เปิดข้อมูลผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 2566 ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกมีมากกว่า 4 ล้านคน
Highlight
- ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก (First Voter) มีจำนวน 4,012,803 คน คิดเป็นร้อยละ 7.67 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด
- ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นผู้สูงอายุ มีจำนวน 14,378,037 คน คิดเป็นร้อยละ 27.48 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด
- เจเนอเรชั่น X เป็นกลุ่มที่มีจำนวนผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งมากที่สุด มีจำนวน 16,151,442 คน คิดเป็นร้อยละ 30.87 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด
จากการประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งปี 2566 ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พบว่า กกต. ได้นำเอาข้อมูลจำนวนประชากรที่นำมาใช้ในการคำนวณจำนวน ส.ส.รายเขต ทั้ง 400 เขต จากประกาศสำนักทะเบียนกลาง เรื่องจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ตามหลักฐานทะเบียนราษฎร เมื่อ 31 ธันวาคม 2565 ซึ่งมีจำนวนประชากร 66,090,475 คน
ปรากฏว่าจำนวน ส.ส. รายเขต ทั้ง 400 เขต สามารถแยกตามภาคได้ ดังนี้
ภาค |
จำนวนจังหวัด |
จำนวน ส.ส. (คน) |
เหนือ |
9 |
39 |
ตะวันออกเฉียงเหนือ |
20 |
132 |
กลาง |
22 |
122 |
ตะวันออก |
7 |
29 |
ตะวันตก |
5 |
20 |
ใต้ |
14 |
58 |
เมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งปี 2562 พบว่า มี 43 จังหวัด ที่มีจำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้น โดยกรุงเทพฯ มีจำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้นมากที่สุด 3 คน จาก 30 คนเป็น 33 คน รองลงมา เพิ่มขึ้นจังหวัดละ 2 คน มี 5 จังหวัด คือ นนทบุรี จาก 6 เป็น 8 คน, ชลบุรี จาก 8 เป็น 10 คน, นครราชสีมา จาก 14 เป็น 16 คน , บุรีรัมย์ จาก 8 เป็น 10 คน และเชียงใหม่จาก 9 เป็น 11 คน
จังหวัดที่มี ส.ส. เพิ่มขึ้น 1 คน มี 37 จังหวัดได้แก่ กระบี่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ เชียงราย ตรัง ตาก นครนายก นครปฐม นครศรีธรรมราช นราธิวาส บึงกาฬ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา พังงา เพชรบูรณ์ แพร่ ภูเก็ต มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ร้อยเอ็ด ระยอง เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สงขลา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สระบุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ อ่างทอง อุดรธานี อุตรดิตถ์ และอุบลราชธานี
ข้อมูลผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
จำนวนประชากรที่ กกต. นำมาใช้ในการคำนวณจำนวน ส.ส. รายเขตทั้ง 400 เขต มีทั้งสิ้น 66,090,475 คน อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบข้อมูลประชากรไทยที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน แรกรายอายุ รายเดือนธันวาคม 2565 กรมการปกครองพบว่า เป็นผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 52,322,824 คน โดยแยกได้ ดังนี้
- ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก (First Voter) ซึ่งหมายถึงผู้มีอายุ 18-22 ปี จำนวน 4,012,803 คน คิดเป็นร้อยละ 7.67 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด
- ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งหมายถึงผู้มีอายุ 58 ปีขึ้นไป จำนวน 14,378,037 คน คิดเป็นร้อยละ 27.48 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด
เมื่อจำแนกตามเจเนอเรชั่น ซึ่งจำแนกตามศูนย์วิจัย Pew Research Center สหรัฐอเมริกา พบว่า
- เจเนอเรชั่น Z ซึ่งหมายถึง ผู้มีอายุ 18-25 ปี มี 6,689,453 คน คิดเป็นร้อยละ 12.78 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด
- เจเนอเรชั่น Y ซึ่งหมายถึง ผู้มีอายุ 26-41 ปี มี 15,103,892 คน คิดเป็นร้อยละ 28.87 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด
- เจเนอเรชั่น X ซึ่งหมายถึง ผู้มีอายุ 42-57 ปี มี 16,151,442 คน คิดเป็นร้อยละ 30.87 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด
- เจเนอเรชั่น Baby Boomers ซึ่งหมายถึงผู้มีอายุ 58-76 ปี มี 11,844,939 คน คิดเป็นร้อยละ 22.64 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด
- เจเนอเรชั่น Silent ซึ่งหมายถึงผู้มีอายุ 77 ปีขึ้นไป มี 2,533,098 คน คิดเป็นร้อยละ 4.84 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด
ดูข้อมูลพื้นฐานได้ที่ https://rocketmedialab.co/database-election-66-2
หมายเหตุ: อ้างอิงจำนวนประชากรจากจำนวนประชากรไทยที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านแยกรายอายุรายเดือน ธันวาคม 2565 สำนักบริหารทะเบียน กรมการปกครอง https://stat.bora.dopa.go.th/new_stat/webPage/statByAgeMonth.php