เนื้อหาในหมวด ข่าว

“สำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบาง” เรื่องราวของ “คนตาบอด” เพื่อคนตาดี ใต้โครงการ Youth Co:Lab

“สำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบาง” เรื่องราวของ “คนตาบอด” เพื่อคนตาดี ใต้โครงการ Youth Co:Lab

Highlight 

  • สโรชา กิตติสิริพันธุ์ หรือ “พลอย” เยาวชนไทยที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการ Youth Co:Lab และได้นำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในการทำธุรกิจ “สำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบาง” สำนักพิมพ์ที่มุ่งมั่นจะทำหนังสือ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของคนตาบอด ให้คนตาดีได้รับฟัง
  • โครงการ Youth Co:Lab โดยมูลนิธิซิตี้ (Citi Foudation) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.​ 2560 โดย เพื่อส่งเสริมภาวะผู้นำ การสร้างนวัตกรรมทางสังคม ตลอดจนการพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคมให้แก่เยาวชน โดยปัจจุบันได้ดำเนินการใน 28 ประเทศ และสนับสนุนเยาวชนผู้ร่วมโครงการมากกว่า 255,000 คน
  • งาน Youth Co:Lab Summit ในปี พ.ศ. 2566 นี้ จัดภายใต้ธีม “Inclusive Entrepreneur” หรือการดำเนินธุรกิจที่สร้างการมีส่วนร่วมของคนในสังคมอย่างเท่าเทียม โดยมีเยาวชนกว่า 26 ทีม จาก 20 ประเทศ เข้าร่วม

ในวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน ค.ศ. 2023 ได้ระบุถึงความสำคัญของเยาวชน ในฐานะพลเมืองที่จะมีบทบาทในการแก้ไขปัญหา ผ่านความคิดสร้างสรรค์ และการริเริ่มโครงการ เพื่อนำสังคมโลกไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs Goal) มูลนิธิซิตี้ (Citi Foudation) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) จึงได้ก่อตั้งโครงการ Youth Co:Lab ขึ้น เพื่อส่งเสริมภาวะผู้นำ สร้างนวัตกรรมทางสังคม และพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคมให้กับเยาวชน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 

สโรชา กิตติสิริพันธุ์ หรือ “พลอย” ก็เป็นอีกหนึ่งเยาวชนไทยที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการ Youth Co:Lab และเธอก็ได้นำความรู้ที่ได้รับตลอดการร่วมโครงการ มาปรับใช้ในการทำธุรกิจ “สำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบาง” สำนักพิมพ์ที่มุ่งมั่นจะทำหนังสือ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของคนตาบอด ให้คนตาดีได้รับฟัง รับรู้ เปิดใจ และสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข 

โอกาสที่คนตาบอดอยากได้รับ

“พลอยเป็นคนตาบอดสนิทมาตั้งแต่กำเนิดก็ว่าได้ แต่พลอยโชคดีที่มีโอกาสได้เรียนหนังสือและทำงานร่วมกับคนทั่วไป คือใช้ชีวิตร่วมกับคนในสังคมมาโดยตลอด แต่ในขณะเดียว พลอยก็มีเพื่อน ๆ ที่มองไม่เห็นจำนวนมาก ที่ทำให้พลอยเห็นปัญหาเรื่องการอยู่ร่วมกันระหว่างคนพิการกับคนทั่วไป” พลอยเริ่มต้นเล่า 

เพราะได้รับโอกาสจากคนรอบข้างอยู่เรื่อยมา ทำให้พลอยตระหนักว่าหากคนพิการได้รับการฝึกฝนทักษะและพัฒนาตัวเอง พวกเขาก็สามารถทำงานได้หลายด้าน บวกกับความต้องการที่อยากจะสื่อสารเรื่องราวของคนตาบอดให้คนตาดีได้เข้าใจ ทำให้พลอยเลือกที่จะใช้ความรู้ความสามารถด้านอักษรศาสตร์ของตัวเอง มาเป็นเครื่องมือในการสร้างนวัตกรรมทางสังคม ที่จะช่วยแก้ปัญหาการอยู่ร่วมกันของคนตาบอดและคนตาดี กระทั่งกลายเป็น “สำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบาง”

“ตัวพลอยจบการศึกษามาทางด้านอักษรศาสตร์ มีความรู้เรื่องการทำหนังสือ การอ่านวรรณกรรม ก็เลยคิดว่าหนังสือเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่จะช่วยสื่อสารเรื่องราวของคนออกไปได้ในวงกว้าง เราเลยคิดว่าจะทำอย่างไรดีที่จะทำให้คนพิการได้มาสื่อสารเรื่องของตัวเอง เรื่องความคิด เรื่องมุมมองของตัวเอง แล้วเราก็เชื่อว่าถ้าการผลิตหนังสือ มันจะทำให้ต้นฉบับมีคุณภาพได้ ด้วยกระบวนการของการทำหนังสือ การตรวจแก้ของระบบบรรณาธิการ ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่เราเริ่มทำสำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบางขึ้นมา” พลอยอธิบาย

สำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบาง

“สำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบาง เป็นสำนักพิมพ์ที่อยู่ภายใต้ครอบครัวสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ซึ่งตัวพลอยได้มีโอกาสร่วมงานกับอาจารย์มกุฎ อรฤดี ซึ่งเป็นบรรณาธิการบริหารของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ โดยสำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบาเพิ่มจะริเริ่มก่อตั้งเมื่อประมาณปลายปี พ.ศ. 2565 แล้วก็เริ่มดำเนินงานจริง ๆ ประมาณต้นปี พ.ศ.​ 2566” พลอยบอก 

แม้จะเป็นสำนักพิมพ์น้องใหม่ แต่เรื่องราวที่หยิบยกมาบอกเล่าและแบ่งปันให้คนทั่วไปได้รับรู้ ก็ทำให้สำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบางได้รับการต้อนรับจากคนทั่วไปอย่างอบอุ่น เช่นเดียวกับมีต้นฉบับที่เป็นเรื่องราวของคนตาบอด ถูกส่งมาให้สำนักพิมพ์พิจารณาอยู่เนือง ๆ ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพและความสามารถของคนตาบอด ที่หากได้รับโอกาส ก็สามารถเปล่งประกายได้เช่นกัน 

“เรื่องที่น่ามหัศจรรย์มากเลยก็คือว่า แม้เวลาเปิดสำนักพิมพ์จะสั้น แต่เราก็ได้คนพิการหลายคนที่เขียนหนังสือได้ดั และมีเรื่องราวที่จะถ่ายทอด มีต้นฉบับที่ดี แล้วก็มีหลายคนเข้ามาสนับสนุนว่าไอเดียนี้ดี เขาได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากการที่ได้รู้จักคนพิการเพิ่มมากขึ้น อย่างเราจัดกิจกรรมวงสนทนาเล็ก ๆ ที่ชวนคนตาบอดที่สนใจเขียนหนังสือ มาร่วมกันพูดคุย แล้วก็มีคนที่มองเห็นมาร่วมฟังด้วย ปรากฏว่าหลายคนรู้สึกว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจ เขาได้รับประโยชน์มากมายจากการฟังเรื่องราวแบบนี้ แล้วเขาก็รอติดตามให้เรื่องราวเหล่านี้กลายเป็นหนังสือ ซึ่งมันทำให้เรารู้สึกและยิ่งเชื่อว่า สำนักพิมพ์นี้จะเป็นนวัตกรรมหนึ่ง ที่จะช่วยสร้างสังคมสำหรับทุกคน (Inclusive Society) ขึ้นมาได้จริง ๆ” พลอยสะท้อน 

โครงการ Youth Co:Lab

พลอยเล่าว่า แม้ตัวเองจะมีความสนใจเรื่องหนังสือ และมีความเข้าใจเรื่องคนพิการ โดยเฉพะคนตาบอด แต่เธอก็ไม่มีความรู้เรื่องการทำธุรกิจ การเป็นผู้ประกอบการ หรือนวัตกรรมเพื่อสังคมเลย กระทั่งได้เข้าร่วมกับโครงการ Youth Co:Lab ที่ทำให้พลอยได้เรียนรู้เรื่องการทำธุรกิจ การทำงานเป็นทีม เช่นเดียวกับการวางแผน เตรียมตัว และการตั้งเป้าหมายสำหรับการทำธุรกิจ ที่พลอยนำมาใช้จริงเมื่อเริ่มทำสำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบาง 

“โครงการนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมให้เยาวชนสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ แต่ตอนนี้เราเห็นศักยภาพของเยาวชนที่ไปได้ไกลกว่านั้น คือการที่เยาวชนเป็นผู้เปลี่ยนแปลงสังคมด้วยการเป็นผู้ประกอบการ ประเด็นสำคัญคือเราเล็งเห็นว่าผู้ประกอบการควรมาจากคนทุกกลุ่ม ปัจจุบันนี้ เราอาจจะเห็นว่าคนที่มีโอกาสเป็นผู้ประกอบการได้ ต้องเป็นคนที่โอกาส เข้าถึงการศึกษา หรือมีต้นทุน มีเงิน แต่เราควรจะส่งเสริมให้คนจากหลายกลุ่ม มีโอกาสเป็นผู้ประกอบการได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่ประสบปัญหาเอง ที่เราจะเห็นว่าเขามีความยืดหยุ่นในการแก้ปัญหา และมีความคิดสร้างสรรค์มาก” มร.เรโนด์ เมเยอร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNDP) ให้ข้อมูล 

ด้านนฤมล จิวังกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซิตี้แบงค์ ประเทศไทย และผู้แทนมูลนิธิซิตี้ (Citi Foudation) ก็ได้ร่วมให้ข้อมูลด้วยเช่นกัน โดยระบุว่า

“โครงการ Youth Co:Lab เป็นหนึ่งในแฟลกชิปของโครงการ Pathway to Progress ของซิตี้แบงค์ ที่ต้องการลดช่องว่าง และเพิ่มศักยภาพด้านทักษะให้กับเยาวชนที่ด้อยโอกาส หรือคนพิการที่ด้อยโอกาส เพื่อที่จะเสริมทักษะให้ตัวเอง ทุกวันนี้เราเห็นว่าโลกเปลี่ยนแปลงเยอะ เทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้นเยอะมาก จุดนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของการลดช่องว่างตรงนั้น ให้เยาวชนสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ดีขึ้น เร็วขึ้น มีความสามารถ และมีทักษะที่พร้อมมากขึ้น” 

Inclusive Entreprenuer 

โครงการ Youth Co:Lab ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.​ 2560 เพื่อส่งเสริมภาวะผู้นำ การสร้างนวัตกรรมทางสังคม ตลอดจนการพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคมให้แก่เยาวชน โดยปัจจุบันได้ดำเนินการใน 28 ประเทศ และสนับสนุนเยาวชนผู้ร่วมโครงการมากกว่า 255,000 คน 

และในปี พ.ศ. 2566 นี้ มูลนิธิซิตี้ และ UNDP ก็ได้จัดงาน Youth Co:Lab Summit อีกครั้ง โดยเป็นเวทีเสวนาเยาวชนครั้งยิ่งใหญ่แห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งปีนี้จัดภายใต้ธีม “Inclusive Entrepreneur” หรือการดำเนินธุรกิจที่สร้างการมีส่วนร่วมของคนในสังคมอย่างเท่าเทียม โดยมีเยาวชนกว่า 26 ทีม จาก 20 ประเทศ เข้าร่วม พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานเอกชน นักลงทุน ตลอดจนตัวแทนภาครัฐจากนานาชาติ ร่วมให้การสนับสนุนและขับเคลื่อนเยาวชน ในฐานะเสาหลักแห่งการแก้ปัญหาความท้าทายของโลกปัจจุบัน 

งาน Youth Co:Lab Summit 2023 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 - 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 ณ ศูนย์ประชุมแห่งสหประชาชาติ อาคารสหประชาชาติ กรุงเทพฯ และได้รับเกียรติจากชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มาร่วมบรรยายถึงความสำคัญของนวัตกรรมเพื่อสังคม ที่เป็นผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชน