เนื้อหาในหมวด หนัง-ละคร

ทำความรู้จักมิติควอนตัมใน Ant-Man and the Wasp

ทำความรู้จักมิติควอนตัมใน Ant-Man and the Wasp

บทความนี้มีการเปิดเผยเหตุการณ์สำคัญในหนัง Ant-Man and the Wasp

[สปอยล์]

 

 

ในหนังมาร์เวลมักจะมีการเชื่อมโยงเรื่องของวิทยาศาสตร์ เอกภพ รวมไปถึงมิติต่างๆ ที่เราไม่เคยได้ยินหรือไม่รู้จักมาก่อน เช่นเดียวกันกับใน Ant-Man and The Wasp ที่มีการอ้างถึงมิติควอนตัม ซึ่งตัวละครอย่างแอนท์แมนหรือสก็อตต์ แลงก์ เคยหลุดเข้าไปมาแล้วในหนังภาคแรก แต่ในภาคนี้หนังจะขยายความมากขึ้น เมื่อโครงสร้างบทของหนังภาคนี้พูดถึงการเข้าไปช่วยเหลือเจเน็ต แวน ไดน์ที่เคยหลุดเข้าไปในมิติควอนตัมเมื่อกว่า 30 ปีก่อน

 

อันที่จริงแล้วหนัง Ant-Man ภาคแรกมีการพูดถึงมิติควอนตัมไปแล้ว ซึ่งในภารกิจปลดชนวนจรวดนิวเคลียร์ ปี 1987 เจเน็ต แวน ไดน์ยอมเสียสละย่อร่างกายของตัวเองให้มีขนาดเล็กกว่า อะตอม เพื่อเข้าไปปลดชนวนระเบิดนิวเคลียร์ หลังจากนั้นเองเธอก็หายสาบสูญไป แต่แฮงก์ พิมยังคงเชื่อว่าภรรยาของเขาน่าจะยังมีชีวิตอยู่ในมิติควอนตัม

 

การค้นหาภรรยาของตัวเองจึงเริ่มต้นขึ้น เมื่อแฮงก์พยายามเรียนรู้ ค้นคว้าเกี่ยวกับวิธีการย่อมวลสารให้เล็กกว่าอะตอม แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวแฮงก์ พิมยังไม่มีความรู้มากพอที่ว่า การที่มวลสารที่มีขนาดเล็กกว่าอะตอมนั้นอาจจะเล็กจนไม่สามารถตรวจหาอนุภาคได้ ยังมีความเป็นไปได้ว่ามวลสารเหล่านี้อาจจะเข้าไปอยู่ในมิติควอนตัมหรือมิติที่จักรวาลของมาร์เวลเรียกว่าไมโครเวิร์สนั่นเอง

 

อันที่จริงการเปิดตัวไมโครเวิร์สนั้น สำหรับ Ant-man ในปี 2015 คือการเปิดมิติใหม่ในจักรวาลมาร์เวลเลยก็ว่าได้ ซึ่งเป็นมิติใหม่ที่ไม่ได้ดำรงอยู่ตามมิติแห่งความเป็นจริง อธิบายได้ว่ามิตินี้เปรียบเสมือนจักรวาลคู่ขนานกับโลกของเรา เพียงแค่สิ่งที่ดำรงชีพอยู่ในจักรวาลแห่งนี้จะต้องมีขนาดเล็กกว่าอะตอมนั่นเอง แต่ความพิเศษของมิติแห่งนี้คือ เป็นมิติที่ดำรงอยู่เหนือกาลเวลา

 

 

ในหนัง Ant-man ภาคแรกจริงๆ มีการเผยให้คนดูได้เห็นช่วงเวลาสั้นๆ เพียงไม่กี่เสี้ยววินาทีว่า ตอนที่สก็อต แลงก์หลุดเข้าไปในมิติดังกล่าว เขาได้เห็นเจเน็ตที่กำลังมุ่งเข้าสู่มิติควอนตัมเช่นเดียวกัน จากฉากดังกล่าวยิ่งสนับสนุนสมมติฐานที่ว่า มิติไมโครเวิร์สนั้นดำรงอยู่เหนือกาลเวลา

 

 

ตามสมมติฐานของไมโครเวิร์สนั้น นักวิทยาศาสตร์พยายามหาคำอธิบายสิ่งที่เล็กกว่าอะตอมเพื่อนำมาใช้ประโยชน์เกี่ยวกับเรื่องการเดินทาง และวิทยาการทางทหาร ความพยายามของนักวิทยาศาสตร์พยายามสร้างสมมติฐานมากมายและยังค้นพบว่าหลักการทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันนั้นดูขัดแย้งกับแนวคิดหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความพยายามที่นักวิทยาศาสตร์ตั้งคำถามว่าวัตถุเดียวกันจะสามารถอยู่ได้หลายแห่งพร้อมกันในเวลาเดียวกันได้หรือไม่ แนวคิดดังกล่าวนี้ยังอาจจะหมายถึงการเดินทางย้อนอดีตหรือการเดินทางข้ามเวลาตามแบบนิยายวิทยาศาสตร์ก็เป็นได้

 

มนุษย์อาจจะเชื่อว่าในปัจจุบันเราสามารถระบุตำแหน่งของวัตถุต่างๆ ได้แน่ชัด ทว่าในอนุภาคเล็กๆ นั้น นักวิทยาศาสตร์กลับค้นพบหลักการความไม่แน่นอน อนุภาคมีความขัดแย้งกับหลักฟิสิกส์อย่างสิ้นเชิง และอาจจะนำไปสู่ทฤษฏีอุโมงค์ควอนตัมซึ่งอิเล็กตรอนขนาดที่เล็กมากๆ อาจจะข้ามผ่านอุโมงค์ควอนตัมได้ นำไปสู่การดำรงอยู่ของวัตถุหลายสิ่งในเวลาเดียวกัน ซึ่งแนวคิดนี้นำมาสู่การเกิดเอกภพคู่ขนาน ตัวอย่างเช่น ในเอกภพหนึ่งมนุษย์อาจจะเลือกเดินข้ามสะพานลอย ในขณะที่อีกเอกภพมนุษย์อาจจะเดินข้ามใต้สะพานลอย เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะดำรงอยู่ในมิติที่มนุษย์ยังไม่เคยเห็น

 

ประเด็นเหล่านี้นำไปสู่ทฤษฏีการกำเนิดจักรวาล สสารมืดเป็นอนุภาคชนิดหนึ่ง นักดาราศาสตร์ค้นพบว่าสสารเหล่านี้ไม่ได้ประกอบด้วยโปรตอน นิวตรอนและอิเล็กตรอน แต่มันยังมีสสารอื่นๆ ที่มนุษย์ยังไม่ได้ค้นพบซึ่งมีขนาดเล็กมากอันเป็นกลุ่มเล็กๆ ของพลังงานบางอย่าง นักวิทยาศาสตร์จึงพยายามประดิษฐ์เครื่องเร่งอนุภาคเพื่อทำให้มันเกิดการชนกันและสังเกตพฤติกรรม แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ยังไม่ได้รับคำอธิบายอย่างแน่ชัด

 

 

สิ่งที่ปรากฏอยู่ในหนัง Ant-Man and The Wasp ที่ว่าด้วยการสร้างอุโมงค์ควอนตัม การสื่อสารผ่านสมองของมนุษย์จากมิติควอนตัม (การสร้างเส้นทางของเจเน็ตในสมองของสก็อต) ยานที่สามารถเดินทางผ่านมิติเวลาในมิติควอนตัม จึงล้วนแล้วแต่เป็นจินตนาการที่หยิบเอาสมมติฐานทางวิทยาศาสตร์มาขยายความเป็นเรื่องราวแบบในหนัง

 

 

นอกจากหนัง Ant-man แล้วในจักรวาลมาร์เวลนั้นตัวละครที่เคยเดินทางไปยังมิติควอนตัมก็คือ ดร.แสตรงจ์ในช่วงเวลาที่เอนเชี่ยนวัน ได้ส่งเขาไปยังมิติต่างๆ และว่ากันว่าตัวละครต่อไปที่น่าจะเข้ามามีบทบาทและเกี่ยวข้องกับมิตินี้อีกหนึ่งคนก็คือกัปตันมาร์เวล (บรี ลาร์สัน) ซึ่งจะมีหนังเดี่ยวในเรื่อง Captain Marvel ซึ่งกำลังจะออกฉายในปี 2019 โดยตัวละครนี้ถูดคาดการณ์ว่าเธอน่าจะกุมความลับของจักรวาลและอาจจะเป็นตัวแปรสำคัญในการต่อสู้กับธานอสใน Avengers 4

 

 

ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อจักรวาลควอนตัมได้รับการสำรวจแล้ว ผู้กำกับอย่างเพย์ตัน รี๊ด ยังกล่าวอีกว่าจริงๆ แล้วเยลโล่แจ็คเกต (ตัวร้ายจาก Ant-man ภาคแรก) อาจจะยังมีชีวิตอยู่ในมิติดังกล่าวก็เป็นได้ เพราะฉากจุดจบของตัวละครนี้คือการที่ชุดของเยลโล่ แจ็คเกตโดนย่อส่วนจนเล็กจิ๋วและหายไป แต่นั่นอาจจะหมายความเขาอาจจะติดอยู่ในมิติควอนตัมแบบตัวละครเจเน็ต ก็เป็นได้เช่นกัน

 

นอกเหนือไปจากนี้ฉากเอนเครดิตตัวแรกที่อธิบายเหตุผลว่าทำไมแอนท์แมนจึงไม่โผล่ไปปรากฏตัวใน Avengers: Infinity War ก็เพราะว่าพวกเขามัวแต่วุ่นวายอยู่กับภารกิจช่วยเจเน็ต และระหว่างที่สก็อตต์เข้าไปในมิติควอนตัมเพื่อเก็บพลังงานมารักษาโกสต์ แฮงก์, โฮป และ เจเน็ตต่างเป็นเหยื่อการดีดนิ้วล้างจักรวาลของธานอส ทำให้พวกเขาสลายกลายเป็นผุยผง และทำให้ไม่มีใครดึงร่างของสก็อตต์กลับไปยังมิติปัจจุบัน!

 

 

Ant-Man and The Wasp: Quantumania ภาพยนตร์ทำเงินเปิดตัวสูงสุดแห่งปี 2023

Ant-Man and The Wasp: Quantumania ภาพยนตร์ทำเงินเปิดตัวสูงสุดแห่งปี 2023

แฟนมาร์เวลต้องห้ามพลาด! กับ ภาพยนตร์ทำเงินเปิดตัวสูงสุดแห่งปี 2023 ในประเทศไทย “Marvel Studios’ Ant-Man and The Wasp: Quantumania แอนท์-แมน และ เดอะ วอสพ์: ตะลุยมิติควอนตัม” ทะยานสู่ 50 ล้านบาท ตะลุยควอนตัมได้แล้ววันนี้ ในโรงภาพยนตร์!

3 สาวจอมขโมยซีนใน Ant-Man and the Wasp

3 สาวจอมขโมยซีนใน Ant-Man and the Wasp

สิ่งที่น่าสนใจนอกจากการพะยี่ห้อภาคต่อของมาร์เวลแล้ว ถ้าหากเราลองเฉลี่ยฉากที่ตัวละครหญิงในหนังเรื่องนี้ปรากฏตัวขึ้นบนจอ เราจะพบว่าบทเด่นของตัวละครในเรื่องนี้

รีวิว Ant-Man and the Wasp สายใยแห่งครอบครัว

รีวิว Ant-Man and the Wasp สายใยแห่งครอบครัว

Ant-Man and the Wasp เป็นหนังซูเปอร์ฮีโร่ พะยี่ห้อค่ายมาร์เวลเอาไว้หรา แถมยังมีประเด็นกวักมือเรียกคนดู จากปมที่ค้างคาต่อเนื่องมาจากหนัง Avengers: Infinity War ที่ว่าพวกเขาหายไปไหน ทำไมถึงไม่ไปปรากฏตัวอยู่ในเหตุการณ์ธานอสบุกโลก เอามาไว้เป็นข้อแม้ที่ว่า ทำไมคนดูทั่วไปถึง “จำเป็น” ต้องดูหนังเรื่องนี้