เนื้อหาในหมวด สุขภาพ

ทำความรู้จัก \

ทำความรู้จัก "แมงกะพรุนกล่อง" มหันตภัยใต้สมุทร และวิธีปฐมพยาบาล

แมงกะพรุนกล่อง มหันตภัยใต้สมุทร

แมงกะพรุนกล่อง มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ตัวต่อทะเล" หรือนักพ่นพิษแห่งท้องทะเล เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังจัดอยู่ในไฟลัม Cnidaria กลุ่ม Cubozoa ลำตัวคล้ายร่มหรือระฆังคว่ำ ที่ด้านสูงมากกว่าด้านกว้าง โดยมีลักษณะโปร่งใส อาจมีสีฟ้าอ่อน น้ำตาล เหลือง หรือชมพู มีหนวดยื่นออกจากมุมทั้ง 4 มุม อาจยาวได้ถึง 3 เมตร หนวดแต่ละเส้นมีเซลล์พิษอยู่ประมาณ 5,000 เซลล์ แมงกะพรุนกล่องสามารถเคลื่อนที่พุ่งขึ้นสู่ด้านบนได้อย่างรวดเร็ว และว่ายน้ำได้เร็วถึง 5 ฟุตต่อวินาที จึงสามารถจับปลา และสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่ากินเป็นอาหารได้อย่างง่ายดาย มักอาศัยอยู่ในทะเลเขตอุ่น เช่น ตามชายฝั่งของประเทศออสเตรเลียตอนเหนือ ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ หมู่เกาะฮาวาย ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าพบในประเทศไทยที่เกาะหมาก จังหวัดตราด และเกาะลันตา จังหวัดกระบี่

แมงกะพรุนกล่อง จำแนกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ โดยพิจารณาจากลักษณะเด่นที่หนวด (Tentacle) ได้แก่

- Single Tentacle คือมีหนวดเส้นเดียว อยู่ที่มุมทั้ง 4 มุม จัดอยู่ในลำดับ (Oder) Carybdeida
- Multi Tentacles คือมีหนวดหลายเส้น อยู่ที่มุมทั้ง 4 มุม จัดอยู่ในลำดับ (Oder) Chrodropida

กลไกการออกฤทธิ์ และพิษของแมงกะพรุนกล่อง
แมงกะพรุนมีหนวด (Tentacle) ซึ่งเป็นที่อยู่ของกระเปาะเก็บเข็มพิษ (Cnidoblast ) ใช้ในการป้องกันตัว และจับเหยื่อ ภายในกระเปาะจะมีเข็มพิษ (Nematocyst) ขดอยู่ เมื่อหนวดของแมงกะพรุนสัมผัสกับผิวหนังจะกระตุ้นให้กระเปาะปล่อยเข็มพิษออกมา พร้อมกับปล่อยพิษออกมาด้วย พิษของแมงกะพรุนเป็นพิษในกลุ่ม Proteolytic Enzyme ซึ่งมีพิษต่อผิวหนัง ระบบประสาท และหัวใจ

ลักษณะการออกฤทธิ์ของพิษแมงกะพรุนกล่อง

1. ทำให้เซลล์ผิวหนังบริเวณที่สัมผัสตายได้
2. ทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงแตกจากพิษที่ซึมเข้าสู่กระแสเลือด ผลที่ตามมาคือเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน
3. ผลต่อหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจหยุดเต้น และกดระบบประสาททำให้หยุดหายใจได้

วิธีการปฐมพยาบาลผู้ที่สัมผัสแมงกะพรุนกล่อง

กรณีที่ผู้บาดเจ็บไม่รู้สึกตัวดี (หายใจไม่ปกติ และชีพจรเต้นไม่ปกติ)

1. ทำการปั๊มหัวใจให้ผู้ป่วยฟื้นขึ้นมาก่อน โดยกดบริเวณหน้าอกบริเวณเหนือลิ้นปี่เล็กน้อย
2. บริเวณที่สัมผัสแมงกะพรุนให้ราดด้วยน้ำส้มสายชู นาน 30-60 วินาที (ห้ามใช้น้ำจืดเพราะเป็นการกระตุ้นพิษ)
3. นำหนวดแมงกะพรุนที่ติดร่างกายออกโดยหลีกเลี่ยงการถูบริเวณแผล
4. นำตัวส่งโรงพยาบาล

กรณีที่ผู้บาดเจ็บรู้สึกตัวดี (หายใจปกติ และชีพจรปกติ)

1. บริเวณที่สัมผัสแมงกะพรุนให้ราดด้วยน้ำส้มสายชู นาน 30-60 วินาที (ห้ามใช้น้ำจืดเพราะเป็นการกระตุ้นพิษ)
2. นำหนวดแมงกะพรุนที่ติดตามร่างกายออกโดยหลีกเลี่ยงการขัดถูบริเวณแผล
3. นำตัวส่งโรงพยาบาล

 

ขอบคุณข้อมูล จาก  

ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 

http://www.fisheries.go.th/mf-emdec/mainweb/km_boxjellyfish.html