เนื้อหาในหมวด ข่าว

หยก VS เตรียมพัฒน์ฯ ดราม่าที่อาจมากกว่า “เครื่องแบบนักเรียน”

หยก VS เตรียมพัฒน์ฯ ดราม่าที่อาจมากกว่า “เครื่องแบบนักเรียน”

Highlight

  • "หยก"​ ผู้ถูกหมายเรียกในคดีมาตรา 112 ที่อายุน้อยที่สุด โพสต์บนเฟสบุ๊กส่วนตัว ระบุว่าถูกไล่ออกจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ
  • โรงเรียนออกมาแถลงการณ์ แจ้งว่าการรายงานตัวเพื่อศึกษาต่อระดับชั้น ม.4 ของหยกไม่เป็นไปตามเงื่อนไขในการมอบตัว เช่นเดียวกับปัญหาที่หยกไม่ปฏิบัติตามระเบียบแนวปฏิบัติตามคู่มือนักเรียน
  • ในแถลงการณ์ของทางโรงเรียน มีการอ้างถึง DMC ซึ่งเป็นระบบจัดเก็บข้อมูลนักเรียนรายบุคคล ซึ่ง ผอ. ท่านหนึ่งได้ระบุว่า ระบบ DMC เป็นระบบที่ใช้เพื่อพิจารณางบประมาณสำหรับแต่ละโรงเรียน
  • การไม่ปฏิบัติตามระเบียบแนวปฏิบัติตามคู่มือนักเรียนของหยก กลายเป็นประเด็นที่ชาวเน็ตต่างวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างออกรส มีการถกเถียงในโซเชียล ซึ่งแตกออกเป็น 2 ฝั่ง ทั้งฝั่งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

อีกหนึ่งประเด็นที่จุดกระแสดราม่าสุดร้อนแรงในโลกโซเชียลตอนนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องของ “หยก” ผู้ถูกหมายเรียกในคดีมาตรา 112 ที่อายุน้อยที่สุด แต่ประเด็นร้อนในครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ หากเป็นเรื่องที่เธออ้างว่าถูกไล่ออกจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการแล้ว ก่อนที่ทางโรงเรียนจะออกแถลงการณ์ชี้แจงเหตุผลที่ต้องให้หยกออกจากการเรียน นำมาสู่การถกเถียงกันอย่างออกรสของชาวเน็ต ที่มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและเห็นต่าง

ในขณะที่ประเด็นเรื่อง “เครื่องแบบนักเรียน” ที่หยกปฏิเสธจะสวมใส่ กลายเป็นหัวข้อการถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์ของชาวเน็ตเป็นวงกว้าง แต่ดราม่าที่เกิดขึ้นอาจสะท้อนให้เห็นปัญหาที่ฝังรากลึกกว่านั้น อย่างเรื่อง “สิทธิเด็ก” ที่พูดกันทั่วไป แต่เด็กไทยกลับไม่เคยได้รับการปกป้องอย่างแท้จริง 

ไทม์ไลน์ดราม่า “น้องหยก”

  • 13 มิ.ย. 

“หยก” โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า “โรงเรียนบอกว่าไล่เราออกแล้ว บอกว่าให้เราจำไว้ว่าต่อไปนี้เราคือบุคคลภายนอก” พร้อมเล่าเหตุการณ์ว่าถูกครูเรียกเข้าไปคุย เป็นรองผู้อำนวยการ 2 คน ครูผู้ชาย 2 คน และครูประจำชั้น 2 คน ก่อนที่ครูคนหนึ่งจะถามเธอว่าไปทำอะไรมา ทำไมจึงโดนตาม ทำไมจึงไม่ปลอดภัย และขอให้หยกโทรหาผู้ปกครอง เมื่อขอออกจากห้อง ก็ถูกครูนั่งขวางทางออกไว้ ก่อนที่สุดท้าย รองผู้อำนวยการบอกจะคืนค่าเทอมให้กับหยก 

โพสต์ดังกล่าวของหยกกลายเป็นที่พูดถึงทันทีในโลกโซเชียล มีคนมากดแสดงความรู้สึกมากถึง 11,000 ครั้ง และแสดงความคิดเห็นมากกว่า 3,000 คอมเมนต์ ซึ่งมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย คนบางส่วนเข้ามาให้กำลังใจหยก ขณะที่บางส่วนก็เข้ามาแสดงความคิดเห็นให้กำลังคุณครูและโรงเรียน

ก่อนหน้านี้ หยกเคยโพสต์ข้อความในเฟสบุ๊ก ว่าเธอใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียน พร้อมกับย้อมสีผมและทำทรงผมที่เธอสะดวก เนื่องจากหยกคิดว่า “การแต่งกายและทรงผมมันไม่ใช่ตัวชี้วัดผลการเรียนของเรา” พร้อมระบุว่าสิ่งที่เป็นปัญหาคือโครงสร้างของการศึกษาไทย ซึ่งโพสต์ดังกล่าวก็ทำให้เกิดการถกเถียงในวงกว้าง ถึงประเด็นเรื่องสิทธิและเสรีภาพ เช่นเดียวกับการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่โรงเรียนกำหนดไว้ 

  • 14 มิ.ย. 

วันต่อมา หยกได้ไลฟ์สดผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว เผยแพร่เหตุการณ์ที่เธอยืนอยู่หน้าโรงเรียน แต่กลับโดนปิดประตูใส่ ไม่ให้หยกเข้าไปภายในโรงเรียน และเกิดการโต้เถียงกับ รปภ. ของโรงเรียน ก่อนที่หยกจะตัดสินใจปีนรั้วโรงเรียนเข้าไปด้านใน ซึ่งการกระทำดังกล่าวของหยกกลายเป็นที่วิจารณ์อย่างมากบนโลกออนไลน์ กลายเป็นหัวข้อถกเถียงอย่างร้อนแรง 

เว็บไซต์โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ได้เผยแพร่แถลงการณ์ต่อกรณีของหยก โดยมีเนื้อหาระบุว่า การรายงานตัวเพื่อศึกษาต่อระดับชั้น ม.4 ของหยกไม่เป็นไปตามเงื่อนไขในการมอบตัว ที่ต้องมามอบตัวนักเรียนให้สมบูรณ์ภายในวันที่ 10 มิ.ย. 2566 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่โรงเรียนจะยืนยันข้อมูลจำนวนนักเรียนในระบบ DMC ของกระทรวงศึกษาธิการ 

“แต่นักเรียนไม่ได้ดำเนินการดังกล่าว ทำให้ไม่มีฐานข้อมูลในระบบ จึงไม่ได้เป็นนักเรียนของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ในปีการศึกษา 2566” 

เช่นเดียวกับปัญหาที่หยกไม่ปฏิบัติตามระเบียบแนวปฏิบัติตามคู่มือนักเรียน ปีการศึกษา 2566 เช่น ไม่แต่งกายชุดนักเรียน การทำสีผม การมาเรียนตามเวลา/รายวิชาตามความพอใจของนักเรียน รวมทั้งขอไม่เข้าร่วมกิจกรรมโฮมรูม กิจกรรมหน้าเสาธง และกิจกรรมอื่น ๆ ที่ถือเป็นการไม่ยอมรับกฎระเบียบและไม่เข้าสู่กระบวนการของโรงเรียน 

ระบบจัดเก็บข้อมูลนักเรียนรายบุคคล (DMC)

แถลงการณ์ข้อแรกของโรงเรียนระบุปัญหาการมอบตัวนักเรียนที่ไม่สมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งได้ให้ข้อมูลว่า การมอบตัวเข้าเรียนจำเป็นต้องใช้เลขประจำตัวประชาชน 13 หลักเป็นสำคัญ ไม่จำเป็นต้องมีผู้ปกครอง แต่จะให้ดีก็ควรมีผู้ปกครองด้วย เพื่อจะได้ร่วมกันดูแล เนื่องจากเด็กยังไม่บรรลุนิติภาวะ ซึ่งในกรณีของหยกนั้น “บุ้ง ทะลุวัง” วัย 27 ปี ได้ทำหน้าที่ผู้ปกครองของหยก โดยร่วมกับส่งหยกเข้าเรียนตามกระบวนการ เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2566 ในวันนี้ก็ไม่มีปัญหากับทางโรงเรียน ทว่า วันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทางโรงเรียนกลับบอกให้พาพ่อแม่ของหยกมา มิเช่นนั้นจะถูกลบรายชื่อออกจากโรงเรียน 

นอกจากนี้ ทางโรงเรียนยังได้กล่าวถึงการยืนยันข้อมูลจำนวนนักเรียนในระบบ DMC หรือระบบจัดเก็บข้อมูลนักเรียนรายบุคคล (Data Management Center) ซึ่งระบบนี้คือ ระบบจัดเก็บข้อมูลนักเรียนรายคนที่มีตัวตนในโรงเรียนจริง เฉพาะโรงเรียนที่อยู่ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เท่านั้น ถือเป็นฐานข้อมูลพื้นฐานสำคัญ ที่เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลระบบสารสนเทศอื่น ๆ ของ สพฐ. ในแต่ละปีจะมีการปรับปรุงข้อมูลนักเรียนรายบุคคล จำนวน 3 ระยะ คือ 

  • ภาคเรียนที่ 1 ข้อมูลนักเรียนที่มีตัวตนในโรงเรียน ในวันที่ 10 มิถุนายน
  • ภาคเรียนที่ 2 ข้อมูลนักเรียนที่มีตัวตนในโรงเรียน วันที่ 10 พฤศจิกายน
  • สิ้นปีการศึกษา ข้อมูลนักเรียนที่มีตัวตนจริง และเข้าสอบปลายภาคเรียนที่ 2 

ผู้อำนวยการโรงเรียนคนดังกล่าว ได้ระบุว่า ระบบ DMC เป็นระบบที่ทุกโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ต้องกรอก เพื่อพิจารณางบประมาณสำหรับแต่ละโรงเรียน แต่ไม่สามารถเอามาบอกว่า เมื่อชื่อของนักเรียนไม่เข้าระบบ นักเรียนจะไม่สามารถเข้าเรียนได้ ทั้งนี้ งบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลที่เรียกว่า “งบรายหัว” จะอ้างอิงจำนวนนักเรียนจากฐานข้อมูล DMC และหากโรงเรียนไม่ได้รับการจัดสรรในระยะที่ 1 ก็จะได้รับชดเชยในระยะที่ 2 

“สมมติว่าก่อนวันที่ 10 มิถุนา เด็กไปเข้าเรียนที่โรงเรียนอื่น แต่หลังจากเปิดเทอม เขาย้ายมาที่โรงเรียนเรา ก็แปลว่าชื่อของเด็กจะยังอยู่ที่โรงเรียนเดิม งบรายหัวก็จะไปอยู่ที่โรงเรียนนั้น แล้วโรงเรียนใหม่จะได้รับงบรายหัวชดเชยในรอบต่อมาแทน”

“การที่เด็กไม่ได้ลงชื่อในระบบ DMC ไม่สามารถเป็นเหตุให้ไม่รับนักเรียนได้ โรงเรียนต้องรับ เด็กทุกคนต้องได้เรียน ไม่เช่นนั้นผิดกฎหมาย” ผู้อำนวยการโรงเรียนคนดังกล่าว ชี้ 

ชาวเน็ตเสียงแตกเรื่องชุดนักเรียน

แถลงการณ์ของทางโรงเรียนระบุเรื่องการไม่ปฏิบัติตามระเบียบแนวปฏิบัติตามคู่มือนักเรียนของหยก เช่น ไม่แต่งกายชุดนักเรียน การทำสีผม เป็นต้น ซึ่งข้อนี้กลายเป็นประเด็นที่ชาวเน็ตต่างวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างออกรส มีการถกเถียงในโซเชียล ซึ่งแตกออกเป็น 2 ฝั่ง มีทั้งคนเห็นด้วยและสนับสนุน เช่นเดียวกับคนที่ไม่เห็นด้วยและอยากให้หยกปรับปรุงตัว 

สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า การย้อมสีผมและแต่งตัวชุดธรรมดาไปเรียนหนังสือ เป็นการกระทำบนเรือนร่างของตนเอง ไม่ได้ทำร้ายตนเองหรือทำร้ายผู้อื่น แต่ปัญหาอยู่ที่สิ่งที่หยกทำขัดต่อกฎเกณฑ์ของโรงเรียน พร้อมชี้ว่าการที่หยกถูกไล่ออกจากโรงเรียน เพราะสวมชุดธรรมดาและย้อมผมนั้น เป็นเรื่องที่สังคมควรตั้งคำถามว่าอะไรคือสิ่งปกติและสิ่งในผิดปกติ ขณะที่อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โพสต์ข้อความ ชี้ว่า ในส่วนของ “ผู้เยาว์ - minor” ตามกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ ให้ความสำคัญกับ “ผู้ปกครอง” มาก ในกรณีของหยก ผู้ปกครอง (แม่) ควรออกมาปกป้องสิทธิเด็ก และดำเนินการต่าง ๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก 

ด้านหม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ ก็ได้ออกมาโพสต์ข้อความบนเฟสบุ๊กส่วนตัว สนับสนุนโรงเรียนที่รักษากฎระเบียบของตัวเอง โดยระบุุว่า คนส่วนใหญ่มีเหตุผลและเคารพกติกา โรงเรียนไม่ต้องกังวลกับนักการเมือง หรือสื่อ หรือพิธีกร หรือเอ็นจีโอที่เก็บแต้มเข้าตนเองด้วยการให้ท้ายเด็ก พร้อมชี้ว่าแม้จะมีสิทธิเสรีภาพ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย เช่นเดียวกับแทนคุณ จิตต์อิสระ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคระหว่างเพศ พรรคประชาธิปัตย์ ก็ออกมากล่าวถึงกรณีของหยก ว่าเกิดจากการเสพข่าวและรับสารทางการเมืองของลัทธิคลั่งเสรีภาพแบบก้าวร้าวสุดโต่งของพรรคการเมืองหนึ่ง ที่มองทุกอย่างในสังคมไทยในแง่ลบแง่ร้าย พร้อมเผยว่าแม้เสรีภาพจะเป็นสิ่งสวยงาม แต่ถ้ามุ่งทำลายระบบและค่านิยมที่ช่วยรักษาระเบียบวินัย ก็จะนำไปสู่ความแตกแยกที่รุนแรง