“ตลาดบ้านป่า” จากคนชนบทถึงคนเมือง เพื่อการขับเคลื่อนเรื่องที่ดินทำกิน
Highlight
- ตลาดบ้านป่า จัดขึ้นทุกวันเสาร์สุดท้ายของเดือน ณ เรือนร้อยฉนำ จำหน่ายสินค้าและผลผลิตของชาวบ้านจากหลายจังหวัด ซึ่งเป็นสมาชิกสมัชชาคนจน ที่ต่อสู้เรียกร้องในประเด็นปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน
- สินค้าตามฤดูกาลคือจุดเด่นของตลาดบ้านป่า โดยสินค้าที่ชาวบ้านแต่ละพื้นที่นำมาจำหน่าย ล้วนแล้วเป็นสินค้าปลอดสารพิษ ทั้งยังเป็นของที่หากินได้ยากในเมือง
- นอกจากเป็นช่วยสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านแล้ว ตลาดบ้านป่ายังเป็นพื้นที่สื่อสารและแลกเปลี่ยนระหว่างคนชนบทกับคนเมือง เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องที่ดินทำกิน รวมไปถึงสร้างการเรียนรู้ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคมต่อไป
ช่วงเช้าวันเสาร์สุดท้ายของเดือน ณ เรือนร้อยฉนำ ที่ซ่อนตัวอยู่อย่างเงียบสงบ ท่ามกลางเสียงอึกทึกอื้ออึงของเมืองหลวง คือที่ตั้งของ “ตลาดบ้านป่า” ตลาดอาหารปลอดภัย ที่ผู้มาเยี่ยมเยือนจะได้พบกับสินค้าและผลิตภัณฑ์จากหลากหลายพื้นที่ของประเทศไทย ในราคาที่เอื้อมถึงได้ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมได้ช่วยสนับสนุนกลุ่มชาวบ้านที่กำลังต่อสู้อยู่กับความอยุติธรรมที่ภาครัฐหยิบยื่นให้ นี่จึงไม่ใช่ตลาดอาหารปลอดภัยที่คนเมืองคุ้นเคย แต่เป็นตลาดที่เปี่ยมไปด้วยความหวัง ความรัก และความเอื้ออาทรในฐานะเพื่อนมนุษย์อย่างแท้จริง
Sanook ชวนทุกคนไปเยี่ยมชม “ตลาดบ้านป่า” พื้นที่แห่งการสื่อสารระหว่างคนชนบทและคนเมือง ที่มีจุดเด่นเรื่องสินค้าและอาหารที่จะสับเปลี่ยนหมุนเวียนตามฤดูกาลธรรมชาติ
ตลาดอาหารปลอดภัย
อึ่งไข่ ใบแมงลัก ว่านตูบหมูบ ตะคร้อ หอยเล็บม้า หรืออีรอก คือส่วนหนึ่งของสินค้าที่ถูกนำมาจำหน่ายในตลาดบ้านป่า ประจำเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา “ดรีม - อริสรา ขวัญเวียน” ผู้จัดการตลาดบ้านป่า เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของตลาด ที่ย้อนกลับไปในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเมืองก็กำลังประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร ณ ขณะนั้น
“ตลาดบ้านป่าเกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่เมืองถูกปิด ชนบทกลับมีผลผลิตเยอะมาก ชาวบ้านก็โทรมาหาเรา ถามว่าจะส่งผลผลิตเหล่านี้ไปให้ลูกหลานที่อยู่ในเมืองได้อย่างไร หรือสามารถเอาไปแบ่งปันให้ใครได้บ้าง เพราะเขาเองก็ไม่อยากปล่อยทิ้ง มันเหลือกิน เหลือขาย พวกเขาเลยคิดว่าแม้จะไม่มีรายได้ แต่อย่างน้อยก็ยังได้เป็นส่วนหนึ่งของการส่งต่ออาหาร ทางทีมงานก็พูดคุยกันเพื่อหาทางนำของเหล่านี้มาสู่เมือง กระทั่งช่วงที่เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ เราจึงขนผักมาที่กรุงเทพฯ แล้วก็ขายในราคาที่เป็นธรรม และแบ่งปันแจกจ่ายให้กับชาวบ้านที่อยู่รอบ ๆ มูลนิธิ” อริสราเริ่มต้นเล่า
“ช่วงแรกก็ได้รับฟีดแบคที่ไม่ค่อยดีนัก ความที่ภาพของอาหารปลอดภัยคืออาหารของคนชนชั้นกลางหรือชนชั้นบน จึงกลายเป็นว่าคนที่ทำงานขับวินมอเตอร์ไซค์ รับจ้างรายวัน หรือแม้แต่พนักงานออฟฟิศเองก็ตาม ไม่กล้าที่จะเข้าถึงตลาดพวกนี้ ช่วงแรกคนก็เลยยังไม่กล้ามาซื้อ แต่เราก็โชคดีที่มีพี่แม่บ้านที่คอยช่วยประชาสัมพันธ์ รวมถึงพี่ ๆ ที่อยู่ในชุมชน ไปช่วยกันประชาสัมพันธ์ ว่าของเหล่านี้กินได้ ราคาถูก เข้าถึงได้ แล้วก็คุยกันรู้เรื่อง เพราะคนมาขายก็เป็นชาวบ้านเหมือนกับเรานี่แหละ เลยมาเจอกันเรื่อย ๆ เราจึงพยายามจัดต่อเนื่องให้ได้ 1 ครั้งต่อเดือน”
ชาวบ้านสมัชชาคนจน
“ร้านค้าที่มาขายก็คือเครือข่ายสมาชิก ‘สมัชชาคนจน’ ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐ เช่น อุทยานทับที่ทำกิน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตอุทยาน เขตป่าไม้ เขตสาธารณะประโยชน์ รวมถึงพื้นที่เขื่อน ซึ่งชาวบ้านเหล่านี้ก็คือผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐ แล้วพวกเขาก็เป็นเกษตรกรที่ใช้พื้นที่หรือที่ดินตรงนั้นมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย มันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่เรามองเห็นว่า สิ่งเดียวที่ชาวบ้านแบบพวกเรามีร่วมกัน คือเครื่องมือที่เรียกว่าการเป็นเกษตรกร” อริสราอธิบาย
การต่อสู้กับอำนาจรัฐเพื่อทวงคืนผืนดินทำมาหากินของชาวบ้านในหลายพื้นที่กินเวลายาวนานหลายสิบปี แต่ชาวบ้านก็ยังยืนหยัดต่อสู้อย่างไม่ท้อถอย เช่นเดียวกับทำหน้าที่ “ผู้ผลิตอาหาร” ให้กับคนเมืองอย่างแข็งขัน แม้การระบาดของโรคโควิด-19 จะทำให้รายได้ของพวกเขาลดน้อยลง แต่ชาวบ้านก็ไม่ยอมแพ้ ทั้งการต่อสู้เพื่อทวงคืนที่ดินทำกิน และการผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อเพื่อนมนุษย์ในประเทศ
สินค้าตามฤดูกาล
เสน่ห์อย่างหนึ่งของตลาดบ้านป่าคือ “สินค้าตามฤดูกาล” ที่แต่ละพื้นที่ก็มีวัตถุดิบทางธรรมชาติที่แตกต่างกัน และมีความพิเศษเฉพาะตัว ซึ่งอริสราระบุว่า เกณฑ์ข้อหนึ่งของตลาดบ้านป่าคือใช้ความเป็นฤดูกาล หรือใช้ความเป็นธรรมชาติเป็นตัววัดคุณภาพของสินค้า
“ตลาดบ้านป่ามองว่าการที่เราได้ผลผลิตจากฤดูกาลนั้น ๆ น่าจะเป็นเครื่องยืนยันถึงคุณภาพของสินค้าที่ชัดเจนที่สุด ทำให้ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าตามฤดูกาล อย่างฤดูนี้ก็จะมีใบตูบหมูบ อึ่งไข่ จิ้งหรีด หรือบางช่วงก็จะเป็นกะบก ซึ่งสินค้าเหล่านี้จะมีจังหวะของมัน เช่น ถ้าเดือนนี้ไม่กินแกงอีรอก เดือนหน้าก็อาจจะไม่ได้กิน หรืออาจจะต้องรอปีหน้าเลย ถึงจะได้กิน หรือถ้าสภาพภูมิอากาศไม่ดี ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ก็อาจจะไม่ได้กินเลยก็ได้ หรือว่าปีนี้เห็ดออกเยอะมาก แต่ก็เป็นไปได้ว่าปีหน้าจะไม่มีให้กิน เรียกว่ามันขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศทั้งหมด”
“บางพื้นที่ก็ไม่ได้เป็นเขตป่าเหมือนพื้นที่อื่น ๆ เขาก็ปลูกผักอายุสั้น แต่ใช้การดูแลแบบไม่ใช้สารเคมี ใช้ปุ๋ยมูลสัตว์อะไรแบบนี้ นอกจากปลูกพืชอายุสั้นแล้ว ชาวบ้านเองก็พยายามรักษาผักพื้นบ้านเก่า ๆ ของเขาเอาไว้ด้ว” อริสรากล่าว
พื้นที่แห่งความเข้าใจ
“เป้าหมายแรกที่เรากับชาวบ้านคุยกันเลยก็คือ ขอให้มันขายได้จริง ๆ จะได้มีรายได้ เพื่อเยียวยา เพื่อขับเคลื่อนการต่อสู้ที่เราทำอยู่ได้จริง ๆ สองก็คือการสื่อสาร การสื่อสารเรื่องราวพื้นที่ของเราให้คนที่อยู่ในพื้นที่อื่น ๆ หรือคนที่ไม่เคยเข้าใจปัญหาเรื่องป่าไม้ที่ดิน ได้รับรู้ว่าพวกเรา หรืออีกหลายคนในต่างจังหวัด ไม่มีความมั่นคงในที่ดิน ไม่มีพื้นที่ทำกินที่ปลอดภัย ไม่สามารถเป็นแหล่งอาหารที่มั่นคงในระยะยาวให้กับมวลมนุษย์ได้ คือไม่ใช่แค่เฉพาะตัวเขาหรือครอบครัวของเขาเท่านั้น แต่มันคือสำหรับมวลมนุษย์ทุกคน ซึ่งที่ดินก็ควรจะเป็นของผู้ถือคันไถ เป็นของเกษตรกร และทุกคนก็ควรเข้าถึงที่ดิน” อริสราบอก
ตลาดบ้านป่าจึงไม่ใช่แค่พื้นที่ตลาดซื้อขายสินค้าปลอดสารพิษ แต่เป็นพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนและสร้างความเข้าใจระหว่างคนชนบทและคนเมือง ในประเด็นเรื่องที่ดินทำกิน และการใช้อำนาจของรัฐต่อประชาชนตัวเล็กในสังคม เช่นเดียวกับเป็นพื้นที่เยียวยาหัวใจซึ่งกันและกัน ปลดปล่อยความทุกข์ รับฟังความอึดอัดใจของกันและกัน
“เราต้องการให้มันเป็นพื้นที่สื่อสาร เพราะเราคิดว่าการสื่อสารและการเข้าใจกัน มันจะสร้างการเปลี่ยนแปลง สร้างการรับรู และสร้างการเข้าใจคนอื่นได้ ว่าเขามีปัญหาอย่างไร อีกคนมีปัญหาอย่างไร จริง ๆ เราไม่ได้คิดว่ามันจะมาถึงขนาดนี้ได้ แต่พอมาอยู่ตรงจุดนี้ มันก็ทำให้เห็นมิติทางสังคมมากขึ้น ว่าตลาดแบบนี้ควรมีอยู่ทุกที่ ควรมีอยู่ในทุกชุมชน ทุกเมือง เพื่อเป็นตลาดทางเลือกที่คนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และสามารถกระจายรายได้ไปสู่ทุกคน” อริสรากล่าวปิดท้าย
ตลาดบ้านป่า จัดขึ้นทุกเสาร์สุดท้ายของเดือน สถานที่เรือนร้อยฉนำ หรือติดตามได้ที่ เฟสบุ๊กตลาดบ้านป่า