รีวิว Polaroid สยองขวัญแบบยุค 90 รำลึก
แม้ว่าหนังอย่าง Polaroid จะเจอพิษ โดนดองไม่ได้เข้าฉายยาวนานร่วม 2 ปีเต็ม ก็ตามแต่เมื่อเรามีโอกาสได้ชมเรื่องราวที่เกิดขึ้นในหนังแบบเต็มๆแล้ว ก็จะพบว่า “ภาพรวม” ของหนังเรื่องนี้ค่อนข้างให้อารมณ์ บรรยากาศเหมือนกับเราดูหนังสยองขวัญในยุค 90s
เอกลักษณ์ของหนังสยองขวัญในยุค 90s คือมันมักจะพาผู้ชมเกาะติดไปกับเรื่องราวของกลุ่มวัยรุ่นที่มีคาแรกเตอร์แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่ในกลุ่มเพื่อนเหล่านี้มักจะประกอบไปด้วย ชายหนุ่มหน้าหล่ออย่างน้อย 2 คน สาวสวยจริตแรงๆ 1 คน นางเอกที่เรียบร้อยดูไม่มีพิษมีภัย และเพื่อนนางเอกที่คอยให้ความช่วยเหลือยามผองเพื่อนตกยาก ไม่นานนักกลุ่มเพื่อนเหล่านี้ต้องประสบพบเจอกับสถานการณ์ประหลาด ที่ต้องเอาชีวิตรอด ซึ่งบางครั้งวิธีการเอาตัวรอดของพวกเขาอาจจะไม่ได้ชาญฉลาดหรือมีไหวพริบนัก จนระหว่างทางต้องมีผู้เสียชีวิตไปเพื่อสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ชม และท้ายที่สุดพวกเขาจะค้นพบความจริงที่ว่าเหตุการณ์แปลกๆเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับ “ตำนานพื้นบ้าน” ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อนานมาแล้ว
เรื่องราวที่เกิดขึ้นใน Polaroid นั้นเกิดขึ้นในเมืองแห่งหนึ่ง ซึ่งดูเป็นสังคมชนบทห่างไกลความเจริญพอสมควร เมื่อพิจารณาจากกิจกรรรมยามว่างของเบิร์ด ฟิชเชอร์ (แคทรีน เพรสคอตต์) สาวน้อยที่ชอบถ่ายรูปเป็นชีวิตจิตใจ และเธอมักจะไปขลุกอยู่ที่ร้านขายของเก่า ซึ่งมีไทเลอร์ (เดวี ซานโตส) เป็นคนดูแลร้าน (และดูเหมือนเขาจะแอบชอบเบิร์ดด้วย) ทั้งสองได้พบกับกล้องโพลารอยด์ตัวเก่าที่สลักอักษร R.J.S เอาไว้ ไทเลอร์จึงยื่นข้อเสนอให้เบิร์ดใช้กล้องถ่ายรูปเขา เพื่อทดสอบว่ากล้องยังใช้งานได้ไหม
ในวันเดียวกันเคซีย์ (ซาแมนธา โลแกน) เพื่อนสนิทของเบิร์ดได้เชื้อเชิญเธอให้ไปร่วมงานปาร์ตี้วันฮาโลวีนที่บ้านของเฮเวอรี่ (เคธี สตีเว่น) ระหว่างที่ทุกคนกำลังสนุกกับงานและต้องการจะถ่ายรูปเอาไว้เป็นที่ระลึก เบิร์ดจึงเสนอตัวในการใช้กล้องโพลารอยด์ถ่ายภาพเพื่อนๆ ไม่นานนักตำรวจท้องถิ่นก็แวะมาที่งานปาร์ตี้แห่งนี้และแจ้งข่าวร้ายให้กับเบิร์ดว่าตอนนี้ไทเลอร์ได้เสียชีวิตแล้ว เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา
ความไม่สบายใจของเบิร์ดเริ่มก่อตัวขึ้น และลางสังหรณ์บางอย่างก็ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เมื่อเช้าวันถัดมา เธอได้ข่าวร้ายว่าเฮเวอรี่เกิดอุบัติเหตุพลัดตกบันได้อย่างรุนแรงจนเสียชีวิต เบิร์ดจึงเริ่มตั้งคำถามว่า บางทีเหตุร้ายทั้งหมดอาจจะมีที่มาจากกล้องถ่ายรูปโพลารอยด์ที่เธอเพิ่งได้มาก็เป็นได้
Polaroid จัดเป็นหนังสยองขวัญที่เกี่ยวข้องกับ “วัตถุต้องคำสาป” ที่เดินเรื่องตามสูตรสำเร็จทุกประการ แต่สิ่งหนึ่งที่เราพอจะมองเห็นสไตล์ของตัวผู้กำกับ ลาร์ส เคลฟเบิร์ก คือการที่เขาเลือกจะคลุมโทนสีให้หนังเรื่องนี้มีโทนน้ำเงิน-ดำ อยู่ตลอดเวลา ขนาดช่วงเวลากลางวันของหนังเรื่องนี้คนดูยังแทบไม่รู้สึกถึงแสงอาทิตย์ในหนังเลยสักนิดเดียว ยิ่งไปกว่านั้นเครื่องมือสื่อสารอย่างโทรศัพท์สมาร์ทโฟนก็ดูไร้ความสำคัญอย่างสิ้นเชิง จนเราแทบจะลืมไปด้วยซ้ำว่าหนังเรื่องนี้เกิดขึ้นในยุคสมัยปัจจุบัน นอกเหนือไปจากประเด็นเหล่านี้แล้ว เราก็รู้สึกว่าตัวหนังยังไม่ได้มีอะไรโดดเด่น หรือสนุกตื่นเต้นจนต้องร้องว้าว