปินส์กลายเป็นผู้คว้ามงกุฎสาวงามที่สวยที่สุดในโลกประจำปีนี้ไปครองอย่างสมมงฯ เมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 17 ธ.ค. 2018
>> "Catriona Gray" Miss Universe 2018 ที่แท้เคยเล่นโฆษณาในไทยมาแล้ว
>> "แคทรีโอน่า เกรย์" Miss Universe 2018 เปิดประวัติการศึกษาสาวสวยระดับจักรวาล
อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ใช่ไฮไลท์เดียวที่เกิดขึ้นบนเวทีประชันความงามที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เพราะนี่คือครั้งแรกตั้งแต่ก่อตั้งมาที่กองประกวดยอมให้ “ผู้หญิงข้ามเพศ” ก้าวเข้ามาร่วมแข่งขันประชันกันกับเหล่าสาวงามนานาชาติที่เป็นเพศหญิงโดยกำเนิด ทำให้ชื่อของ Angela Ponce มิสยูนิเวิร์สสเปน นางงามข้ามเพศคนแรกบนเวทีที่ผู้หญิงนับล้านเฝ้าฝันว่าจะได้มายืนกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และถึงแม้จะไม่ได้คว้ามงฯ กลับไปยังแดนกระทิงดุ แต่เธอก็ได้ประกาศศักดาของความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศบนเวทีได้อย่างเต็มภาคภูมิ กระทั่งผู้ชมในอิมแพคฯ ถึงกับต้องยืนขึ้นเพื่อปรบมือให้อย่างกึกก้อง
>> ไม่ได้มงแต่ได้ใจ "Angela Ponce" ผู้สร้างประวัติศาสตร์ให้ชาว LGBT บนเวทีมิสยูนิเวิร์ส
>> “การประกวดนางงามขัดกับสิทธิสตรีนิยมหรือไม่?” และอีก 4 คำถามสุดโหดในเวทีมิสยูนิเวิร์ส 2018
แต่หากเราลองย้อนไปตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของการประกวด กว่าที่ Angela จะมาถึงจุดนี้ได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เธอต้องเผชิญกับคำวิจารณ์และเสียงต่อต้านจากคนจำนวนมากตั้งแต่ก่อนเดินทางมาประเทศไทย แม้กระทั่งในกลุ่มของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเอง หลายคนตั้งคำถามเรื่อง “ความเป็นผู้หญิง” ของเธอที่ไม่ใช่ของแท้โดยกำเนิด กระทั่งแม้แต่ในโลกโซเชียลของไทย ตัวแทนสาวงามจากเมืองกาดิซคนนี้ก็ตกเป็นเป้าวิจารณ์อย่างหนักเพียงเพราะว่าเธอนั้น “ไม่เนียนนี” เพียงพอตาม “มาตรฐาน” ความสวยตามแบบฉบับกะเทยไทย
ข้อขัดแย้งดังกล่าวนำมาสู่ข้อคำถามที่ชวนให้ทีมงาน S! News ต้องขบคิดว่าจริงๆ แล้ว อะไรกันนะคือนิยามของสิ่งที่เรียกว่า “ผู้หญิง” โดยแท้จริง ทำไมผู้หญิงในคำจำกัดความของสังคมตะวันตกถึงแตกต่างไปจากผู้หญิงในคำจำกัดความของสังคมเอเชีย หรือความเป็นผู้หญิงแท้จริงแล้วเป็นเรื่องของวิธีคิดอย่างนั้นหรือเปล่า? และในประเด็นสำคัญที่ใกล้ตัวเราที่สุดนั่นก็คือ มายาคติเรื่อง “ความสวย” ของชาวเพศหลากหลายที่มีต่อกลุ่มคนข้ามเพศว่าอันที่จริงแล้ว กะเทยไทยนั้นสวยอยู่แล้วเป็นทุนเดิม หรือจริงๆ แล้วสื่อให้พื้นที่เฉพาะแค่กับกะเทยสวยเท่านั้น เพราะหากเทียบกันแล้ว เราก็ยังเห็นกะเทยสวยในสื่อกระแสหลักมากกว่ากะเทยเก่งอยู่ดี
หลังจากที่ได้คุยกับ อาจารย์เคท ครั้งพิบูลย์ ผู้หญิงข้ามเพศคนแรกที่ได้รับรองสถานะการเป็นอาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เวทีประกวดความงามเวทีนี้ได้สะท้อนปรากฏการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างน่าสนใจทีเดียว
“สวยเนียนเกินหญิง” = เมื่อสิทธิมีให้แค่เฉพาะ “กะเทยสวย”
การเป็นผู้หญิงข้ามเพศ (หรือที่คนไทยมักจะเรียกกันจนติดปากว่า “กะเทย”) ไม่ว่าจะเป็นในสังคมตะวันตกหรือแม้แต่สังคมไทย ไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่เคยเป็นเรื่องง่าย เพราะในความเป็นจริง “คนข้ามเพศ” ที่สังคมเคารพและให้การยอมรับนั้นมีรูปแบบบางอย่างที่ตายตัว และแน่นอนว่าเมื่อคุณเลือกที่จะถูกนิยามขึ้นต้นด้วยคำว่า “ผู้หญิง” เฉกเช่นเดียวกับเพศหญิงโดยเพศกำเนิด “ความสวย” คือเงื่อนไขที่สำคัญมากในการจะเป็นที่ยอมรับของสังคม (Pretty Privilege สิทธิพิเศษที่มาพร้อมกับความสวย) สำหรับผู้หญิง ความสวยคือข้อได้เปรียบ แต่สำหรับกะเทยแล้ว นี่คือกุญแจสำคัญที่จะช่วยไขปัญหาในเรื่องของการเลือกปฏิบัติที่ฝังรากมาอย่างช้านาน
“ในโลกตะวันตกจะมีคำอธิบายกะเทยที่ดูเหมือนผู้หญิงว่า Passable แปลออกมาคล้ายๆ คำว่า “เนียนนี” ของไทย ซึ่งในความเป็นจริง ความเนียนนีของสังคมตะวันตกกับสังคมไทยมันไม่เท่ากันนะ อย่างในสังคมไทย Passable คือการที่คุณจะต้องสวยกว่าผู้หญิง ดูดีกว่าผู้หญิงแท้ ในขณะที่สังคมตะวันตก Passable คือแค่คุณดูเหมือนหรือดูคล้ายผู้หญิงก็เพียงพอแล้ว คุณไม่จำเป็นต้องสวยเพื่อที่จะสามารถใช้สิทธิประโยชน์ได้เทียบเท่าเพศหญิง โดยเฉพาะในทางกฎหมาย มันสัมพันธ์กับเรื่องของความปลอดภัยมากกว่า”
“แต่ในสังคมไทย คำว่า Passable มันเป็นคอนเซ็ปต์ที่มักจะทับซ้อนกันกับคำว่า “สวย” ในความรู้สึกของคนข้ามเพศ การที่จะเนียนนีในสังคมไทยมันเหมือนจะมีมาตรฐานที่สูงกว่ากะเทยในโลกตะวันตก กล่าวคือ การจะได้รับสิทธิทางสังคมในระดับที่ใกล้กันกับผู้หญิง คุณจะต้องดู “สวยกว่าผู้หญิง” ทั่วไป ถึงจะได้รับสิทธินั้น มันมีความคาดหวังบางอย่างซ่อนอยู่ในการจะเป็นผู้หญิงของกะเทยไทย เหมือนมันสะท้อนให้เห็นว่าเนี่ย ตัวเราต้องมีความพยายามจะเป็นเพศนั้นนะ แถมเรายังทำได้ดีกว่าด้วยซ้ำ สังคมจึงควรจะต้องยอมรับฉัน กลายเป็นมายาคติที่เกิดขึ้นในหมู่กะเทย”
อาจารย์เคทอธิบายเปรียบเทียบ ก่อนจะชี้ให้เห็นถึงต้นตอของอาการ “คลั่งความสวย” ในหมู่กะเทยไทย ซึ่งหลายครั้งนำไปสู่ผลลัพธ์ที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในเรื่องของสุขภาพ “อย่างพวกนางงาม เน็ตไอดอล อินฟลูเอนเซอร์ทั้งหลายที่เป็นคนข้ามเพศส่วนใหญ่ก็นำเสนอความสวยเป็นหลัก เพราะมันเป็นรูปแบบของตัวตนที่ได้รับการยอมรับ เด็กสมัยใหม่ที่เติบโตขึ้นมากับสื่อยุคนี้ก็จะรับเอาภาพความเป็นเพศแบบนั้นเข้ามา จะต้องตัวเล็ก ต้องซอฟต์เหมือนผู้หญิงเท่านั้น”
“ปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดเลยก็คือเรื่องการโอเวอร์โดสยาฮอร์โมนกับการใช้ยาผิดประเภท ถึงขั้นเสียชีวิตเลยก็มี ยิ่งสมัยก่อนสาวประเภทสองเราไม่สามารถหาองค์ความรู้ในเรื่องฮอร์โมนจากที่ไหนได้เลย ไม่มีพื้นที่ให้กะเทยได้คุยกันเรื่องขั้นตอนในการข้ามเพศ อีกทั้งยังไม่มีหมอที่ให้คำปรึกษาในเรื่องพวกนี้ได้ เราจึงไม่เคยได้คุยกันในเรื่องความปลอดภัยของกระบวนการนี้ ส่วนใหญ่ก็จะทำกันแบบลองผิดลองถูก ดูกันเอาตามเน็ต ศึกษาผ่านเพื่อนผ่านพี่ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องอันตรายในระยะยาว เพราะยาไม่ว่าจะฉีดหรือกิน มันสร้างผลกระทบกับร่างกายหมด”
ในโลกที่ “เพศ” มีแค่เพียงสอง หน้าตาสำคัญเสมอ…
ไม่ใช่แค่ชายจริงหญิงแท้ แม้แต่คนในชุมชนเพศหลากหลายเองส่วนใหญ่ก็ยังคงยึดติดกับภาพความเป็นชายความเป็นหญิงในอุดมคติซึ่งมีรูปแบบที่ตายตัว เช่น เกย์จะต้องเข้มแข็ง วางมาดเหมือนเพศชาย ในขณะที่ผู้หญิงข้ามเพศจะต้องอ่อนหวานและสำรวมเพื่อให้ตัวเองใกล้เคียงกับความเป็นผู้หญิงในอุดมคติให้ได้มากที่สุด พฤติกรรมและภาพลักษณ์ที่นอกเหนือไปจากนี้มักจะถูกมองโดยไม่ให้คุณค่า นี่คือข้อจำกัดที่บีบให้คนหลายคนที่นิยามตัวเองว่าเป็น Queer (คนที่ดูก้ำกึ่งระหว่างชายและหญิง) ต้องถูกเบียดขับคล้ายเป็นกลุ่มนอกสังคม
“มันเป็นมโนทัศน์เรื่องเพศที่สังคมไทยยึดติดมาอย่างยาวนาน ที่เห็นได้ชัดเลยคือ คนข้ามเพศจากหญิงมาเป็นชายเอง เขาก็ยังยึดคตินี้อยู่เหมือนกัน ต้องเหมือนผู้ชายไปเลยถึงจะเรียกได้ว่าเป็น transman ต้องมีหนวดมีกล้าม เพราะภาพความเป็นชายของพวกเขามันมีลักษณะตายตัวและแน่นอน เห็นได้ชัดว่าอัตลักษณ์ทางเพศมีผลต่อการยอมรับของสังคมเสมอ รูปร่างหน้าตาจึงเกี่ยวข้องกับอำนาจในการต่อรองกับสังคมเสมอ”
เป็นเรื่องจริงที่คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยยังให้คุณค่ากับเรื่องรูปร่างหน้าตา ทำให้หลายครั้ง ประเด็นเรื่องความสามารถมักต้องตกเป็นเรื่องรองไป สำหรับอาจารย์เคท นี่คือประสบการณ์ที่เธอพบเจอกับตัวเอง “อย่างตัวเราเองเราก็ไม่ได้เป็นคนสวย คนก็จะยอมรับจากความสามารถ แต่มันต้องเป็นคนที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม อยู่ในที่ทำงานเดียวกัน ถ้าคนไม่เคยเจอกันเลย เขาก็จะตัดสินเราที่รูปลักษณ์ภายนอก เขาไม่รู้หรอกว่าเราเป็นอาจารย์มหาลัยหรือเราเป็นใคร เราคิดว่า ในสังคมไทย น้ำหนักระหว่างความสวยกับความสามารถมันยังห่างชั้นกันอยู่ ถ้าถามว่าคนสามารถยอมรับแบบไหนได้ เราว่าคนก็ยังยอมรับกะเทยสวยได้มากกว่ากะเทยเก่ง ยังไงสื่อก็ต้องให้ความสนใจกับกะเทยสวยมากกว่าอยู่แล้ว คุณต้องสวยก่อนคุณถึงจะสามารถพูดประเด็นทางสังคมได้แล้วมีคนให้ความสนใจ ความสามารถมันเหมือนเป็นเรื่องรองที่ไม่ได้เกิดประโยชน์มาก คุณเก่งแต่คุณเป็นกะเทยยังไงคุณก็ไปต่อได้ยาก”
“ความสวย” เป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับผู้หญิงข้ามเพศในการที่จะยกระดับฐานะทางสังคมของตัวเอง แต่ในความเป็นจริง คนจำนวนหนึ่งก็ยังคงมองว่าอะไรคือเพศแท้เพศเทียม ถึงแม้จะให้การยอมรับผู้หญิงข้ามเพศ แต่สำหรับอาจารย์เคท มันเป็นการยอมรับที่ตั้งอยู่บน “เงื่อนไข” บางอย่าง ซึ่งไม่ใช่การยอมรับที่แท้จริง
“ผู้หญิงที่ไม่สวย ยังไงก็ได้รับการยอมรับในฐานะที่เป็นผู้หญิง ในขณะที่กะเทย การจะได้รับการยอมรับแบบนั้นคือคุณจำเป็นต้องสวยก่อน เพราะมันเป็นการ accept with condition ยอมรับแบบมีเงื่อนไข คือคุณต้องมีอะไรบางอย่างควบคู่ไปด้วยถึงจะได้รับการยอมรับ ที่เห็นได้ชัดคือ เด็กบางคนไม่กล้าบอกพ่อแม่ว่าตัวเองเป็นกะเทย แต่พอไปประกวดนางงามแล้วได้มงกุฎถึงกลับไปบอก คุณค่าความเป็นเพศแท้เทียมกับอำนาจของความสวย – สองอย่างนี้มันส่งผลต่อกะเทยมาก แต่ต่อให้กะเทยสวยมากแค่ไหน แน่นอนว่าคนบางกลุ่มในสังคมก็ไม่มีทางที่จะให้สิทธิคุณเทียบเท่าผู้หญิง เพราะเขายังมองว่า ยังไงคุณก็คือของปลอม จะเทียบกับผู้หญิงไม่ได้ ดังนั้นแล้ว ต่อให้สวยชีวิตก็ใช่ว่าจะราบรื่นเสมอไป”
อะไรคือ “ผู้หญิง”? – โลกทัศน์ต่อคนข้ามเพศในสังคมตะวันตก
หากย้อนกลับไปดูเส้นทางประวัติศาสตร์ของเวทีประชันความงามเวทีนี้ Angela ไม่ใช่ผู้เข้าประกวดมิสยูนิเวิร์สคนแรกที่เป็นคนข้ามเพศ เพราะในปี 2012 มีตัวแทนจากแคนาดาคือ Jenna Talackova ที่สามารถฝ่าด่านสาวงามในประเทศบ้านเกิดก่อนจะคว้าตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สแคนาดามาได้ แต่เมื่อทางคณะกรรมการทราบภายหลังว่าเธอเคยเป็นผู้ชายมาก่อน ทำให้เธอถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้เข้าประกวดในเวทีใหญ่
ทั้ง Jenna และ Angela ในทางกฎหมาย พวกเธอคือ “ผู้หญิง” ที่ได้รับการรับรองสถานะอย่างถูกต้อง เนื่องมาจากสังคมตะวันตกหลายๆ ประเทศอนุญาตให้ผู้หญิงข้ามเพศที่ผ่านการศัลยกรรมแปลงเพศแล้วสามารถใช้คำนำหน้าชื่อว่า Miss ได้เช่นเดียวกับเพศหญิงโดยกำเนิด นี่จึงเป็นช่องทางที่ทำให้ Jenna สามารถเข้าร่วมประกวดในบ้านเกิดของตัวเอง แม้ว่าจะต้องถูกตัดสิทธิ์ในภายหลังก็ตาม
“การที่เขายอมให้คนข้ามเพศใช้คำนำหน้าตรงตามเครื่องเพศในปัจจุบันได้นั่นก็เพราะเขาใช้หลักวิธีคิดที่ว่า จะทำยังให้คนข้ามเพศได้รับสิทธิเท่าคนอื่นๆ โดยไม่ต้องเปลี่ยนยกกฎหมายทั้งระบบ ถึงแม้สังคมโดยรวมอาจจะไม่ได้ยอมรับคนข้ามเพศเท่าบ้านเรา แต่เขาใช้หลักคิดตามหลักสิทธิมนุษยชนที่ว่า ผู้หญิงควรได้อะไร ผู้ชายควรได้อะไร และมันมีหน้าที่ยังไง คือเขาไม่ได้มองว่ามันเป็นเรื่องของจริงหรือว่าของปลอม แล้วก็ไม่ใช่แค่กะเทยที่สวยเท่านั้นที่จะสามารถเปลี่ยนคำนำหน้านามได้ ถ้าคุณผ่านการวินิจฉัยจากจิตแพทย์แล้ว ผ่านขั้นตอนการตรวจประเมินที่ต้องทำนานหลายปีแล้ว ไม่ว่าหน้าตาของคุณจะเป็นอย่างไร คุณก็สมควรที่จะได้รับสิทธิเทียบเท่าคนอื่น แม้จะไม่ใช่ในทางสังคม แต่อย่างน้อยที่สุดก็ควรจะเป็นในทางกฎหมาย” เธออธิบายเพิ่มเติมหลังจากที่เรายกประเด็นเรื่องสิทธิของคนข้ามเพศขึ้นมาเป็นหัวข้อสนทนา
ความสำคัญของคำนำหน้าชื่อเป็นเรื่องที่ถูกยกขึ้นมาพูดกันหลายครั้งแล้วในประเทศไทย เพราะมันส่งผลต่อสวัสดิภาพของบุคคลในการที่จะได้รับสิทธิต่างๆ แม้จะมีกลุ่มรณรงค์เพื่อความหลากหลายทางเพศหลากหลายกลุ่มที่พยายามผลักดันเรื่องนี้ในทางกฎหมาย อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อให้ตรงตามเพศภาวะของตัวเองในปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับการยอมรับมากนัก
ในโลกที่ทุกคนเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง
Angela อาจจะสวยไม่เท่ากะเทยไทยหลายๆ คน อาจจะไม่ “เนียนนี” พอด้วยซ้ำ แต่แม้จะเป็นเช่นนั้น เธอกลับเอาชนะทุกคำวิจารณ์และความคิดเห็นด้านลบทั้งหมดทั้งมวลที่ก่อตัวล่วงหน้ามาเนิ่นนานได้อย่างหมดจด เมื่อเธอปรากฏกายบนเวทีประกวดพร้อมกับความตั้งใจอันแน่วแน่ขณะที่มือขวาชูสายคาด Miss Universe Spain เรียกเสียงปรบมือดังกระหึ่มกึกก้องอิมแพคฯ ในวันตัดสิน
ในวิดีโอที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของเธอ Angela สื่อความตั้งใจของตัวเองว่าไม่ได้ต้องการเป็นแค่ตัวแทนของประเทศสเปน แต่เธอต้องการจะเป็นตัวแทนของผู้หญิงที่แตกต่างหลากหลายอีกจำนวนมากในโลกที่ถูกผลักดันให้กลายเป็นคนชายขอบเพียงเพราะว่าตัวเองมีลักษณะบางอย่างที่ไม่ตรงตาม “มาตรฐานความเป็นหญิง” และต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ เธออาจมายืนอยู่ตรงนี้ได้เพราะสังคมหนึ่งให้คุณค่าว่าเธอคือคนที่สวยที่สุด แต่สิ่งที่ผู้ชมทั่วโลกประทับใจในตัวเธอไม่ใช่เรื่องของรูปร่างหน้าตา แต่มันคือความแน่วแน่และความหวังของเธอที่จะเปลี่ยนโลกใบนี้ผ่านสารที่ว่า ไม่ว่าคุณจะมีรูปร่างหน้าตา เพศสภาพ หรือแม้แต่ลักษณะภายนอกอย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เป็นมนุษย์ ทุกคนล้วนสมควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมโดยไม่มีเงื่อนไข นั่นต่างหากที่ทำให้เธอสามารถสร้างประวัติศาสตร์สุดตราตรึงไว้ได้ ซึ่งสำหรับอาจารย์เคท นี่คือสิ่งสำคัญที่สังคมไทยต้องเรียนรู้
“กะเทยกับสังคมไทยต้องยอมรับในเรื่องคุณค่าและความแตกต่างหลากหลายของกะเทย เพราะโลกนี้ไม่ได้มีความสวยแค่รูปแบบเดียว อย่างเมื่อก่อน เพศหญิงโดยกำเนิดเองพวกเขาก็ต้องเจอกับปัญหานี้ การถูกสังคมกำหนดว่าคนสวยควรจะต้องมีลักษณะอย่างไร แต่ตอนนี้คนจำนวนมากก้าวข้ามแล้วเพราะเขามองเห็นความงามในความต่าง ในตะวันตก มีคนข้ามเพศจำนวนมากนะที่กล้าอวดให้โลกได้เห็นด้านที่ไม่เนียนนีของตัวเองอย่างภาคภูมิใจ เพราะเขาเชื่อว่าคนทุกคนมันเกิดมาบนความแตกต่างหลากหลาย ทุกเพศหลากหลายหมด”
หากเราเปลี่ยนวิธีคิดได้ บางที การจะสร้างสังคมที่ทุกคนเท่าเทียมกันอย่างแท้จริงก็อาจเป็นไปได้นะ…