เนื้อหาในหมวด สุขภาพ

CPR ปั๊มหัวใจ ทำตอนไหน? ทำอย่างไรถึงจะถูกต้อง?

CPR ปั๊มหัวใจ ทำตอนไหน? ทำอย่างไรถึงจะถูกต้อง?

เหตุการณ์ที่เราต้องแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าไม่ได้มีแค่ตอนที่เราทำงานเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ชีวิตกำลังแขวนอยู่บนเส้นด้าย ลมหายใจรวยรินอ่อนบาง หัวใจเต้นเบาจนแทบจะไม่ได้ยิน ถึงกระนั้นความหวังในการช่วยชีวิตเขาเหล่านั้นยังคงมีอยู่เต็มเปี่ยม แม้ว่าคุณจะไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ แต่คุณก็สามารถช่วยชีวิตคนเหล่านี้ได้จากการปั๊มหัวใจ หรือทำ CPR อย่างถูกต้อง ถูกที่ และถูกเวลา

 

CPR คืออะไร?

CPR หรือ Cardiopulmonary resuscitation เป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยที่กำลังจะหยุดหายใจ หรือหัวใจกำลังจะหยุดเต้น ให้กลับมาหายใจ หรือลมหายใจไหลเวียนได้ตามปกติ

พื้นฐานของการทำ CPR อยู่ที่ C-A-B (อัพเดทในปี 2010 จาก A-B-C) ได้แก่

C – Compression กดหน้าอก เพื่อนวดหัวใจภายนอก

A – Airways เปิดทางเดินหายใจให้โล่ง โดยการตั้งศีรษะของผู้ป่วยให้ตรง แล้วเชยคางขึ้นเล็กน้อย

B – Breathing ช่วยหายใจด้วยการประกบปาก แล้วเป่าลมเข้าไป

 

จะเห็นได้ว่า ความสำคัญของการทำ CPR ตอนนี้อยู่ที่การปั๊มหัวใจ ที่ต้องทำให้ถูกต้อง และทันเวลา เพราะหากสมองขาดออกซิเจนไปเกิน 4 นาที สมองอาจเสียหายได้

 

เมื่อไรถึงควรทำ CPR?

เราสามารถเข้าไปทำ CPR ให้กับผู้ป่วยที่หมดสติ ลมหายใจอ่อนหรือหยุดหายใจ หัวใจใกล้หยุดเต้น หรือหยุดเต้นไปแล้ว เช่น จมน้ำ หัวใจวาย สำลักควันไฟจากที่ที่เกิดไฟไหม้ อุบัติเหตุต่างๆ

 

วิธีทำ CPR ที่ถูกต้อง

  • ตรวจดูความปลอดภัยบริเวณรอบๆ ตัวผู้ป่วย เช่น มีของแหลมคม มีกระแสไฟฟ้า มีน้ำมัน มีไฟ หรือสิ่งอันตรายอื่นๆ หรือไม่ ถ้าดูไม่ปลอดภัย อย่าเพิ่งเข้าไป เรียกกู้ภัยมาช่วยเหลือดีกว่า

  • หากสถานที่รอบๆ ผู้ป่วยปลอดภัยดี ให้เข้าไปหาผู้ป่วยทำการยืนยันว่าผู้ป่วยหมดสติจริง โดยการตีที่ไหล่แล้วเรียกด้วยเสียงดัง 4-5 ครั้ง หากผู้ป่วยยังรู้สึกตัวอยู่ หายใจเองได้ ให้จับนอนตะแคง รอการช่วยเหลือ โทร 1669 ไม่ควรทำ CPR ขณะที่ผู้ป่วยยังมีสติ

  • หากไม่ได้สติ ไม่ลืมตาจริงๆ และหยุดหายใจ ให้รีบโทรหา 1669 เช่นกัน แจ้งทีมงานว่าผู้ป่วยไม่ได้สติ หยุดหายใจ ให้นำเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ หรือ AED มาด้วย

  • เริ่มทำการกดหน้าอก โดยจับผู้ป่วยนอนหงาย นั่งคุกเข่าข้างผู้ป่วย วางสันมือข้างหนึ่งตรงครึ่งล่างกระดูกหน้าอก (ตำแหน่งตรงกลางระหว่างหน้าอก ระดับเดียวกับหัวนมพอดี) และวางมืออีกข้างทับประสานกันไว้ เริ่มการกดหน้าอกด้วยความลึกอย่างน้อย 5 เซนติเมตร ในอัตราเร็ว 100-120 ครั้งต่อนาที สามารถปั๊มหัวใจตามจังหวะเพลง “สุขกันเถอะเรา” ของสุนทราภรณ์, “Staying Alive” ของ Bee Gees หรือ “Imperial March” เพลงธีมของ Darth Vader ในภาพยนตร์เรื่อง Star Wars ได้

  • ควรทำ CPR ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าทีมแพทย์ หรือหน่วยกู้ภัยจะมา หากคุณไม่เคยเข้ารับการฝึกทำ CPR มาก่อน ให้กดหน้าอกเพียงอย่างเดียวไปเรื่อยๆ หากคุณเคยทำ CPR แล้ว อาจกดหน้าอกสลับกับการเป่าปากช่วยหายใจได้ โดยกดหน้าอก 30 ครั้ง สลับมาเป่าปากช่วยหายใจ 2 ครั้ง

  • ในกรณีที่มีคนอยู่ด้วยหลายคน สามารถสลับให้คนอื่นมาช่วยปั๊มหัวใจแทนได้
  •  

    เมื่อไรควรหยุดทำ CPR?

    ควรทำ CPR ไปเรื่อยๆ จนกว่าทีมกู้ภัย หรือหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จะมา แล้วเข้าช่วยเหลือด้วยเครื่อง AED อีกครั้ง ก่อนนำส่งโรงพยาบาล

     

    ทำไมถึงทำ CPR ไม่สำเร็จ?

    อาจเป็นเพราะกดหน้าอกเบาไป ช้าไป กดไม่ตรงจุด หรือเข้าไปช่วยเหลือเพื่อทำการปั๊มหัวใจช้าเกินไปตั้งแต่แรก

     

    อย่างไรก็ตาม ระหว่างการทำ CPR เราควรเรียกคนมาช่วย รีบโทร 1669 เพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่เร็วที่สุด หากสามารถนำส่งโรงพยาบาลด้วยตัวเองได้ ก็สามารถทำ CPR ระหว่างนำส่งโรงพยาบาลได้เช่นกัน