ส่องผู้สมัคร ส.ส. พรรคภูมิใจไทย ใครหน้าเดิม ใครหน้าใหม่ ใครย้ายพรรคมา ไปดูกันเลย!
Highlight
- ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 387 คน พรรคภูมิใจไทย มีผู้สมัครจากพรรคเดิม จำนวน 76 คน (19.64%) มีผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 128 คน (33.07%) และมีผู้สมัครหน้าใหม่ จำนวน 183 คน (47.29%)
- อดีตผู้สมัคร ส.ส. ปี 2562 ที่ไม่ได้รับเลือกตั้งของพรรคภูมิใจไทย จำนวน 311 คน กลับมาลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรคภูมิใจไทยเพียง 29 คนเท่านั้น ย้ายไปพรรคอื่น ๆ จำนวน 55 คน โดยย้ายไปพรรคพลังประชารัฐมากที่สุด 13 คน รองลงมาคือพรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน 12 คน และพรรคเพื่อไทย 8 คน
- ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคภูมิใจไทยที่เป็นอดีต ส.ส. ปี 2562 ที่มาจากการย้ายมาจากพรรคอื่น 49 คน มาจากพรรคพลังประชารัฐ มากที่สุด จำนวน 25 คน รองลงมาคือจากพรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล 12 คน ตามมาด้วยพรรคเพื่อไทย 10 คน พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเสรีรวมไทย พรรคละ 1 คน
- ผู้สมัคร ส.ส. พรรคภูมิใจไทย ที่เป็นผู้สมัครหน้าใหม่ 183 คนมาจากกลุ่มที่เป็นนักการเมืองระดับท้องถิ่นมากที่สุด จำนวน 85 คน (46.45%) รองลงมาก็คือ นักธุรกิจ จำนวน 28 คน (15.3%) และประกอบอาชีพส่วนตัว จำนวน 27 คน (14.75%)
จากการรับสมัครผู้สมัครสมาชิกผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 3 - 7 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา Rocket Media Lab ได้จัดทำฐานข้อมูลทางการเมืองของผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคภูมิใจไทย โดยแบ่งกลุ่มผู้สมัครเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ผู้สมัครจากพรรคเดิม, ผู้สมัครที่บ้านมาจากพรรคอื่น, และผู้สมัครหน้าใหม่
เมื่อแยกว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 387 คน ในปี 2566 ของพรรคภูมิใจไทย พบว่า มีผู้สมัครจากพรรคเดิม จำนวน 76 คน (19.64%) ผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 128 คน (33.07%) และผู้สมัครหน้าใหม่ จำนวน 183 คน (47.29%)
ผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคเดิม
เมื่อพิจารณาผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 387 คนจากพรรคภูมิใจไทย พบว่าผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตที่มาจากพรรคเดิม จำนวน 76 คน สามารถแบ่งออกได้เป็น ส.ส. พรรคภูมิใจไทยเดิมจากปี 2562 จำนวน 35 คน (46.05%) อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคภูมิใจไทยเดิมจากปี 2562 จำนวน 29 คน (38.15%) อดีต ส.ส. ก่อนปี 2562 จำนวน 1 คน (1.32%) อดีต ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 3 คน (3.95%) และอดีตผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 7 คน (9.21%)
จากข้อมูลพบว่า ผู้สมัคร ส.ส. ในการเลือกตั้ง 2566 ของพรรคภูมิใจไทย ที่มาจากพรรคเดิม เป็น ส.ส. พรรคภูมิใจไทยเดิมในปี 2562 มากที่สุด แต่เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับจำนวน ส.ส. เดิมจากปี 2562 ของพรรคภูมิใจไทยที่มีจำนวน 39 คน จะพบว่า มี ส.ส. ปี 2562 ของพรรคภูมิใจไทยที่กลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งในนามพรรคเดิม สูงถึง 35 คนเลยทีเดียว
เมื่อพิจารณาอดีตผู้สมัคร ส.ส. ปี 2562 ที่ไม่ได้รับเลือกตั้งของภูมิใจไทย จำนวน 311 คน จะพบว่า กลับมาลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรคภูมิใจไทยในการเลือกตั้งปี 2566 นี้ เพียง 29 คนเท่านั้น ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งมากถึง 219 คน โดยย้ายไปลงพรรคอื่น ๆ จำนวน 55 คน แบ่งเป็น พรรคพลังประชารัฐ จำนวน 13 คน พรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน 12 คน พรรคเพื่อไทย จำนวน 8 คน พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 7 คน พรรคไทยสร้างไทย จำนวน 5 คน พรรคเสรีรวมไทย จำนวน 2 คน พรรคก้าวไกล พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคพลเมืองไทย พรรคพลังเพื่อไทย พรรคสหกรณ์ พรรคเพื่อชาติไทย และพรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคละ 1 คน และย้ายไปลงสมัครแบบบัญชีรายชื่ออีก จำนวน 8 คน
ผู้สมัคร ส.ส. ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น
เมื่อพิจารณาผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต 387 คนจากพรรคภูมิใจไทย พบว่ามีว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 128 คน สามารถแบ่งได้เป็น ส.ส. เดิมจากปี 2562 ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 49 คน (38.28%) อดีตผู้สมัคร ส.ส. เดิมจากปี 2562 ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 74 คน (57.81%) อดีต ส.ส. ก่อนปี 2562 ที่บ้านมาจากพรรคอื่น จำนวน 1 คน (0.78%) และอดีตผู้สมัคร ส.ส. ก่อนปี 2562 ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 4 คน (3.13%)
จากข้อมูลพบว่า ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต 128 คนของพรรคภูมิใจไทย ในการเลือกตั้ง 2566 ย้ายมาจาก
- พรรคพลังประชารัฐ จำนวน 46 คน (35.94%)
- พรรคเพื่อไทย จำนวน 19 คน (14.84%)
- พรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล จำนวน 17 คน (13.28%)
- พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 8 คน (6.25%)
- พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ และพรรคเสรีรวมไทย พรรคละ 3 คน (2.34%)
- พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคพลเมืองไทย และพรรคพลังชาติไทย พรรคละ 2 คน (1.56%)
- พรรคความหวังใหม่ พรรคชาติพัฒนา พรรคไทรักธรรม พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคประชาราช พรรคพลังไทสร้างชาติ พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคพัฒนาประเทศไทย พรรคภูมิพลังเกษตรกรไทย พรรคราษฎร และพรรคเสรีธรรม พรรคละ 1 คน (0.78%)
ผู้สมัคร ส.ส. หน้าใหม่
เมื่อพิจารณาผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 387 คนจากพรรคภูมิใจไทย พบว่ามีว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตที่ถือเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ของพรรคภูมิใจไทย จำนวน 183 คน ซึ่งมีภูมิหลังที่แตกต่างกัน สามารถแบ่งออกได้ดังนี้
- นักการเมืองระดับท้องถิ่น จำนวน 85 คน (46.45%)
- นักธุรกิจ จำนวน 28 คน (15.3%)
- ประกอบอาชีพส่วนตัว จำนวน 27 คน (14.75%
- ผู้ที่เคยทำงานการเมืองด้านอื่น ๆ จำนวน 25 คน (13.66%)
- ข้าราชการ/หน่วยงานรัฐ/รัฐวิสาหกิจ จำนวน 22 คน (12.02%)
- เครือญาตินักการเมืองระดับชาติ จำนวน 20 คน (10.93%)
- เครือญาตินักการเมืองระดับท้องถิ่น จำนวน 10 คน (5.46%)
- บุคคลผู้มีชื่อเสียงในสังคม จำนวน 5 คน (2.73%)
- นักเคลื่อนไหวทางการเมือง/สังคม จำนวน 4 คน (2.19%)
- นักวิชาการ/นักวิจัย จำนวน 3 คน (1.64%)
ทั้งนี้ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. 1 คน อาจมีได้มากกว่า 1 สถานะ
ผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ
เมื่อพิจารณาว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 98 คนจากพรรคภูมิใจไทย พบว่าเป็นหน้าใหม่มากที่สุด จำนวน 40 คน โดยเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ที่เคยทำงานเป็นข้าราชการประจำ/หน่วยงานของรัฐ มาก่อนมากที่สุด รองลงมาคือนักการเมืองระดับท้องถิ่น และนักธุรกิจ
อันดับต่อมาคือผู้สมัคร แบบบัญชีรายชื่อที่มาจากการย้ายพรรค และพรรคเดิม ซึ่งมีจำนวนเท่ากันที่ 29 คน ในส่วนของผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อของพรรคภูมิใจไทย ที่มาจากการย้ายพรรคนั้น แยกเป็น พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมพลังประชาชาติไทย เท่ากันที่พรรคละ 7 คน พรรคประชาชาติ 3 คน พรรคเพื่อไทย 2 คน และพรรคความหวังใหม่ ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา ไทยรักษาชาติ ประชาธิปัตย์ ประชาภิวัฒน์ พลเมืองไทย พลังประชาชน เพื่อชาติ และอนาคตใหม่/ก้าวไกล พรรคละ 1 คน
ดูข้อมูลพื้นฐานได้ที่ https://rocketmedialab.co/database-election-66-3/