“กระทรวงศึกษาธิการ” ปลดล็อกการศึกษาไทย ด้วยนโยบาย “ซ่อม สร้าง ป้องกัน”
การศึกษาของเด็กไทยคือหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนและผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็ว เมื่อการศึกษาและเศรษฐกิจเดินหน้าไปพร้อมกัน ประชาชนในประเทศก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีความมั่นคงในชีวิตอย่างยั่งยืน เหตุนี้ กระทรวศึกษาธิการจึงยึดหลักนโยบายของรัฐบาลและแผนยุทธศาสตร์ของชาติ 20 ปี โดยมุ่งพัฒนาการศึกษาไทยใน 3 ด้าน ด้วยนโยบาย “ซ่อม สร้าง ป้องกัน” คือ การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา (ซ่อม) การสร้างโอกาสทางการศึกษา (สร้าง) และยกระดับคุณภาพทางการศึกษา (ป้องกัน)
ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ชี้ว่า “ปัญหาความเหลื่อมล่้ำทางการศึกษา” เป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญและถือเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่สุด เนื่องจากมีเด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษามากกว่า 2 แสนใน ในปี 2564 ที่ผ่านมา โดยมีหลายสาเหตุปัจจับ ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาครอบครัว ปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ อายุเกินเกณฑ์ หรือปัญหาระบบการบันทึกข้อมูลที่ไม่เป็นปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การสร้างโอกาสทางการศึกษาก็เป็นส่วนสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม และกระทรวงศึกษาธิการได้มุ่งเน้นสนับสนุนให้ประชาชนทุกช่วงวันย ได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม
“การยกระดับคุณภาพการศึกษาเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะความปลอดภัยในสถานศึกษา ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการถูกคาดหวังว่าจะต้องพุ่งเป้าพัฒนาให้เด็กเป็นคนเก่งที่มีความสามารถ แต่สิ่งที่เป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดสำหรับนักเรียนที่อยู่ในช่วงวัยที่ควรได้รับการปกป้องมากที่สุด เป็นเรื่องของความปลอดภัย เพราะมีผลต่อสถาพร่างกาย จิตใจ และคุณภาพชีวิตของเด็ก รวมถึงผู้ปกครองและสังคมโดยรวม ทั้งนี้ การทำให้สถานศึกษาปลอดภัย ไม่ใช่แค่การรับเรื่องร้องเรียนแล้วแก้ไขจัดการเพียงเท่านั้น แต่ต้องประกอบจาก 3 ด้าน คือ ป้องกัน ปลูกฝัง ปราบปราม” ตรีนุชกล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังได้จัดตั้งโครงการอีกหลายด้าน เพื่อมาสนับสนุนและผลักดันให้นโยบายหลัก 3 ด้าน “ซ่อม สร้าง ป้องกัน” บรรลุเป้าหมายอย่างสมบูรณ์ ดังนี้
1. โครงการพาน้องกลับมาเรียน หลังเด็กไทยบางส่วนหลุดออกจากระบบการศึกษา จึงเกิดโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและ 11 หน่วยงานพันธมิตร ในการพาเด็กตกหล่นและหลุดออกจากระบบการศึกษาได้กลับมามีโอกาสเรียนอีกครั้ง ภายใต้นโยบายสำคัญของรัฐบาล คือ จะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (No one left behind) ซึ่งตอนนี้สามารถนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้สำเร็จแล้วถึง 95% พร้อมตั้งเป้าหมาย Zero dropout ดึงเด็กที่เหลือให้กลับมาครบและป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบอีก โดยใช้กลไกการส่งต่อของการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการอาชีวศึกษา เข้ามาสนับสนุน
2. โครงการ MOE Safety Center แก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยในสถานศึกษาและจัดการเหตุอย่างรวดเร็วด้วยช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนส่วนกลางขึ้นมา เพื่อให้สามารถเข้าถึงทุกปัญหาทั่วประเทศได้แบบเรียลไทม์ ช่วยให้นักเรียน ครู และผู้ปกครอง สามารถส่งเรื่องเข้ามาที่ส่วนกลางได้โดยตรง โดยมีทีมงานเข้ามาประสาน จัดการ แก้ไข และส่งต่อเรื่องร้องเรียนได้อย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับแนวคิด “ป้องกัน ปลูกฝัง ปราบปราม” นอกจากนี้ บางกรณีที่อาจจะไม่สามารถจัดการแก้ไขจบได้ภายในโรงเรียนหรือภายในกระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้มีการทำ MOU ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการร่วมกับอีก 8 กระทรวง 2 หน่วยงาน เพื่อบูรณาการการดูแลความปลอดภัยได้ครอบคลุมทุกมิติอย่างแท้จริง
3. โครงการศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) และศูนย์ CVM ขับเคลื่อนศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษาในการยกระดับหลักสูตรสาขาของวิทยาลัยอาชีวศึกษาแต่ละแห่งที่มีความถนัดและโดดเด่น ให้มีความเป็นเลิศและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น โดยดึงภาคเอกชนเข้ามาช่วยจัดการศึกษา ออกแบบ และพัฒนาหลักสูตรที่ทันสมัยและตอบโจทย์การทำงานจริงร่วมกัน ซึ่งต่อมาได้จัดตั้งศูนย์ CVM จำนวน 25 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเป็นศูนย์กลางการบริหารของแต่ละหลักสูตรสาขาของ Excellent Center เช่น สาขาโรงแรมที่มี Excellent Center อยู่ 10 แห่งทั่วประเทศ ก็จะมีศูนย์ CVM อยู่ 1 แห่งของหลักสูตรสาขานี้ เพื่อเป็นตัวกลางในการออกแบบหลักสูตรการโรงแรมที่ทันสมัย โดยร่วมกับภาคเอกชน รวมถึงเป็นผู้อบรมครูให้มีความรู้ทันต่อสภาพองค์ความรู้ที่ทันยุคสมัยในปัจจุบัน พร้อมปั้นหลักสูตรสาขาวิชาใหม่ เพื่อผลิตบุคลากรให้ตอบโจทย์กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และพร้อมไปต่อในธุรกิจอนาคต (New S-CURVE)
4.โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา เกิดขึ้นมาจากแนวคิดที่เชื่อว่า “หากครูมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว จะสามารถมีเวลาทุ่มเทในการจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนได้ดียิ่งขึ้น”กระทรวงศึกษาธิการจึงสร้างโมเดลในการแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้ครู โดยเริ่มต้นจากการเจรจาต่อรองกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู เพื่อช่วยลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งหากลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ถึง 1% ครูจะสามารถมีเงินกลับมาได้ปีละหลายหมื่นบาท รวมถึงเป็นคนกลางช่วยประสานกับธนาคารพาณิชย์แห่งต่าง ๆ ในการขอปรับโครงสร้างหนี้ให้ นอกจากนี้ ยังตั้งสถานีแก้หนี้ครูทั่วประเทศ เพื่อทำหน้าที่ช่วยเป็นที่ปรึกษาให้กับครูในแต่ละกรณีด้วย ตลอดจนการอบรมติดความรู้วินัยการเงินให้กับทั้งครูบรรจุใหม่และครูปัจจุบัน เพื่อตัดวงจรการเกิดหนี้ให้แก่ครู โดยโครงการนี้ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของกระทรวงศึกษาธิการที่สามารถช่วยแก้ไขหนี้ครูได้จริง ผ่านการเจรจาต่อรองและการบริหารจัดการเข้ามาเป็นเครื่องมือแก้ไข และในปัจจุบันสามารถลดหนี้ลงไปได้แล้วกว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งครูไทยมีจำนวนกว่า 9 แสนคน เมื่อสามารถแก้ไขหนี้ครูได้แล้ว ก็จะส่งผลต่อหนี้สินครัวเรือนของประเทศไทยในภาพรวมให้ดีขึ้นได้อย่างมาก
5. โครงการโรงเรียนคุณภาพ เป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม โดยยึดแนวคิด “Sharing resources” เป็นการบริหารจัดการงบประมาณด้วยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยการสร้างให้โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ให้มีโรงเรียนคุณภาพ 1 แห่งต่อ 1 เขต เป็นโรงเรียนแม่ข่าย แล้วใช้ร่วมกันกับโรงเรียนเครือข่ายของตน ทั้งในส่วนของอาคาร พื้นที่ ห้องแลป สระว่ายน้ำ ครูชาวต่างชาติและครูสอนภาษาที่ 3 ที่โรงเรียนในกลุ่มเครือข่ายเดียวกันสามารถเข้าถึงได้ ก็จะช่วยให้นักเรียนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ทุกเขตพื้นที่การศึกษา รวมถึงคำนึงกับบริบทความเป็นอยู่ของแต่ละพื้นที่ เพื่อนำมาออกแบบคำว่า “คุณภาพ” ที่ไม่ใช่เป็นลักษณะของโรงเรียนแบบใดแบบเดียว แต่จะต้องเป็น “คุณภาพ” ของความเป็นอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งนับเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพและเข้าใจการศึกษาอย่างแท้จริง
ผลสำเร็จทางการศึกษาเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผลสัมฤทธิ์ ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการจึงต้องมีการวางแผนการบริหารการศึกษาให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาและพัฒนาโครงสร้างการศึกษาไปพร้อมกัน โดยจำเป็นต้องบูรณาการความร่วมมือร่วมกันกับทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรหรือหน่วยงานต่างประเทศ รวมไปถึงชุมชนในแต่ละท้องที่ เพื่อสร้างคุณภาพทางการศึกษาและกระจายได้อย่างทั่วถึง พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีดิจิทัลและอินเตอร์เน็ตเข้ามาใช้ในการศึกษาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้เหมาะกับการศึกษาในยุคหลังโควิด-19 รวมถึงการพัฒนาและปรับเปลี่ยนบทบาทของครูให้สามารถจัดการเรียนการสอนอย่างมีศักยภาพเท่าเทียมกันทั้งประเทศ ซึ่งเมื่อดำเนินโครงการต่าง ๆ ภายใต้นโยบาย “ซ่อม สร้าง ป้องกัน” และนำไปต่อยอดอย่างเป็นระบบแล้ว ก็จะช่วยพัฒนาความรู้ความสามารถเด็กไทยให้มีทักษะและความพร้อมสู่โลกในศตวรรษที่ 21 เพื่อเป็นรากฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคตได้อย่างยั่งยืน