เนื้อหาในหมวด ข่าว

“ภาวะฉุกเฉินทางการเรียนรู้” เมื่อการศึกษาไทยแขวนอยู่บนเส้นด้าย

“ภาวะฉุกเฉินทางการเรียนรู้” เมื่อการศึกษาไทยแขวนอยู่บนเส้นด้าย

Highlight 

  • รายงานฉบับพิเศษ “ห้องเรียนฟื้นฟูหลังโควิด-19” พบภาวะฉุกเฉินทางการเรียนรู้ของ “เด็กอนุบาล 3 ยุคโควิด-19” ว่าขาดความพร้อมเข้าเรียนในชั้นประถมต้น โดยสะท้อนจากผลวิจัยสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย ทั้งด้านทักษะพื้นฐานด้านภาษา ด้านคณิตศาสตร์ และทักษะการรู้คิดเชิงบริหาร
  • ภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) ในปี 2565 เป็นสถานการณ์ที่รุนแรง มีเด็กหางแถวและเกิดความเหลื่อมล้ำมากที่สุด และผู้ปกครองยังอ่านหนังสือให้เด็กฟังน้อยลงในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากขาดสื่อการเรียนรู้ ส่งผลให้ทักษะการเรียนรู้ของเด็กขาดหายไปกว่าร้อยละ 90
  • เด็กไทย 1 ใน 4 หรือร้อยละ 25 มีพัฒนาการไม่สมวัย โดยพัฒนาการเด็กไม่สมวัยที่พบมากที่สุดคือพัฒนาการด้านการใช้ภาษา ร้อยละ 75.2 รองลงมาคือพัฒนาการด้านการเข้าใจภาษา ร้อยละ 60.1 และพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา ร้อยละ 47
  • จากการสังเกตพฤติกรรมของเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จากห้องเรียน 74 โรงเรียน ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ พบว่าเด็กนักเรียนจำนวน 98% มีแรงบีบมือต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของเด็กในวัยเดียวกัน โดยมีเด็กนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์เพียง 1.19% เท่านั้น และมีเด็กนักเรียนมากกว่า 50% จับดินสอผิดวิธี  

การระบาดของโรคโควิด-19 ที่กินเวลานานกว่า 2 ปี ได้ทำให้สังคมไทยมองเห็นหลาย ๆ ปัญหาที่รุนแรงและชัดเจนมากยิ่งขึ้น หนึ่งในนั้นคือปัญหา “การศึกษา” ที่มักถูกหยิบยกมาพูดคุยและถกเถียงอยู่ตลอด แม้จะมีความพยายามแก้ไขปัญหาการศึกษาจากหลายภาคส่วน แต่ดูเหมือนปัญหาจะไม่หายไปไหน หนำซ้ำในขณะที่ปัญหาเก่า ๆ ยังไม่ถูกแก้ไข ปัญหาใหม่ ๆ ก็แทรกเข้ามา กลายเป็น “ภาวะฉุกเฉินทางการเรียนรู้” ที่ทุกคนในสังคมต้องร่วมมือกันแก้ไข

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับเครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จึงจัดงานเสวนาวิชาการ “ภาวะฉุกเฉินทางการเรียนรู้หลังโควิด-19 แนวทางฟิ้นฟูรับเปิดเทอมใหม่” เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา

Sanook สรุปความจากงานเสวนา เพื่อสะท้อนภาวะฉุกเฉินที่บุตรหลานของพวกเราทุกคนกำลังพบเจอ 

ภาวะฉุกเฉินทางการเรียนรู้

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้เผยแพร่รายงานฉบับพิเศษ “ห้องเรียนฟื้นฟูหลังโควิด-19” ซึ่งพบภาวะฉุกเฉินทางการเรียนรู้ของ “เด็กอนุบาล 3 ยุคโควิด-19” ว่าขาดความพร้อมเข้าเรียนในชั้นประถมต้น โดยสะท้อนจากผลวิจัยสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย (Thailand School Readiness Survey: TSRS) ทั้งด้านทักษะพื้นฐานด้านภาษา ด้านคณิตศาสตร์ และทักษะการรู้คิดเชิงบริหาร (Executive Functions: EFs) ของเด็กระดับอนุบาล 3 จำนวน 73 จังหวัด เปรียบเทียบระหว่างปี 2563 - 2565 

รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง

รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) คณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า ภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) ในปี 2565 เป็นสถานการณ์ที่รุนแรง มีเด็กหางแถวและเกิดความเหลื่อมล้ำมากที่สุด พร้อมชี้ให้เห็นว่าผู้ปกครองอ่านหนังสือให้เด็กฟังน้อยลงในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากขาดสื่อการเรียนรู้ ส่งผลให้ทักษะการเรียนรู้ของเด็กขาดหายไปกว่าร้อยละ 90

“เด็กทำการบ้านน้อยลง อ่านหนังสือน้อยลง แต่อยู่กับมือถือมากขึ้น อันนี้ไม่รวมเวลาเรียนออนไลน์ มันพูดเป็นภาษาเดียวกันว่า เมื่อไม่ได้ไปโรงเรียน ขาดการพัฒนาผ่านโรงเรียน พอกลับมาอยู่ที่บ้านนาน ๆ ก็ไม่ได้รับการลงทุนที่เหมาะสม กลับได้ไปใช้อะไรที่มันอาจจะเป็นปัญหากับการเรียนรู้ มีปัญหากับการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก สิ่งที่เขาใช้มากขึ้นคือใช้เวลากับหน้าจอมากขึ้น มันก็สะท้อนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นปัญหา แล้วเราจะแก้ไขอย่างไร” รศ.ดร.วีระชาติกล่าว 

นายแพทย์ธีรชัย บุญยะลีพรรณ

นายแพทย์ธีรชัย บุญยะลีพรรณ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอนามัยเด็กแห่งชาติ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้เผยข้อมูลจากการใช้คู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย หรือเด็กที่อยู่ในช่วงอายุต่ำกว่าชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งวัดแนวโน้มพัฒนาการเด็กปฐมวัยของประเทศไทย พบว่า เด็กไทย 1 ใน 4 หรือร้อยละ 25 มีพัฒนาการไม่สมวัย โดยพัฒนาการเด็กไม่สมวัยที่พบมากที่สุดคือพัฒนาการด้านการใช้ภาษา ร้อยละ 75.2 รองลงมาคือพัฒนาการด้านการเข้าใจภาษา ร้อยละ 60.1 และพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา ร้อยละ 47 ซึ่งคาดการณ์ว่าตัวเลขของพัฒนาการด้านการใช้มือหรือกล้ามเนื้อมัดเล็ก ที่เชื่อมโยงกับการเรียนรู้จะยิ่งแย่ลงเรื่อย ๆ ในเด็กปฐมวัยของไทย เนื่องจากการทดสอบพบว่า มีนิ้วที่แข็งแรงเหลืออยู่เพียงนิ้วเดียว คือ “นิ้วชี้” ที่เด็กใช้ในการเลื่อนหน้าจอสมาร์ทโฟน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่ทำการลงสำรวจก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 จึงมีแนวโน้มที่ปัญหาเรื่องพัฒนาการของเด็กจะแย่ลงกว่าเดิม 

ภาวะกล้ามเนื้อบกพร่องในเด็กประถมต้น 

จากงานวิจัยในพื้นที่เรื่อง “ภาวะกล้ามเนื้อบกพร่องในเด็กประถมต้น” ระบุว่า แรงบีบมือของเด็กที่อยู่เกณฑ์ปกติ จะอยู่ที่ 19 กิโลกรัม แต่จากการสังเกตพฤติกรรมของเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จากห้องเรียน 74 โรงเรียน ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ พบว่าเด็กนักเรียนจำนวน 98% มีแรงบีบมือต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของเด็กในวัยเดียวกัน โดยมีเด็กนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์เพียง 1.19% เท่านั้น และมีเด็กนักเรียนมากกว่า 50% จับดินสอผิดวิธี สะท้อนว่ากล้ามเนื้อมือไม่แข็งแรง 

“หลังเปิดเทอม 1/2565 เราก็ลงไปเยี่ยมโรงเรียน ลงครั้งแรกที่จังหวัดสงขลา ก็เจอผู้ปกครองว่าตอนนี้ลูกอยู่ ป.2 แล้ว แต่ตอนลูกอยู่ อ.3 ก็เหมือนลูกจะเขียนได้แล้ว แต่พออยู่ ป.1 ลูกเรียนออนไลน์ทั้งปี พอเปิดเทอมกลับมา กลับเป็นว่าลูกเขียนหนังสือไม่เป็นตัว พอไปจังหวัดปัตตานี คุณครูก็ลงมาบอกว่าปีนี้สาหัสมาก เขาสอนเด็ก ป.2 เด็กจับดินสอยังกำมืออยู่เลย พอไปอีกจังหวัดก็เป็นแบบเดิม เลยเป็นที่มาที่เราใช้เครื่องมือวัดแรงบีบมือ ขณะเดียวกันก็ให้นักเรียนเขียนด้วย” ผศ.พรพิมล คีรีรัตน์ โค้ชโครงงานฐานวิจัย (ป.4 - ม.3) โครงการสนับสนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เล่า

ผศ.พรพิมล คีรีรัตน์

“นอกจากวัดแรงบีบมือ เราก็ดูการจับดินสอของเด็ก ให้เด็กเขียนให้ดู ก็จะเห็นว่าเด็กกำดินสอแน่นมาก แล้วดินสอก็เอียงขึ้น หรือว่าเอนไปข้างหน้า การจับแบบนี้ ช่วงระหว่างนิ้วโป้งกับนิ้วชี้แน่นมาก เวลาที่เด็กเขียน เขาจะเขียนยาก มันจะเคลื่อนดินสอได้ยากาก เพราะถูกล็อกอยู่ แล้วเด็ก ๆ จะเขียนไปแล้วก็จะคลายมือเพราะเมื่อย” ผศ.พรพิมลอธิบาย 

หลังค้นพบปัญหา จึงได้ริเริ่มโครงการ PSU ครูรักศิษย์ ครั้งที่ 7 “การพัฒนาฐานกาย” โดยโรงเรียนวัดมุจลินทวาปีวิหาร (เพชรานุกูลกิจ) อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เป็นหนึ่งในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ที่หลังจากการฟื้นฟูต่อเนื่อง ก็พบว่าค่าแรงบีบมือของเด็กนักเรียนมีเพิ่มมากขึ้น 0.5 - 2 กิโลกรัมในเวลาเพียงหนึ่งเดือนเท่านั้น 

ผศ.อัมพร ศรประสิทธิ์

ด้าน ผศ.อัมพร ศรประสิทธิ์  โค้ชโครงงานฐานวิจัย (อนุบาล - ป.3) โครงการสนับสนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ สะท้อนว่า “ความทุกข์หนึ่งของเด็กคือพอเขาเขียนแล้ว เขาเขียนช้า เขียนแล้วเหนื่อย เขียนแล้วเมื่อย คือมันไม่สนุก นั่นเป็นส่วนหนึ่ง แต่จากการที่เขาเขียนไม่ได้ ก็เท่ากับเขาทำงานไม่สำเร็จ เขาก็ไม่อยากมาโรงเรียน แล้วความทุกข์อีกอย่างของเด็กในห้องเรียนคือ พอเปิดเทอมมา เขาออกจากโลกที่เขาอยู่บ้าน บางคนเป็นลูกคนเดียว บางคนมีพี่น้องไม่กี่คน เปิดเทอมมาปุ๊บ เจอคนแปลกหน้าเต็มไปหมดเลย เจอพร้อม ๆ กันทีเดียวหลายคนในห้องเรียน หลบมุมดีกว่า ทั้งหมดนี้ทำให้เด็กรู้สึกว่าเขาไม่เชื่อมั่น เขาไม่สามารถไว้วางใจร่างกายของเขาได้เลย ว่าเขาสามารถจะทำอะไรที่คุณครูให้ทำได้ สุดท้ายเด็กขาดเรียนมากกว่าครึ่งห้อง บางวันมาครึ่งห้อง แล้วก็ผลัดกันขาด คนที่มาโรงเรียนก็ขอไปห้องพยาบาลบ่อยมาก ปวดหัว ปวดท้อง นี่คือสิ่งที่เด็กไม่รู้จะบอกเรายังไง” 

การเล่นด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์ 

รศ.ไพโรจน์ คีรีรัตน์  โค้ชโครงการสนับสนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP) เครือข่ายมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เสนอแนวทางแก้ปัญหาภาวะกล้ามเนื้อบกพร่องในเด็ก โดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอนเชิงรุกด้วย “กระบวนการทางวิทยาศาสตร์” และโครงการฐานวิจัย เนื่องจากวิทยาศาสตร์คือตัวขับเคลื่อนการเรียนรู้ อย่างไรก็ตาม การจะทำให้สำเร็จได้จำเป็นต้องมีมหาวิทยาลัย โรงเรียน และหน่วยงานด้านการศึกษาที่กำกับดูแล มาร่วมมือกัน

รศ.ไพโรจน์ คีรีรัตน์

“เราให้คุณครูใช้เรื่องการเล่นด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์ เด็ก ป.1 - 3 เป็นวัยที่ยังโหยหาการเล่น ซึ่งเราจะเห็นว่าเด็กกลุ่มนี้ อยู่ในห้องก็จะวิ่งไล่จับกัน แล้วก็ชอบไปเล่น โดยเฉพาะหลังจากน้องอนุบาลกลับบ้าน ก็จะไปเล่นที่สนามเด็กเล่นของน้อง พูดง่าย ๆ คือเขาเป็นวัยที่ขาดพื้นที่ในการเล่น ขาดอุปกรณ์ในการเล่น เพราะฉะนั้น เราบอกว่าเราจะพัฒนาฐานกายให้เสร็จ แล้วค่อยมาทำเรื่องการเรียนการสอนก็ไม่ได้ เราจึงต้องทำคู่ขนานกันไป บูรณาการไปทีเดียว ซึ่งทักษะวิทยาศาสตร์แท้จริงก็คือกระบวนการเรียนรู้ตามธรรมชาติของมนุษย์ เวลาเรียนรู้อะไรต้องใช้การสังเกต นั่นคือการรวบรวมข้อมูล แล้วนำไปสู่การคิดว่าทำอย่างนั้นดีไหม แล้วก็ทดลองทำ สุดท้ายก็สรุปออกมาเป็นประสบการณ์ เป็นความรู้” ผศ.อัมพรอธิบาย 

การใช้โมเดลพัฒนากล้ามเนื้อมือในระยะเวลา 6 เดือน สู่การพัฒนาคุณภาพนักเรียน ถือเป็นการนำร่องที่สำคัญ และคาดว่าจะสามารถช่วยทำให้นักเรียนพัฒนากล้ามเนื้อได้เพิ่มขึ้น 0.5 - 1.5 กิโลกรัม ภายใน 1 เดือน และมีค่าแรงบีบมือตามเกณฑ์มาตรฐานเป็นปกติ คือ 19 กิโลกรัม ภายใน 6 เดือน ซึ่งหากนำร้องได้สำเร็จ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของบทพิสูจน์ว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการศึกษา

“ถ้าเรายังไม่วางรากฐานของตัวฐานกาย ที่ง่ายที่สุดเรายังทำไม่ได้ เราก็คิดว่าเรื่องอื่นก็คงจะยาก แต่ว่าอันนี้เป็นบทพิสูจน์ประเทศไทย และการศึกษาไม่ใช่เรื่องของโรงเรียนอย่างเดียว เพราะฉะนั้น ผู้ปกครอง ชุมชน ก็ต้องเข้ามาช่วยเหลือ แต่ควมสำคัญคือการเรียนรู้ร่วมกันของคนในสังคม” รศ.ไพโรจน์กล่าว 

แนวทางการฟื้นฟูรับเปิดเทอมใหม่ 

ผศ.พรพิมลและผศ.อัมพร สะท้อนตรงกันว่า ครูก็ต้องการ “เพื่อนร่วมเดินทาง” ในโลกการศึกษาหลังโควิด-19 ซึ่งนอกจากเพื่อนครูที่จะต้องช่วยเหลือกันแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จำเป็นต้องให้การช่วยเหลือและสนับสนุนคุณครูทั่วประเทศ พร้อมฝากเฟสบุ๊กแฟนเพจ “คิดดี-คิดเป็น ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง” สำหรับเป็นตัวช่วยให้กับคุณครูได้ศึกษาวิธีการและแนวทางในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ในชั้นเรียน ให้สามารถช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือได้ นอกจากนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองที่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักก็จำเป็นต้องร่วมด้วยช่วยกัน

พ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้องร่วมด้วยช่วยกันอีกแรงหนึ่ง เพราะเวลาที่เด็กอยู่โรงเรียน ก็ระยะเวลาหนึ่ง 5 - 6 ชั่วโมง แต่เวลาส่วนใหญ่ก็จะอยู่ที่บ้าน อย่าปล่อยให้ภาระนั้นเป็นของคุณครูเพียงฝ่ายเดียว เห็นใจครูด้วย เพราะครูเหนื่อยมาก ถ้าเราช่วยกันก็คิดว่าประเทศไทยยังมีความหวัง” ผศ.พรพิมลสะท้อน 

ด้านรศ.ไพโรจน์ ก็หยิบยกเรื่องงบประมาณที่ยังขาดแคลนในการแก้ไขปัญหา เช่นเดียวกับเรื่องการขาดแคลนครู ที่เด็กนักเรียนจำต้อง “ไม่ขาดครูแม้แต่ชั่วโมงเดียว” ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว พร้อมระบุว่า “ถ้าตรงนี้ยังทำไม่ได้ ก็อย่าคิดเลยว่าทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยจะเข้มแข็งเหมือนกับประเทศข้างเคียง เราจำเป็นต้องใช้วิธีการคิดแบบใหม่ ถ้าเรายังใช้รูปแบบเดิม เราก็จะช้า ต้องรอเวลาสองชั่วอายุคน แต่โลกปัจจุบัน เราต้องการความควดเร็วและแก้ปัญหาได้เลย” 

ขณะที่รศ.ดร.วีระชาติ ชี้ว่า การแก้ไขปัญหาสามารถทำได้ด้วยการเปิดเรียนช่วงซัมเมอร์ และการปรับการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับความพร้อมของเด็กนักเรียน เช่นเดียวกับการพัฒนาทักษะในการอบรมและเลี้ยงดูของผู้ปกครอง พร้อม ๆ กับการยกระดับการศึกษาปฐมวัยให้เป็นแบบ active learning 

“จินตนาการว่าเด็กรุ่นที่อยู่กับโควิด-19 แล้วเราไม่ทำอะไรเลย เขามีภาวะถดถอยไปเรื่อย ๆ เขาก็จะแย่กว่ารุ่นก่อน แย่กว่ารุ่นหลัง มันจะเป็นเหมือนหลุมลงไป เขาไม่สามารถแก้ตัวได้ว่าเขาเป็นรุ่นนี้ ในมุมของผมนี่คือ Lost Generation ถ้าเราไม่ทำอะไร มันน่าเป็นห่วง ผมคิดว่านี่คือเหตุผลว่าทำไมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสนใจ แต่การแก้ปัญหานี้ เราต้องทำเหมือนวิ่งมาราธอน เราต้องแก้กันไปยาว ๆ” รศ.ดร.วีระชาติกล่าวปิดท้าย