โรงพยาบาลราชวิถีเปิดคลินิก ดูแลผู้ป่วยบัตรทองที่ถูก สปสช. ยกเลิกสัญญา
เว็บไซต์ thebangkokinsight รายงานว่า นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยกเลิกสัญญากับหน่วยบริการเอกชนบางแห่งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จนทำให้มีผู้ใช้บัตรทองได้รับผลกระทบ 2 ล้านคน ในพื้นที่กรุงเทพฯ
โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เร่งจัดหาหน่วยบริการระดับปฐมภูมิแห่งใหม่ ได้รับความร่วมจากโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน รวมถึงโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ ที่มีโรงพยาบาลหลายแห่งตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ร่วมกันรองรับให้การดูแลผู้ได้รับผลกระทบ
นอกจากนี้ กรมการแพทย์ได้เปิดคลินิกบัตรประกันสุขภาพ มาตรา 8 ที่โรงพยาบาลราชวิถี เพื่อดูแลผู้ป่วยบัตรทองส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบให้ได้รับการดูแล และรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีนัดผ่าตัด ผู้ป่วยที่ต้องรับยาต่อเนื่อง เป็นต้น โดยกรณีการเข้ารับบริการที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลขอให้เป็นผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาในภาวะฉุกเฉินเท่านั้น เพื่อให้การบริการจัดการเกิดประโยชน์สูงสุด
ด้านนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุ โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์เป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิให้การรักษาพยาบาลที่ยุ่งยากซับซ้อน และด้านพัฒนาวิชาการ
ทั้งนี้ ได้ให้โรงพยาบาลราชวิถี จัดตั้งคลินิกหลักประกันสุขภาพมาตรา 8 ขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนสามารถเข้าถึงบริการได้ตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค. นี้ ได้ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบในสิทธิ์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตามมาตรา 8 แล้วจำนวน 9,191 คน
ในส่วนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ให้การดูแลผู้ได้รับสิทธิ์บัตรทองโดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มที่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล เช่น ผู้ป่วยล้างไต หรือรอผ่าตัด เป็นต้น ได้ประสานสถานที่ต่างๆ พร้อมเรียบร้อยแล้ว หากยังไม่ได้รับการประสานสามารถติดต่อเข้ามาที่ สปสช. ได้
- กลุ่มผู้ป่วยเอดส์ หรือ กลุ่มที่รับยาสม่ำเสมอประสานเรียบร้อยแล้ว
- กลุ่มโรงเรื้อรัง มีความจำเป็นต้องได้รับยาสม่ำเสมอ พยายามจัดหน่วยบริการภาครัฐเพื่อให้มีความเชื่อมั่น เบื้องต้นสามารถเข้ารับบริการได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครในพื้นที่ทั้ง 69 แห่ง