เนื้อหาในหมวด ข่าว

อ่านอีกครั้ง 3 ข้อเรียกร้องของ “ตะวัน - แบม” ที่แลกด้วยการอดอาหารและน้ำ

อ่านอีกครั้ง 3 ข้อเรียกร้องของ “ตะวัน - แบม” ที่แลกด้วยการอดอาหารและน้ำ

หนึ่งในสถานการณ์การเมืองไทยที่กำลังได้รับความสนใจจากสังคมไทยและสังคมโลกอยู่ในขณะนี้ คือการประท้วงของ 2 นักกิจกรรมอิสระอย่าง “ตะวัน - ทานตะวัน ตัวตุลานนท์” และ “แบม - อรวรรณ ภู่พงษ์” ที่ประกาศถอนประกันตัวเองในคดีมาตรา 112 เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 และเริ่มการประท้วงด้วยการอดอาหารและน้ำ (Dry Fasting) ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2566 จนมาถึงวันนี้ ผ่านไปเกือบ 20 วันแล้ว ข้อเรียกร้องของทั้งสองคนยังไม่บรรลุผล เช่นเดียวกับร่างกายที่อ่อนเพลียลงทุกวัน 

Sanook เปิด 3 ข้อเรียกร้องของตะวันและแบม และสถานการณ์อื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการประท้วงอดอาหารและน้ำของทั้งสองคน 

3 ข้อเรียกร้องของตะวันและแบม 

ตะวันและแบมคือ 2 นักกิจกรรมทางการเมืองรุ่นใหม่ที่ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการทำโพลขบวนเสด็จ ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ทว่า ในวันที่ 16 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ทั้งสองคนก็ตัดสินใจ “ถอนประกัน” เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้กับนักกิจกรรมคนอื่น ๆ ที่ยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ โดยมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ “เลือดแลกเลือด ทวงชีวิตเพื่อนคืน” ราดน้ำแดงลงบนร่างกายของตัวเอง พร้อมอ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ดังต่อไปนี้ 

  • ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นอย่างแรก มาก่อนสิ่งอื่นใด ต้องเป็นอิสระปราศจากอำนาจนำ ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และผู้บริหารศาลต้องไม่แทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี 
  • ยุติการดำเนินคดีความกับประชาชนที่ใช้สิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม และการแสดงออกทางการเมือง 
  • พรรคการเมืองทุกพรรค ต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยการยกเลิกมาตรา 112 และมาตรา 116 
  • ทั้งนี้ ตะวันและแบมกำหนดกรอบเวลาให้ศาลและพรรคการเมือง ต้องทำตามข้อเรียกร้องภายใน 3 วัน (ภายในวันที่ 18 มกราคม 2566) เพื่อปล่อยผู้ต้องขังทางการเมืองทั้งหมด และหากข้อเรียกร้องของพวกเขายังไม่เป็นผล ทั้งสองจะยกระดับการเรียกร้องขึ้นทั้งจากภายในเรือนจำและนอกเรือนจำ อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องของทั้งสองก็ไม่ได้รับการตอบรับ จึงนำมาสู่การเริ่มต้นอดอาหารและน้ำ (Dry Fasting) ในวันที่ 19 มกราคม 2566 

    การประท้วงอดอาหารและน้ำ (Dry Fasting)

    การอดอาหารประท้วง (Hunger Strike) ถือเป็นการต่อสู้ทางการเมืองแบบไม่ใช้ความรุนแรงที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก ส่วนใหญ่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือของที่คนไม่มีอำนาจ หรือคนที่ไม่เหลือหนทางอื่นที่จะเรียกร้องหรือกดดันผู้มีอำนาจ อย่างไรก็ตาม การอดอาหารประท้วงมักจะเป็นการอดเฉพาะอาหาร แต่ยังดื่มน้ำหรือของเหลวอื่น ๆ เพื่อประคับประคองร่างกาย ทว่า ในกรณีของตะวันและแบม ทั้งคู่เลือกที่จะใช้วิธี Dry Fasting หรือการอดทั้งอาหารและน้ำ ซึ่งส่งผลให้ร่างกายของผู้ประท้วงมีอ่อนแอลงอย่างรวดเร็ว 

    สมาคมการแพทย์อังกฤษ (British Medical Association) จัดทำรายงานทางการแพทย์ ในปี 2549 ระบุว่า การอดอาหารและน้ำแบบ Dry Fasting จะทำให้ร่างกายขาดน้ำ ซึ่งจะส่งผลทำให้ร่างกายของมนุษย์ไม่สามารถอยู่รอดได้ และอาจทำให้เสียชีวิตได้ภายในช่วงเวลาเพียงสัปดาห์เดียว 

    การประกาศอดอาหารและน้ำของสองนักกิจกรรมได้กินเวลามาเกือบ 20 วันแล้ว โดยทั้งคู่ยอมจิบน้ำ หลังจากอาจารย์แพทย์ 5 ท่านได้ขอร้องให้จิบน้ำเพื่อบรรเทาอาการ อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้ออกแถลงการณ์ฉบับล่าสุด (วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 หรือวันที่ 13 ของการรักษา) ระบุว่าทั้งคู่มีอาการอ่อนเพลียมาก มีภาวะเกลือแร่ต่ำหลายชนิด มีภาวะเลือดเป็นกรด ค่าคีโตนสูงเนื่องจากภาวะอดอาหาร ซึ่งอาการของทั้งคู่ได้สร้างความกังวลให้กับหลายฝ่ายเป็นอย่างมาก

    ท่าทีของหลายฝ่ายต่อการอดอาหาร

    หลังตะวันและแบมประกาศอดอาหารและน้ำ ก็มีท่าทีและความเคลื่อนไหวของหลายฝ่ายต่อการประท้วงดังกล่าว โดยเริ่มจากกลุ่มราษฎรและทะลุฟ้า ที่ร่วมกันจัดกิจกรรม “ยืนหยุดขัง 112 ชม.” บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อเรียกร้องให้ศาลอนุมัติการประกันตัวผู้ถูกดำเนินคดีในมาตรา 112 ทุกกรณี ซึ่งก็มีกลุ่มนักกิจกรรมทางการเมืองกลุ่มอื่น ๆ และประชาชนทั่วไปมาเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง 

    คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ 50 คนจากหลายสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ได้ออกจดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกา อธิบดีศาลอาญา และอธิบดีศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยยื่น 3 ข้อเรียกร้อง ได้แก่ 1. ขอให้ศาลพิจารณาเพิ่มถอนคำสั่งถอนประกันของตะวันและแบม เพื่อให้ทั้งสองได้รับอิสรภาพโดยเร็วที่สุด ก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป 2. ขอให้ศาลพิจารณาปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีการเมืองทุกคดีตามหลักกฎหมาย และ 3. ขอให้ศาลพิจารณยกเลิกกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวที่ขัดต่อหลักความได้สัดส่วนและหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสัทธิ์ในคดีอาญา 

    ด้านบุคลากรทางการแพทย์กว่า 300 คน ทั้งแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาลวิชาชีพ เภสัชกร นักโภชนาการ นักเทคนิคการแพทย์ และอื่น ๆ ก็ได้ลงชื่อเพื่อยื่นต่อประธานศาลฎีกา อธิบดีศาลฎีกา อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญารัชดา และผู้แทนสหประชาชาติประจำประเทศไทย เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องขังทางการเมือง เพื่อให้ทั้งหมดได้รับการรักษาทั้งทางร่างกายและจิตใจ

    ต่อมา สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก็ได้เข้าเยี่ยมตะวันและแบม ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ในวันที่ 31 มกราคม 2566 ระบุว่าตนเห็นถึงความมุ่งมั่นในการอดอาหาร เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการยุติธรรม แต่ก็กังวลว่าทั้งสองคนจะได้รับผลกระทบถึงแก่ชีวิต จึงขอให้ทั้งคู่ยอมถอยสักก้าว และขอเวลาในการดำเนินการแก้ปัญหา พร้อมยืนยันว่าจะพยายามหาทางออกที่พอจะทำได้ 

    ต่อมาในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 กระทรวงยุติธรรมก็ได้หารือร่วมมือกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในประเด็นเรื่องสวัสดิภาพของตะวันและแบม โดยมีข้อสรุปของการหารือในเบื้องต้น 4 ประเด็น คือ 1.กระทรวงยุติธรรมพร้อมพิจารณาดำเนินการปฏิรูปในประเด็นการปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อให้การปฏิบัติในปัจจุบันสอดคล้องกับหลักการในมาตรา 29 2.กระทรวงยุติธรรมพร้อมพิจารณาทบทวนระเบียบปฏิบัติที่ใช้บังคับในปัจจุบัน เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในคดีความแตกต่างทางความคิดหรือความเห็นต่าง 3.กระทรวงยุติธรรมพร้อมให้การสนับสนุนหลักประกันในการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา และ 4. กสม. จะให้การสนับสนุนในการจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน 

    ในส่วนของพรรคการเมืองต่าง ๆ ก็มีการเคลื่อนไหวและออกมาแสดงท่าทีเป็นกังวลต่อสถานการณ์การอดอาหารของตะวันและแบมอย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในระหว่างการประชุมสภาผูัแทนราษฎร ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ก็ได้เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา ขอให้สภาพิจารณาหาแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหากระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่ล้นเกิน และขัดต่อหลักนิติธรรมต่อผู้เห็นต่างทางการเมือง 

    ล่าสุด วันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้โพสต์เฟสบุ๊กระบุว่า “ด่วน! 19.52 หมอ รพ.ธรรมศาสตร์ โทรถึงพ่อแม่ตะวัน-แบม ว่าอาการของทั้งสองทรุดลงอย่างน่าวิตก ขอให้พ่อแม่และทนายไปเยี่ยมในเช้าวันพรุ่งนี้ให้ได้”