“ฮาย ปวิศรัฐฐ์” บาดแผลรัฐประหาร สู่งานการเมืองเพื่อชาติ (นี้)
Highlight
- ฮาย - ปวิศรัฐฐ์ ติยะไพรัช หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ เติบโตขึ้นในครอบครัวการเมืองและมีประสบการณ์ติดต่อคุณพ่อคุณแม่ทำงานการเมืองมาตั้งแต่เด็ก และเหตุการณ์รัฐประหารก็ทำให้เธอเชื่อว่าพื้นที่การเมืองไม่ปลอดภัย
- หลังจากพี่ชายตัดสินใจไปทำงานการเมืองกับพรรคไทยรักษาชาติ ปวิศรัฐฐ์จึงเข้าไปสานต่องานในสโมสรฟุตบอลเชียงราย ยูไนเต็ด ในฐานะประธานสโมสร และทำให้ชื่อ “มาดามฮาย” กลายเป็นชื่นคุ้นหูของแฟนสโมสรฯ มานับแต่นั้น
- แม้จะมีหลายพรรคการเมืองมาทาบทามให้ปวิศรัฐฐ์ไปร่วมงานด้วย แต่เธอก็เลือกที่จะไม่ไปอยู่พรรคไหนเลย ด้วยความตั้งใจอยากสร้างวัฒนธรรมการเมืองแบบใหม่ เธอจึงนำแนวคิดนี้ไปเสนอพรรคเพื่อชาติ นำไปสู่การรีแบรนด์ และเกิดเป็นพรรคการเมืองเพื่อคนรุ่นใหม่อย่างที่เธอต้องการ
- ปวิศรัฐฐ์รู้ดีว่าการเป็นหน้าใหม่ในสนามการเมืองล้วนมีข้อดีและข้อเสีย การอยู่ในการเมืองมาตั้งแต่เด็กทำให้เธอมองเห็นจุดอ่อนของการเมืองไทย เช่นเดียวกับจุดแข็งหรือประสบการณ์ของคนการเมืองรุ่นเก่าที่ยังมีประโยชน์ และสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานการเมืองของเธอได้
ว่ากันว่าวงการฟุตบอลไทยก็ไม่แตกต่างจากวงการการเมืองมากนัก เมื่อ “เจ้าของทีมฟุตบอล” มากมายต่างเดินหน้าเข้าสู่สนามการเมือง และนั่นก็เป็นสิ่งที่ “ฮาย - ปวิศรัฐฐ์ ติยะไพรัช” รับรู้เป็นอย่างดี จาก “มาดามฮาย” แห่งสโมสรฟุตบอลเชียงราย ยูไนเต็ด ทีมฟุตบอลระดับท็อปของเมืองไทย วันนี้เธอคือหัวหน้า “พรรคเพื่อชาติ” และเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ในฤดูกาลเลือกตั้ง 2566 แม้จะเติบโตขึ้นในครอบครัวนักการเมือง แต่ปวิศรัฐฐ์ก็ยังคงต้องเอาชนะอุปสรรคมากมายในสนามการเมืองแห่งนี้ และนี่คือเรื่องราวที่ปวิศรัฐฐ์แบ่งปันให้พวกเราชาว Sanook ได้รับฟัง
บาดแผลจากรัฐประหาร
เพราะเติบโตขึ้นมาในครอบครัวการเมือง คุณพ่อ (ยงยุทธ ติยะไพรัช) ก็เป็นนักการเมืองตั้งแต่จำความได้ เช่นเดียวกับคุณแม่ (สลักจิต ติยะไพรัช) พี่ชาย (มิตติ ติยะไพรัช) และพี่สาว (ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช) ที่ล้วนแล้วแต่โลดแล่นอยู่ในสนามการเมือง ทำให้ปวิศรัฐฐ์คุ้นเคยกับวงการแห่งนี้ และมีประสบการณ์ในการลงพื้นที่ พบปะประชาชนมาตั้งแต่ยังเล็ก แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เธอรู้สึกโดดเด่นหรือดีกว่าใคร กระทั่งเกิด “รัฐประหาร” ก็ยิ่งตอกย้ำให้ปวิศรัฐฐ์ในวัยเด็กเชื่อว่าพื้นที่การเมืองไม่ปลอดภัยสำหรับเธอ
“ฮายมีบาดแผลทางใจเกี่ยวกับการเมืองเยอะมาก ตอน ม.ต้น ช่วงก่อนรัฐประหาร เป็นช่วงที่การเมืองแรง เพราะเกิดม็อบสีต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมา พอเราไปโรงเรียน เรานามสกุลนี้ เราก็ถูกบูลลี่ มันเลยสร้างบาดแผลทางใจให้เราว่าการเมืองไม่น่ารัก มันเป็นพื้นที่ไม่ปลอดภัย และเพื่อนไม่คบเรา หรือแม้แต่ช่วงที่มีอุปกรณ์การเมืองต่าง ๆ เวลาเราออกไปนำเสนองานหน้าห้อง ก็จะมีอุปกรณ์ฉากสำหรับเราเสมอ” ปวิศรัฐฐ์เล่าย้อนไป
ความเยาว์วัยของปวิศรัฐฐ์ทำให้เธอตั้งคำถามว่าทำไมทุกคนจึงรังแกเธอถึงเพียงนี้ จนเธอตั้งปณิธานกับตัวเองว่าจะ “ไม่เล่นการเมือง” เพราะเธอไม่อยากให้ลูกของเธอต้องเติบโตมาเจอกับความรุนแรงแบบที่เธอเคยพบเจอ
“ช่วง ม.ปลาย อายุ 15 ปี เราไม่รู้เลยว่ารัฐประหารคืออะไร แต่เราได้รับโทรศัพท์ว่าทุกคนต้องแยกกันแล้วนะ พ่อต้องไปทาง แม่ต้องไปทาง พี่เราต้องไปทาง เราต้องหาที่หลบภัย เราก็หยิบหนังสือกับเสื้อผ้าเล็กน้อยเพื่อไปอยู่บ้านของเพื่อน ส่วนพ่อ เราก็ไม่มีทางรู้ว่าเขาไปไหน เพราะคุยทางโทรศัพท์ไม่ได้ แม่ก็เหมือนกัน แล้วเหมือนเราออกจากบ้านแค่ 15 นาที ทหารก็เข้าเลย”
สร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อชาติ (นี้)
ฮายเล่าว่าเหตุการณ์รัฐประหารทำให้เธอตั้งคำถามกับระบบการปกครองและกฎหมายของประเทศไทย เธอจึงเลือกที่จะเรียนคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มุ่งมั่นจนจบเนติบัณฑิต และไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านกฎหมายที่ London School od Economic ประเทศอังกฤษ และในท้ายที่สุด เธอก็ตัดสินใจลงสนามการเมืองตามรอยคนในครอบครัว ด้วยความตั้งใจที่จะสร้างวัฒนธรรมการเมืองรูปแบบใหม่สำหรับคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง
“หลายพรรคก็มีมาทาบทามให้ฮายไปร่วมงานด้วย แต่ที่เราไม่เลือกไปอยู่พรรคใดเลย เพราะเรารู้สึกว่ายังไม่มีพรรคที่ตอบโจทย์เราจริง ๆ เราอยากสร้างวัฒนธรรมพรรคการเมืองที่ตัวเราเองรวมถึงทีมงาน หรือเพื่อน ๆ หรือคนรุ่นใหม่อยากอยู่จริง ๆ เราเลยนำสิ่งนี้ไปเสนอพรรคเพื่อชาติ ว่าเราต้องการรีแบรนด์พรรคเพื่อชาติขึ้นมาใหม่” ปวิศรัฐฐ์เล่า
“หนึ่งคือไม่มีการ Top down หรือการสั่งการจากข้างบนลงมา ซึ่งฮายเชื่อว่าคนรุ่นใหม่หลายคนปฏิเสธสิ่งนี้ สองคือพรรคนี้ปฏิเสธความรุนแรงทุกรูปแบบ ทั้งกายและใจ เราอยากให้ทุกคนอยู่อย่างสบายกายสบายใจ โดยไม่ถูกบูลลี่ ไม่ถูกเหยียด เรื่องที่สามคือความเท่าเทียม ความเสมอภาค สิทธิมนุษยชน เชื่อว่าเทรนด์คนรุ่นใหม่ รวมถึงโลกยุคปัจจุบันมันเป็นแบบนี้”
นอกจากหลักการ 3 ข้อที่พรรคเพื่อชาติยึดมั่น ปวิศรัฐฐ์ยังระบุว่า ระบบการศึกษาของประเทศไทยจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง และปฏิรูป เพราะเธอเชื่อว่าการศึกษาคือรากฐานของทุกสิ่ง และการทำให้ระบบการศึกษาดีขึ้น ก็จะทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในสังคมดีขึ้นตามไปด้วย
หน้าใหม่บนถนนสายการเมือง
“เหมือนชีวิตฮายจะง่าย แต่มันยากมาก ทุกวันนี้คนอาจจะมองว่าเราเข้ามาได้เพราะนามสกุล ซึ่งมันก็เป็นส่วนหนึ่ง มันปฏิเสธไม่ได้ และเราไม่ควรปฏิเสธด้วย เราควรยอมรับว่าสิ่งนี้เราได้มา แต่เราจะทำอย่างไรให้มันดีที่สุด ให้เกิดประโยชน์กับสังคมที่สุด และเราเชื่อมัั่นว่าเรามีความตั้งใจ เราอยากให้สังคมเปลี่ยนแปลง เราก็พร้อมจะทำมันได้” ปวิศรัฐฐ์กล่าว
ปวิศรัฐฐ์รู้ดีว่าการเป็นหน้าใหม่ในสนามการเมืองล้วนมีข้อดีและข้อเสีย การอยู่ในการเมืองมาตั้งแต่เด็ก ก็ทำให้เธอมองเห็นจุดอ่อนของการเมืองไทย เช่นเดียวกับจุดแข็งหรือประสบการณ์ของคนการเมืองรุ่นเก่าที่ยังมีประโยชน์ และสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานการเมืองของเธอได้
“และด้วยความสดใหม่ เราก็จะมีความรู้หรือแนวคิดใหม่ ๆ ที่ไม่ได้ยึดติดกับการเมืองแบบเดิม ๆ เราอาจจะช่วยเสนอไอเดียที่สดใหม่ให้กับการเมืองได้ ว่าไม่จำเป็นต้องเป็นรูปแบบแบบนี้ บวกกับหลายคนก็อาจจะเบื่อกับการเมืองแบบเก่าหรือคนหน้าเก่า มันก็กลายเป็นข้อดีของเราว่าเราก็เสนอหน้าใหม่ แนวความคิดใหม่ ๆ”
“จุดอ่อนมันมีอยู่แล้ว ด้วยความเป็นหน้าใหม่ ทุกคนก็บอกว่าไม่มีประสบการณ์ ยังไม่เคยทำ เขาก็พูดได้ แต่ทุกคนก็เคยเป็นคนใหม่มาก่อน ดังนั้น ก็ควรต้องได้รับโอกาสเข้าไปพิสูจน์ตัวเอง” ปวิศรัฐฐ์บอก
จากสนามฟุตบอลสู่สนามการเมือง
หลังจากพี่ชายตัดสินใจไปทำงานการเมืองกับพรรคไทยรักษาชาติ ก็ทำให้ตำแหน่งประธานสโมสรฟุตบอลเชียงราย ยูไนเต็ด ว่างลง ปวิศรัฐฐ์จึงเข้าไปสานต่องานในสโมสรฯ และเธอก็ได้บทเรียนมากมายจากการทำหน้าที่นี้ ที่สามารถนำมาใช้กับการทำงานการเมืองในปัจจุบัน
“ฟุตบอลสอนอะไรฮายเยอะมาก แล้วก็หล่อหลอมความเป็นตัวฮายมาจนถึงทุกวันนี้ ฟุตบอลสอนให้เรารู้จักแพ้ ชนะ เสมอ รู้จักความไม่แน่นอนของชีวิต รู้ว่าเราต้องยอมรับผลที่เกิดขึ้นเสมอ แต่ก็ให้เราทำเต็มที่ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น มันเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ และฟุตบอลคือแบบจำลองของสนามการเมือง บวกกับการที่สมาคมฟุตบอลต้องมีการเลือกตั้ง มันเหมือนแบบจำลองของประเทศเลย มีงบประมาณที่ต้องจัดสรรให้แต่ละทีม มีความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้น มีระบบพรรคพวกแน่นอนอยู่แล้ว แล้วก็มีเรื่องการตัดสิน การอำนวยความยุติธรรม ที่ไม่ต่างกันกับการเมืองหรือสภาพสังคมเลย มันทำให้เราเรียนรู้ที่จะยืนหยัดต่อสู้กับความไม่ยุติธรรม ยืนหยัดเพื่อตัวเอง รวมถึงยืนหยัดเพื่อคนอื่น”
“รวมถึงเรื่องโซเชียลมีเดีย เรื่องคำวิพากษ์วิจารณ์ ที่ตอนเราทำฟุตบอล แม้เราจะไม่ได้รับเงินภาษีประชาชน เราใช้เงินจากองค์กรธุรกิจของตัวเอง ก็ทำให้เราต้องยอมรับกับตรงนั้น ว่าเราเป็นคนกึ่ง ๆ สาธารณะ และเราก็ได้รับคำวิจารณ์ ก็ทำให้เรามีภูมิต้านทานว่ามันเป็นแบบนี้นี่เอง มันก็สอนอะไรเยอะมาก” ปวิศรัฐฐ์กล่าวปิดท้าย