เนื้อหาในหมวด ข่าว

นักวิจัยชี้ กิจกรรมกลางแจ้งเสี่ยงติด “โรคโควิด-19” น้อย

นักวิจัยชี้ กิจกรรมกลางแจ้งเสี่ยงติด “โรคโควิด-19” น้อย

ในขณะที่ทุกคนต้องอยู่บ้านตามมาตรการของรัฐบาลที่ต้องการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การออกกำลังกายนอกบ้าน เช่น การเดิน การวิ่ง หรือปั่นจักรยาน จึงเป็นกิจกรรมที่หลายคนใช้เพื่อคลายความเครียดจากภาวะวิกฤติโรคระบาด ทว่า การออกจากบ้านก็สร้างความกังวลเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องอนุภาคของเชื้อไวรัสที่อาจลอยอยู่ในอากาศ

ก่อนหน้านี้ วิศวกรชาวเบลเยียมและชาวดัตช์ได้เผยแพร่การทดลองที่ส่งต่อกันเป็นวงกว้างบนโลกออนไลน์ โดยพวกเขาใช้เครื่องกำเนิดละอองอนุภาค จำลองการแพร่กระจายของละอองฝอยที่เกิดขึ้นในขณะที่เรากำลังเดิน วิ่ง หรือปั่นจักรยาน และผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า ละอองฝอยสามารถแพร่กระจายไปยังนักวิ่งที่กำลังวิ่งอยู่ในระยะที่ไกลกว่า 2 เมตร พวกเขาจึงสรุปว่า เราควรรักษาระยะห่างมากกว่า 2 เมตรเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อโควิด-19 โดยอยู่ห่างจากคนที่เดินอยู่ข้างหน้า 5 เมตร อยู่ห่างจากคนที่วิ่ง 10 เมตร และอยู่ห่างจากคนที่ปั่นจักรยาน 20 เมตร ซึ่งการทดลองดังกล่าวทำให้หลายคนตื่นตระหนก อย่างไรก็ตาม การทดลองนี้ไม่มีนักระบาดวิทยาหรือนักไวรัสวิทยาให้การรับรอง และก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ การศึกษาดังกล่าวยังไม่สามารถตอบคำถามสำคัญ 2 ข้อได้ นั่นคือ ละอองฝอยที่ลอยอยู่ในอากาศจะทำให้ติดเชื้อได้ง่ายแค่ไหน และต้องมีเชื้อไวรัสในละอองฝอยปริมาณมากเท่าไรที่เมื่อหายใจเข้าไปแล้วจะทำให้ติดโรคได้

ละอองฝอยที่ลอยอยู่ในอากาศจะทำให้ติดเชื้อได้ง่ายแค่ไหน

ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขมักเรียกละอองฝอยขนาดใหญ่ที่จะหล่นลงพื้นว่า “droplet” และเรียกละอองฝอยขนาดเล็กว่า “aerosol” และไวรัสที่ส่งผ่าน aerosol เรียกว่า “airborne”

งานวิจัยของ Lydia Bourouiba จากสถาบัน MIT แสดงให้เห็นว่า การไอหรือจามสามารถกระจายละอองฝอยที่มีทั้งแบบที่เป็น droplet และ aerosol โดยละอองฝอยจากการไอสามารถแพร่กระจายได้ไกลกว่า 5 เมตร ขณะที่ละอองฝอยจากการจามจะแพร่ได้ไกลกว่า 10 เมตร งานวิจัยลักษณะนี้ทำให้ผู้คนเริ่มตั้งคำถามว่า การรักษาระยะห่างเพียง 2 เมตรอาจไม่เพียงพอ ขณะเดียวกัน ก็มีเคสของนักร้องประสานเสียงที่แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการก็สามารถแพร่กระจายเชื้อไวรัสผ่าน aerosol ได้ เมื่อพวกเขาต้องอยู่รวมกันในพื้นที่จำกัดเป็นเวลาหลายชั่วโมง และร้องเพลง ซึ่งมีความเสี่ยงสูงกว่าการหายใจหรือการพูด

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มระยะห่างให้มากขึ้น ลดช่วงเวลาที่อาจทำให้ได้รับเชื้อ เช่นเดียวกับการทำให้อากาศถ่ายเท ก็ลดความเสี่ยงของการติดโรคโควิด-19 ได้ และการอยู่กลางแจ้งก็ตอบโจทย์ทั้ง 3 วิธี

“ความเสี่ยงของการติดเชื้อผ่านอากาศในพื้นที่กลางแจ้งมีน้อยมาก โดยมีทั้งแสงแดด ลม ฝน อุณหภูมิโดยรอบที่จะส่งผลต่อเชื้อไวรัส ถึงแม้จะไม่สามารถพูดได้ว่าความเสี่ยงเป็นศูนย์แต่มันก็มีน้อยมาก นอกเสียจากคุณจะเข้าไปอยู่ในกิจกรรมที่มีคนมารวมตัวเป็นจำนวนมาก เช่น การประท้วง แต่การออกกำลังโดยลำพังกลางแจ้งมีความเสี่ยงน้อย” Angela Rasmussen นักไวรัสวิทยา จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าว

ทั้งนี้ Rasmussen ยังย้ำว่า หากเชื้อไวรัสที่อยู่กลางแจ้งจะทำให้ติดโรคโควิด-19 ได้ ละอองฝอยจะต้องถูกส่งมาด้วยแรงที่มากพอ เชื้อไวรัสที่อยู่ในละอองฝอยจะต้องไม่ถูกทำลายโดยสภาพแวดล้อมเสียก่อน แล้วเชื้อจะต้องเข้าไปในลำคอชั้นบน หรือท่อทางเดินหายใจ หรือบนมือที่ใช้สัมผัสตา หู หรือปาก จากนั้นต้องผ่านระบบกรองสิ่งแปลกปลอมของร่างกาย เช่น ขนจมูกและสารคัดหลั่ง เชื้อไวรัสจึงจะสามารถแพร่กระจายในร่างกายได้ และการสวมใส่หน้ากากอนามัยจะทำให้กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นได้ยากกว่าเดิม

ต้องมีเชื้อไวรัสในละอองฝอยปริมาณมากเท่าไรที่เมื่อหายใจเข้าไปแล้วจะทำให้ติดโรคได้

“ข้อมูลจากการศึกษาในสัตว์เริ่มออกมาแล้ว และเราคงจะเข้าใจเรื่องปริมาณของเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคมากยิ่งขึ้น” Rasmussen กล่าว

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์คาดคะเนปริมาณของเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 โดยเทียบจากเชื้อไวรัสโคโรนาชนิดอื่นที่ก่อให้เกิดโรคติดต่อในมนุษย์มาแล้ว เช่น โรคเมอร์ส (MERS) ในการติดเชื้อโรคเมอร์ส ผู้ป่วยต้องหายใจเอาเชื้อโรคเข้าไปมากกว่า 10,000 เซลล์ ซึ่ง Willem van Schaik อาจารย์ด้านชีววิทยา มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม คาดการณ์ว่า การจะติดเชื้อโควิด-19 อาจมีจำนวนของเชื้อโรคที่น้อยกว่า เพราะเชื้อโควิด-19 แพร่กระจายได้มากกว่า โดยผู้ป่วยโรคโควิด-19 หนึ่งคน สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้เฉลี่ย 2 – 3 คน ขณะที่ผู้ป่วยโรคเมอร์สแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้เฉลี่ยน้อยกว่า 1 คน

ถึงแม้จะยังไม่มีข้อสรุปถึงปริมาณของเชื้อโรคที่ทำให้ติดโรคโควิด-19 แต่สิ่งสำคัญก็คือ ละอองฝอยเพียงเล็กน้อยที่กระเด็นมาโดนไม่ทำให้ติดโรค ขณะเดียวกัน ก็มีการศึกษาที่ชี้ว่า การติดเชื้อโควิด-19 มักเกิดขึ้นในที่ร่ม มากกว่าพื้นที่กลางแจ้ง

“ข่าวดีก็คือ เรารู้ว่าในขณะที่เชื้อไวรัสยังมีชีวิตอยู่ในพื้นผิววัตถุที่แตกต่างกันหรือในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ความสามารถในการแพร่เชื้อของมันจะลดลงไปด้วย ดังนั้น ถ้าเราหายใจเอาเชื้อไวรัสเข้าไปในปริมาณมาก แต่มีเชื้อเพียงเล็กน้อยที่จะแพร่เชื้อได้ ความเสี่ยงในการติดโรคก็จะลดน้อยลงไปด้วย” Rasmussen อธิบาย

ถึงแม้การอยู่กลางแจ้งจะทำให้โอกาสในการติดเชื้อโควิด-19 ลดน้อยลง แต่ก็ยังต้องป้องกันตัวเองเมื่อออกไปข้างนอกทุกครั้ง เช่น การล้างมืออย่างสม่ำเสมอ ไม่เอามือไปสัมผัสใบหน้า รักษาระยะห่างทางสังคม สวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ และทำความสะอาดพื้นผิวสิ่งของเครื่องใช้ ซึ่งวิธีการเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงการติดโรคโควิด-19 ได้

“ภาวะการเรียนรู้ถดถอย” ภัยเงียบที่กำลังกัดเซาะสังคม

“ภาวะการเรียนรู้ถดถอย” ภัยเงียบที่กำลังกัดเซาะสังคม

จากนโยบายปิดโรงเรียนเพื่อหนีโรค ทำให้เด็กเล็กที่ควรได้รับการพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ เพื่อเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ต้องเผชิญกับ "ภาวะถดถอยทางการเรียนรู้” ที่หากไม่เร่งแก้ไข จะส่งผลกระทบต่อสังคมไทยในอนาคตอย่างรุนแรง