รู้หรือไม่ "โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา" มีมากกว่า 30 แห่งทั่วประเทศ
Highlight
- โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เดิมมีชื่อว่า “โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ถือเป็นโรงเรียนสหศึกษาระดับมัธยมปลายแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2480
- ปี พ.ศ. 2503 ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรระดับ ม.ปลาย สายสามัญ กระทรวงศึกษาธิการจึงมอบหมายให้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาช่วยเหลือทางด้านการวิชาการแก่การศึกษาทั้ง 12 ภาค เพื่อให้การเรียนการสอนของโรงเรียนต่าง ๆ อยู่ในระดับเดียวกับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
- โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ หรือที่รู้จักในนาม “เตรียมพัฒน์” เดิมชื่อโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา 2 เพื่อให้เป็นสาขาของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ต่อมา ได้ดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนในเครือโดยเพิ่มชื่ออำเภอ หรือชื่อจังหวัดต่อท้าย เพื่อเป็นสาขาให้ครบตามเป้าหมาย 21 โรงเรียน
- โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า หรือ “เตรียมน้อมฯ” ก่อตั้งขึ้นเนื่องจากฉวี ทัศนปรีดา ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินถมแล้วติดริมถนนรามคำแห่ง เพื่อพระราชทานแก่กระทรวงศึกษาธิการ และได้ประกาศจัดตั้งโรงเรียนเมื่อปี พ.ศ. 2526
- ปัจจุบันโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ มีเครือข่ายทั้งหมด 19 โรงเรียน และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า มีเครือข่ายทั้งหมด 9 โรงเรียน
จากกรณีข้อพิพาทระหว่าง “น้องหยก” กับ “โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ” จุดประกายให้คนเริ่มสงสัยว่า จริง ๆ แล้ว โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษามีทั้งหมดกี่แห่งกันแน่ เพราะหลายคนคงเคยได้ยินชื่อของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ที่ว่ากันว่าเป็นโรงเรียนอันดับหนึ่งของประเทศ การันตีมีแต่เด็กนักเรียนหัวกะทิ แล้วโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ หรือ “เตรียมพัฒน์” ที่เป็นข่าว คือโรงเรียนเดียวกับสถานที่ผลิตคนเก่งแห่งนี้หรือไม่ วันนี้ Sanook จะมาช่วยคลายข้อสงสัยให้กับทุกคน
- "หยก" เยาวชนต้องคดี ม.112 โพสต์เล่าละเอียด เหตุการณ์ตอน "ถูกไล่ออกจากโรงเรียน"
- เตรียมพัฒน์ฯ ออกแถลงชี้แจงเป็นข้อๆ "น้องหยก" ไม่มีสถานะนักเรียน เหตุไม่มามอบตัว
- หยก VS เตรียมพัฒน์ฯ ดราม่าที่อาจมากกว่า “เครื่องแบบนักเรียน”
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เดิมมีชื่อว่า “โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ถือเป็นโรงเรียนสหศึกษาระดับมัธยมปลายแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2480 โดยมีหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เป็นผู้อำนวยการคนแรกของโรงเรียน
แต่เดิมโรงเรียนแห่งนี้สังกัดอยู่กับจุฬาลงกรณ์ โดยเตรียมความพร้อมนักเรียนในแผนกต่าง ๆ เพื่อเข้าศึกษาต่อในคณะต่าง ๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยเฉพาะ ก่อนที่ปี พ.ศ. 2490 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้โอนไปสังกัดกรมวิสามัญ และมีระเบียบให้นักเรียนที่จบการศึกษาจากโรงเรียนนี้ ต้องสอบคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษาต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เช่นเดียวกับนักเรียนเตรียมอุดมศึกษาของโรงเรียนทั่วไป พร้อมตัดคำว่า “แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ออก ให้เหลือแต่คำว่า “โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา” เท่านั้น
ภารกิจหลักของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาคือ ให้การศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย พร้อมปลูกฝังอุปนิสัยและสร้างเสริมให้นักเรียนมีบุคลิกภาพที่เหมาะสม สุขภาพแข็งแรง นอกเหนือจากภารกิจหลักแล้ว โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษายังได้รับมอบหมายให้ช่วยเหลือแนะแนวการศึกษาแก่โรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนราษฎร์ที่มีชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย กระทั่งปี พ.ศ. 2503 ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ กระทรวงศึกษาธิการจึงมีคำสั่งมอบหมายให้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาช่วยเหลือทางด้านการวิชาการแก่การศึกษาทั้ง 12 ภาค เพื่อให้การเรียนการสอนของโรงเรียนต่าง ๆ อยู่ในระดับเดียวกับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้ดำเนินการช่วยเหลือในการก่อตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาสายสามัญทั้งหมด 4 โรงเรียน ได้แก่
- โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
- โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ
- โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า
- โรงเรียนบรมราชินีนาภราชวิทยาลัย (เตรียมอุดมศึกษา)
และช่วยดูแลวางระบบให้กับโรงเรียนเตรียมอุดมส่วนภูมิภาคอีก 3 โรงเรียน ได้แก่
- โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช
- โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดสกลนคร
- โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคเหนือ จังหวัดพิษณุโลก
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ หรือที่รู้จักในนาม “เตรียมพัฒน์” เดิมชื่อโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา 2 เพื่อให้เป็นสาขาของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ทั้งนี้ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ได้ดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนในเครือโดยเพิ่มชื่ออำเภอ หรือชื่อจังหวัดต่อท้าย เป็นจำนวนหลายโรง ซึ่งกำลังดำเนินการสร้างโรงเรียน หรือเปลี่ยนชื่อโรงเรียนอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในเครือ เพื่อเป็นสาขาให้ครบตามเป้าหมาย 21 โรงเรียน เนื่องจากโรงเรียนก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2521 และตรงกับจำนวนรัศมีบนสัญลักษณ์องค์พระเกี้ยว ซึ่งมี 21 แฉก ดังนั้น โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาอื่น ที่ไม่ได้อยู่ในเครือโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ จะมีสัญลักษณ์องค์พระเกี้ยวไม่เหมือนกัน
ปัจจุบันนี้ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ มีทั้งหมด 19 โรงเรียน ได้แก่
- โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ
- โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ
- โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ นนทบุรี
- โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ปราณบุรี
- โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ฉะเชิงเทรา
- โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ รัชดา
- โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ปทุมธานี
- โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ราชบุรี
- โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ สุวรรณภูมิ
- โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ สระบุรี
- โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ เชียงราย
- โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ขอนแก่น
- โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ สุราษฎร์ธานี
- โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ เขลางค์นคร
- โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ อุบลราชธานี
- โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ อุดรธานี
- โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ร้อยเอ็ด
- โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ยานนาวา
- โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ พัทลุง
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า หรือ “เตรียมน้อมฯ” เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ ก่อตั้งขึ้นเนื่องจากฉวี ทัศนปรีดา มีความรู้สึกซาบซึ้งและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินถมแล้วติดริมถนนรามคำแห่ง เพื่อพระราชทานแก่กระทรวงศึกษาธิการ และได้ประกาศจัดตั้งโรงเรียนเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2526 โดยใช้ชื่อว่าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า ตามความประสงค์ของฉวี ทัศนปรีดา
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาใช้ “พระเกี้ยว” เป็นสัญลักษณ์ประจำโรงเรียน ตามคำกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาต โดยเป็นรูปพระเกี้ยววางบนเบาะ ซึ่งเป็นพิจิตรเลขาประจำรัชกาลของพระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ปัจจุบัน โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า มีทั้งหมด 9 โรงเรียน ได้แก่
- โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า
- โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า
- โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า กบินทร์บุรี
- โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า นนทบุรี
- โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า ปทุมธานี
- โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า สมุทรปราการ
- โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า อุตรดิตถ์
- โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า นครราชสีมา
- โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า กุนนที