ธุรกิจไทยในวันที่โลกเปลี่ยน ได้เวลาทรานฟอร์ม สู้พายุดิจิทัลดิสรัปชั่น
วิกฤตโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เกิดการดิสรัปทั่วทุกวงการ ไม่ว่าจะวงการธุรกิจ เทคโนโลยี หรือแม้แต่โลกการเงิน ก็เปลี่ยนแปลงเร็วจนตามแทบไม่ทัน ใครที่ปรับตัวไม่ทันก็ล้มหายตายจากเป็นไปตามกฏของผู้ชนะ ที่ผู้เหลือรอดย่อมต้องแข็งแรงกว่า
เราจะเห็นว่าในช่วงหลังมานี้มีความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดและกำลังได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ ในวงการธุรกิจไทย นั่นก็คือ การควบรวมกิจการ ของบริษัทต่างๆ ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายการควบรวมนั้น ก็เพื่อสร้างความแข็งแกร่งเพิ่มมูลค่าให้กิจการ ดึงดูดนักลงทุนจากตลาดต่างประเทศให้มาร่วมลงทุน และขยายตลาดให้กว้างขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต
อีกทั้งกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในโลกยุคโควิด-19 ก็เป็นตัวเร่งให้หลายธุรกิจต้องชิงดิสรัปตัวเองก่อนที่จะถูกคู่แข่งจะเข้ามาดิสปรัป
ตัวอย่างธุรกิจที่มีการควบรวมในบ้านเรา อย่างเช่น การควบรวมข้ามสายธุรกิจอย่าง GULF ที่เข้าไปถือหุ้นใน INTUCH เพื่อลุยธุรกิจโทรคมนาคม หรืออย่างเมื่อไม่นานมานี้กับการควบรวมกิจการของธุรกิจสื่อสารเบอร์ต้น ๆ ระดับประเทศอย่าง TRUE และ DTAC
เทรนการควบรวมขนานใหญ่ในโลกหลังยุคโควิด-19 คงจะมีมาให้เราเห็นตามมาอีกมาก เพราะอย่างที่เกริ่นไปข้างต้นว่าหากภาคธุรกิจไม่ปรับตัวให้ไว มองหาโอกาสในการทรานฟอร์มตัวเองออกจากธุรกิจเดิม ก็คงจะสู้กับคู่แข่งใน Red Ocean นี้ไม่ได้
ยิ่งในยุคปัจจุบันที่เปิดกว้างแบบการค้าเสรีไร้พรมแดน การที่ธุรกิจจะสู้อยู่แต่เฉพาะตลาดภายในประเทศ การกินส่วนแบ่งตลาดแบบเดิมๆนั้นอาจจะไม่เพียงพอต่อการเติบโตอีกต่อไป จึงต้องมีการทรานฟอร์มตัวเองให้แข็งแกร่งขึ้น และปลดล็อคตัวเองเพื่อเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมเก่าไปสู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีใหม่ตามกระแสโลก เพื่อยกระดับความสามารถตัวเองไปเป็น Global Player เพื่อแข่งขันกับคู่แข่งระดับโลกได้
อันที่จริงประเทศไทยมีภาคเอกชนใหญ่ที่แข็งแกร่ง และมีความพร้อมด้านศักยภาพมากพอ ที่จะไปแข่งขันในระดับโลกได้อยู่หลายเจ้า ไม่ว่าจะเป็น ซีพี ปตท. เบียร์ช้าง เซ็นทรัล ฯลฯ แต่ก็มีคนไทยบางกลุ่มกลัวความใหญ่นี้จะมายึดครองประเทศ ทั้งที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทย ธุรกิจเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในการสร้าง GDP จ่ายภาษีเข้าระบบให้กับประเทศอย่างถูกต้อง
นี่จึงกลายเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญที่ฉุดรั้งให้ประเทศไทยไม่หลุดพ้นจากวังวนประเทศกำลังพัฒนาเสียที เพราะเมื่อจะเกิดการขับเคลื่อนนโยบาย หรือริเริ่มเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นของภาครัฐ หรือภาคเอกชน ก็มักจะเจอ “นักค้าน” รวมถึงติดขัดกฏระเบียบนั่นนู่นนี่ไปเสียหมด โดยลืมมองว่า ในขณะที่ผู้เล่นในชาติถูกกีดกันไม่ให้เติบโต ธุรกิจข้ามชาติที่แอบคืบคลานเข้ามาหากินในประเทศไทยแบบเงียบๆ ไม่ว่าจะเป็น Google, Facebook, Line, YouTube, Netflix, Shopee, Lazada ฯลฯ ต่างดูดเงินคนไทยผ่านแพลตฟอร์มของตัวเองโดยใช้ทรัพยากรของบ้านเราแบบฟรี ๆ แต่เหตุใดถึงไม่มีใครรู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจอะไรเลย หากภาคธุรกิจไทย ไม่ทรานฟอร์มตัวเองสู่ธุรกิจอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เพื่อแข่งขันให้ทัดเทียมกับผู้เล่นระดับโลกเหล่านี้ เห็นทีเราจะพลาดท่าให้กับบริษัทข้ามชาติเหล่านี้แน่นอน.