เนื้อหาในหมวด ข่าว

NIA สรุปนวัตกรรมไทย ปี 2564 “ให้โอกาสคนรุ่นใหม่ - หนุนนวัตกรรมรับความท้าทายใหม่”

NIA สรุปนวัตกรรมไทย ปี 2564 “ให้โอกาสคนรุ่นใหม่ - หนุนนวัตกรรมรับความท้าทายใหม่”

การใช้ “นวัตกรรม” เพื่อพัฒนาศักยภาพของประเทศมีบทบาทสำคัญมากขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพเศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิตของคนในสังคม รวมไปถึงการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งในปี 2564 ก็ถือเป็นอีกปีหนึ่งที่ประเทศไทยมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อช่วยเหลือสังคม โดย ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้เผยว่า ในปี 2564 นวัตกรรมของประเทศไทยมีการเติบโตและถูกจับตามองหลายด้าน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นด้านต่าง ๆ ได้ ดังต่อไปนี้ 

เร่งสร้างธุรกิจนวัตกรรมเทคโนโลยีเชิงลึก (DeepTech) 

การเติบโตของ “เทคโนโลยีเชิงลึก (DeepTech)” หรือเทคโนโลยีที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะด้าน ซึ่งอาจเป็นการนำเทคโนโลยีเดิมมาประยุกต์ใช้ หรือเป็นการสร้างขึ้นมาใหม่ ถือเป็นการเติบโตที่สำคัญของวงการนวัตกรรมไทยในปี 2564 ซึ่งกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการสร้างศักยภาพทางการแข่งขันและความเปลี่ยนแปลงในบริบทปัจจุบัน ในปีที่ผ่านมา NIA ได้ริเริ่ม “โครงการสนับสนุนนวัตกรรมฐานเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep-tech Innovation)” ใน 6 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ เทคโนโลยีด้านการแพทย์ (MedTech), เทคโนโลยีด้านอาหาร (FoodTech), เทคโนโลยีการเกษตร (AgTech), เทคโนโลยีอวกาศ (SpaceTech), เทคโนโลยีป้องกันประเทศ (Defense Tech), และเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (ARI-Tech) ซึ่งเน้นการทำงานร่วมกับสถานบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี รวมทั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ 

นอกจากนี้ NIA ยังสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหม่ที่พัฒนานวัตกรรมบนฐานนวัตกรรม (Innovation-based enterprise หรือ IBE) ให้สามารถพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมด้วยเทคโนโลยีเชิงลึกที่สามารถตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงของอนาคตได้ ขณะเดียวกันก็มุ่งส่งเสริมสตาร์ทอัพไทยให้ผันตัวเองเข้ามาทำ DeepTech ผ่านโครงการส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมที่ใช้ “เทคโนโลยีเชิงลึกระดับภูมิภาค (Deep-Tech Regionalization)” หรือการกระจายองค์ความรู้ นวัตกรรมไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วประเทศให้มากขึ้น 

เพิ่มโอกาสทางนวัตกรรมในระดับเมืองและภูมิภาค

ประเด็นเรื่อง “การพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่” เป็นอีกประเด็นที่ NIA ให้ความสำคัญในปี 2564 โดยขณะนี้มีพื้นที่เมืองหรือย่านที่ดำเนินการอยู่ทั้งหมด 12 แห่ง มีภาคีทั้งหมด 217 ภาคี ทั้งภาครัฐ ประชาสังคม สถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัย รวมถึงมีนวัตกรในเครือข่ายทั้งหมด 12,000 คน ทั้งนี้ ย่านน้องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นคือ “ย่านนวัตกรรมอารีย์” ที่มีจุดเด่นด้านเทคโนโลยี ARI (AI, Robotics, and Immersive Technology)  ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับบริษัทโทรคมนาคม หน่วยงานราชการที่ทำเรื่องดิจิทัล รวมทั้งเอกชนรายอื่น ๆ

ทางด้านการเข้าถึงนวัตกรรมในระดับภูมิภาคนั้น NIA ก็ทำงานอย่างหนักเพื่อกระจายโอกาสไปยังภูมิภาคต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการทำงานร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่เพื่อดึงศักยภาพของแต่ละพื้นที่ รวมไปถึงการให้เทศบาลและประชาชนมีส่วนร่วมในการวางผังย่าน การสร้างพื้นที่สาธารณะในลักษณะของย่านนวัตกรรม และการจัดตั้ง Startup Global Hub ที่ให้บริการข้อมูลธุรกิจ การจัดกิจกรรมสร้างเครือข่าย และการให้สมาร์ทวีซ่ากับชาวต่างชาติที่ทำงานด้านนวัตกรรมในประเทศไทย นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุน SMEs และสตาร์ทอัพในพื้นที่ผ่าน “นิลมังกรแคมเปญ”  

อันดับนวัตกรรมและสตาร์ทอัพไทยมีการเติบโตอย่างมั่นคง

เรื่องน่ายินดีที่เกิดขึ้นในปีนี้คือ ประเทศไทยสามารถครองอันดับที่ 43 จากการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก 2021 (Global Innovation Index 2021) จากทั้งหมด 132 ประเทศ ทั้งยังสามารถคว้าอันดับที่ 50 จากการจัดอันดับดัชนีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพโลก ประจำปี 2564 (Global Startup Ecosystem Index 2021) อีกทั้งมี 4 เมืองที่ติดใน 1,000 อันดับแรกของเมืองที่มีระบบนิเวศสตาร์ทอัพที่ดีที่สุดในโลก โดยกรุงเทพรั้งอันดับที่ 50 ซึ่งมีความโดดเด่นในเรื่องของอีคอมเมิร์ซและเทคโนโลยีการค้าปลีก ขณะที่เชียงใหม่และภูเก็ต อยู่ในอันดับ 397 และ 442 ตามลำดับ เช่นเดียวกับเมืองน้องใหม่ที่เพิ่มเข้ามาติดอันดับเป็นปีแรกคือเมืองพัทยา ซึ่งรั้งอันดับที่ 833 

นวัตกรรมสังคมลดความเหลื่อมล้ำ

นอกจากเรื่องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้ว NIA ยังทำงานร่วมกับภาคเอกชน ภาครัฐบาลส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา-สถาบันวิจัย และประชาสังคม ในการพัฒนา “นวัตกรรมสังคม” ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยมุ่งแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ผ่าน “โครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม” ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาด้วยนวัตกรรมรูปแบบต่าง ๆ ที่มีการพัฒนาต้นแบบที่สำเร็จแล้วร่วมกับองค์กรเครือข่ายขนาดใหญ่ หรือหน่วยงานระดับประเทศ รวมทั้งมีการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) มาใช้อีกด้วย 

นอกจากนี้ ยังมี “โครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมรายสาขา” และ “โครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมสำหรับเมือง” ที่กำหนดโจทย์ปัญหาสำหรับนวัตกรรมเพื่อใช้ในเมือง และสร้างต้นแบบการแก้ปัญหาที่เกิดจากการขยายตัวของสังคมเมืองอีกด้วย

เยาวชนคนรุ่นใหม่ในภาคนวัตกรรม

NIA ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการวางรากฐานระบบการศึกษา และเยาวชนก็ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนเรื่องแนวคิดด้านนวัตกรรมและการสร้างสรรค์ จึงได้จัดการเรียนรู้ “STEAM4INNOVATOR” ขึ้น โดยเป็นกระบวนการหลักที่ใช้ในการพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรมสำหรับกลุ่มเยาวชน ที่เน้นการบูรณาการเรื่องการพัฒนาศักยภาพด้านธุรกิจและการเป็นผู้ประกอบการเข้ากับความรู้ความเข้าใจด้าน STREAM ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science), เทคโนโลยี (Tehnology), วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering), ศิลปศาสตร์ (Arts), และคณิตศาสตร์ (Mathematics) เพื่อให้เยาวชนสามารถประยุกต์และสร้างสรรค์ผลงานบนพื้นฐานของศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อสร้างสังคมนวัตกรรมและวัฒนธรรมการสร้างสรรค์ให้กับสังคมไทย 

ไม่เพียงเท่านั้น NIA ยังได้จัดกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่ ผ่านโครงการ “Startup Thailand League” ซึ่งในปี 2564 มีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมมากกว่า 40 แห่งทั่วประเท​ศ โดยมีนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม 48,000 คน มากกว่า 400 ทีม และมีนักศึกษาที่ผ่านการอนุมัติและได้รับสนับสนุนการจัดทำผลงานต้นแบบ 200 ทีม เงินรางวัลรวมกว่า 5 ล้านบาท 

นวัตกรรมไทยกับการเปลี่ยนแปลงระดับโลก

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ถือเป็นตัวเร่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและการยอมรับในนวัตกรรมใหม่ ๆ มากขึ้น อาทิ สังคมไร้เงินสด การประชุมออนไลน์ การแพทย์ทางไกล การพัฒนาวัคซีน ด้วยเหตุนี้ NIA จึงมุ่งสนับสนุนนวัตกรรมที่ทันต่อบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลกและเอื้อประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตวิถีใหม่ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีเป้าหมายจะส่งเสริมนวัตกรรมที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจชะลอตัวจากมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ทั่งในด้านโครงสร้างแรงงาน การพัฒนาแรงงานทักษะสูง ฐานเทคโนโลยีเชิงลึก รวมไปถึงการกระจายธุรกิจนวัตกรรมให้เพิ่มมากขึ้นในระดับภูมิภาค แน่นอนว่าหลาย ๆ นวัตกรรมยังเป็นเรื่องใหม่ที่ยังต้องมีการพัฒนาต่อยอดเพิ่มเติม แต่ก็ได้รับการคาดหวังว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเศรษฐกิจและสังคม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป