เนื้อหาในหมวด ข่าว

“ละคร 8 ตอน” การเมืองไทย ดราม่าดุเดือดแค่ไหน ไปดูกัน!

“ละคร 8 ตอน” การเมืองไทย ดราม่าดุเดือดแค่ไหน ไปดูกัน!

การเลือกตั้งผ่านมาเกือบ 3 เดือนแล้ว แต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าประเทศไทยจะได้ “รัฐบาลใหม่” ในเร็ววันนี้ นับตั้งแต่วันที่พรรคก้าวไกลประกาศชัยชนะ จัดแถลงข่าวจับมือ 8 พรรคประชาธิปไตยอย่างชื่นมื่น เรื่อยมาถึง “ดราม่าประธานสภา” ที่ยื้อแย่งกันอย่างดุเดือด จนมาถึงวันที่พรรคเพื่อไทยประกาศ “ตัดความสัมพันธ์” กับพรรคก้าวไกล และหันไปชน “ช็อกมิ้นต์” กับพรรคภูมิใจไทยอย่างเบิกบาน เรียกว่าแวดวงการเมืองไทยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย แต่สุดท้ายก็ยังมองไม่เห็นแสงสว่างตรงปลายอุโมงค์อยู่ดี

อ่านเรื่องย่อ ตอน 1 • ตอน 2ตอน 3ตอน 4ตอน 5ตอน 6ตอน 7ตอน 8

ข่าวดราม่าการเมืองมีมาให้ประชาชนได้เสพไม่เว้นแต่ละวัน จนหลายคนไม่แน่ใจว่านี่คือการเมืองไทย หรือ “ละครน้ำเน่า” กันแน่ เพราะมีแต่เรื่อง “ผัวเมีย” รัก ๆ เลิก ๆ กันออกมาให้ได้ติดตามกันอยู่ตลอด วันนี้ Sanook ก็เลยขอชวนไปดู “ละคร 8 ตอน” ของการเมืองไทยว่าจะดราม่าดุเดือดแค่ไหน แล้วจุดจบของละครโรงใหญ่นี้จะเป็นอย่างไรกันแน่? 

ตอน 1: งานแต่งงานของเรา

วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ถือเป็นวันแห่ง “ชัยชนะของประชาชน” เมื่อพรรคก้าวไกลสามารถเอาชนะการเลือกตั้งทั่วไปได้สำเร็จ ด้วยคะแนน 14.4 ล้านเสียง กวาดที่นั่ง ส.ส. ในสภาไปได้ถึง 150 ที่นั่ง ซึ่งหลังจากวันเลือกตั้งผ่านพ้นไป พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ก็ได้ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว ประกาศพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย 

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งรั้งตำแหน่งพรรคผู้ชนะอันดับ 2 จากการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ในประเด็นเรื่องการร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล และการร่วมลงมติเลือกพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมกล่าวยืนยันว่า ไม่มีโอกาสเป็นไปได้ที่พรรคเพื่อไทยจะไปจับมือกับขั้วอื่น ๆ ในฝ่ายรัฐบาลปัจจุบัน พรรคเพื่อไทยยอมรับฉันทามติของพี่น้องประชาชน โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ และจะเป็น “ผนังทองแดง กำแพงเหล็กให้เขา (พรรคก้าวไกล) ถึงที่สุด หากมีเงื่อนไขอะไรเราก็ต้องมาช่วยกันแก้ พร้อมร้องขอให้ ส.ว. ได้โปรดยอมรับเสียงข้างมาก” 

“ผมยืนยันว่าเมื่อเราตัดสินใจเข้าร่วมแล้ว เราต้องช่วยกันถึงที่สุด ให้งานแต่งของเราสัมฤทธิ์ผล คือแต่งงานกันให้ได้ มันถึงจะเป็นการจัดตั้งรัฐบาล” 

“แม้เราจะเป็นเจ้าสาวที่สวย แค่เราไม่เคยกำหนดว่าคุณต้องเอาสินสอดมาอย่างนั้นอย่างนี้ เราไม่เคยเสนอก่อนเลย เราบอกว่าคุณยกมาสิ เราจะดูว่ามันเหมาะสมกับเราไหม” นพ.ชลน่านกล่าว

วันที่ 18 พฤษภาคม 2566 กลายเป็นอีกวันประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อพรรคก้าวไกล นัด “ว่าที่” พรรคร่วมรัฐบาล 5 พรรค (พรรคเพื่อไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย และพรรคเป็นธรรม) มาร่วมรับประทานอาหารอย่างชื่นมื่น ในบรรยากาศเป็นกันเอง พร้อมเสิร์ฟไวน์พื้นบ้าน ที่ส่งผลให้ “โรงกลั่นแตก” เพราะประชาชนแห่แหนไปสั่งจอง หวังจะได้ลิ้มลองรสชาติสุราที่ “รัฐบาลของประชาชน” ได้ลิ้มรสกันมาแล้ว

ตอน 2: บ่าวสาวจำเป็นเซ็น MOU

ณ ห้องบอลรูม โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 พิธา พร้อมแกนนำพรรคการเมือง 8 พรรค (พรรคเพื่อไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม พรรคเพื่อไทรวมพลัง และพรรคพลังสังคมใหม่) ร่วมกันแถลงข่าวการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาล โดยร่าง MOU ดังกล่าวมีแนวทางการบริหารประเทศจำนวน 23 ข้อ และอีก 5 ข้อตกลง และไม่มีการบรรจุมาตรา 112 ลงใน MOU ฉบับนี้ 

ถือเป็นงานที่สร้าง “ความหวัง” ให้ประชาชนคนไทยอย่างมาก เหมือนเห็นแสงรำไรอยู่ตรงปลายอุโมงค์ เมืองไทยกำลังจะเปลี่ยนไป เหมือนที่พรรคก้าวไกลโฆษณามาตลอดว่า “กาก้าวไกล ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม” 

อย่างไรก็ตาม งานแถลงข่าวเซ็น MOU นี้ก็แอบมี “ดราม่า” ระหว่าง น.ต.ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย กับ นพ.ชลน่าน เรื่องการตั้งคำถามประเด็น “Advance MOU” จน นพ.ชลน่าน ถึงกับออกมาพูดว่า “ถ้าชกได้ ผมชกไปแล้ว” ชี้ว่า น.ต.ศิธา ทำตัวไม่เหมาะสม ไม่มีมารยาท ก่อนจะซัดกันไปซัดกันมาอยู่สักพัก จนสุดท้าย น.ต.ศิธา ก็โพสต์ขออภัยกับคำถามที่ล้ำหน้ามากเกินไป จนทำให้หลายฝ่ายไม่สบายใจ พร้อมบอกว่าจะ “ไม่ล้ำเส้น ไม่เร่ง ไม่บีบคั้น เรามาเดินหน้าต่อแบบพอดี ๆ ไปด้วยกันครับ” 

จบดราม่าแบบหล่อ ๆ สมเป็นแดดดี้ 

ตอน 3: ดีลลับดีลรัก

ในช่วงที่พรรคก้าวไกลพยายามจัดตั้งรัฐบาลประชาชน ฝั่งพรรคเพื่อไทยก็มีข่าวลับข่าวหลุด ลอยเข้าหูประชาชนไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งที่ว่ามีดีลกับพรรคฝั่งลุง หรือพร้อมจะย้ายขั้วไปหาอีกฝั่งอยู่เสมอ แถมในโซเชียลมีเดียก็แรงไม่แพ้กัน เพราะ “บางแบก” กับ “ด้อมส้ม” ก็เถียงกันอย่างเมามัน ยกเหตุผลของแต่ละฝ่ายขึ้นมาสู้ ฝ่ายไหนสู้ไม่ไหวก็มีบูลลี่ด่าทอกันบ้าง จนกลายเป็นไม้เบื่อไม้เมาที่ใครเริ่มจุดประเด็นไหน อีกฝ่ายต้องเข้าไป “สู้” จนถึงที่สุด 

แต่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยก็ “งอน” กันได้ไม่นาน เพราะวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 นพ.ชลน่าน ก็ได้กล่าวย้ำในการแถลงข่าว หลังการประชุมร่วมกันทั้ง 8 พรรคการเมือง ระบุว่าพรรคเพื่อไทยจะร่วมจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ พร้อมประกบมือรูปหัวใจ ให้คำมั่นสัญญาว่าพรรคเพื่อไทยจะ “ล่มหัวจมท้าย” กับพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราจะอยู่ด้วยกันตลอดไป และเป็นรัฐบาลของประชาชนให้ได้ พร้อมวลีเด็ด “ดีลลับอะไรต่าง ๆ พรรคเพื่อไทยยืนยันเราจะเปลี่ยนเป็นดีลรักให้หมด” 

“เราได้รับมอบจากพี่น้องประชาชนมา เป็นอาณัติที่พี่น้องประชาชนมอบหมายให้กับพรรคเพื่อไทยและก้าวไกล 25 ล้านเสียง เราเน้นตลอดในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้น มีเจตจำนงค์ของพี่น้องประชาชนแบบนี้แล้ว พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลปฏิเสธไม่ได้ที่จะจะความฝัน ความหวังของพี่น้องประชาชนให้บรรลุในสิ่งที่เขาต้องการ คือรัฐบาลจากฝ่ายเสรีประชาธิปไตยที่เขาต้องการ ให้ปิดกั้นอำนาจที่ไม่ชอบธรรมทั้งหลายทั้งปวง อันนี้เป็นภารกิจที่เราสองฝ่ายเห็นตรงกันอยู่แล้ว มันเป็นการมัดที่แน่นกว่าการมัดอย่างอื่นนะครับ เป็นข้อผูกมัดที่เราเองต้องคำนึงถึงอย่างมาก ก็ให้ความมั่นในว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราจะอยู่ด้วยกันตลอดไป” 

ตอน 4: เก้าอี้ประธานสภาอลเวง 

แม้จะเซ็น MOU กันแล้ว แต่ดราม่าระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยก็เหมือนจะยิ่ง “ทวีความรุนแรง” มากขึ้น เมื่อแต่ละฝ่ายก็ออกมาพูดย้ำถึงความต้องการเก้าอี้ “ประธานสภา” 

ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกมาแถลงข่าวยืนยันว่า “ตำแหน่งประธานสภาต้องเป็นของก้าวไกล” พร้อมยืนยันความจำเป็นในการผลักดัน 3 วาระ ด้านพรรคเพื่อไทยก็ตอกกลับ ว่าแจ้งความประสงค์ต้องการตำแหน่งประธานสภาไปตั้งแต่วันเซ็น MOU แล้วจ้า อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องประธานสภาในช่วงนี้มีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาหลายครั้ง จนประชาชนถึงกับกุมหัว วันนี้บอกว่ายอมถอย อีกวันบอกไม่ยอม กลายเป็น “เกม” ที่ไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร

ดราม่าหนักถึงขนาด นพ.ชลน่าน ถึงกับบอกว่า “เราถูกมัดด้วยอาณัติของประชาชน ผมพูดหลายครั้ง แม้เราอยากออกไปแต่เราออกไปไม่ได้ แม้เราอยากออกไป ซึ่งเรามีสิทธิด้วยนะครับที่จะออกไป แต่มันไม่ชอบธรรม เราถูกพี่น้องประชาชน 25 ล้านมัดเรากับพรรคก้าวไกลให้ติดกัน มันเสมือนพ่อแม่เรา เราเป็นลูก เราถูกจับคลุมถึงชนให้มาแต่งงานกัน เราไม่มีสิทธิปฏิเสธจริง ๆ” 

แต่พอได้เปิดใจพูดคุยกัน ก็ทำให้พรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทย “เข้าใจกัน” อีกครั้ง และทำให้ประเด็นเรื่อง “เก้าอี้ประธานสภา” ได้ข้อสรุปในที่สุด โดยข้อตกลงร่วมกันของสองพรรคคือให้วันนูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ปดิพัทธ์ สันติภาดา จากพรรคก้าวไกล เป็นรองประธานสภาคนที่ 1 และพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน จากพรรคเพื่อไทยเป็นรองประธานสภาคนที่ 2 

และดราม่าประธานสภาก็จบลงได้ด้วยดี 

ตอน 5: หุ้นสื่อเจ้าปัญหา

ในระหว่างที่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยเล่นบท “พ่อแง่แม่งอน” กันอยู่ พิธาก็กำลังเจอศึกหนักจากทางอื่นด้วยเช่นกัน เมื่อเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ออกมาเปิดเผยว่าตรวจพบข้อมูลพิธา “ถือหุ้นสื่อ” และยังมีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า ไอทีวียังประกอบกิจการสื่ออยู่เช่นกัน จากนั้นก็มีตัวละคร “นักร้อง” และ “นักแฉ” โผล่มาให้ข้อมูลเรื่องหุ้นสื่อของพิธาเต็มไปหมด 

ต่อมามีการเผยแพร่คลิปวิดีโอบันทึกการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นไอทีวี ประจำปี 2566 ที่ผู้ถือหุ้นถามว่า "บริษัท ไอทีวี มีการดำเนินงานเกี่ยวกับสื่อ หรือไม่" ซึ่งประธานในที่ประชุม ให้ตอบว่า "ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อน" ซึ่งถือว่าย้อนแย้งเอกสารการประชุม (หลักฐาน) ที่ระบุชัดทำสื่อตามวัตถุประสงค์ของบริษัท

แต่ฝ่ายที่จ้องจะ “เล่นงาน” พิธา ก็ไม่ยอมถอย งัดเอาหลักฐานมากมายออกมาโชว์ให้สาธารณชนได้เห็นกัน แต่ก็เรียกว่า “งงตาแตก” กันทั้งสื่อมวลชนและประชาชนก็ว่าได้ เพราะไอทีวีที่รู้จักกัน ก็ “จอดำ” ไปหลายสิบปีแล้ว แต่ดูเหมือนบางคนจะมีพยายาม “ปลุกผีไอทีวี” ขึ้นมาให้ได้อย่างไงอย่างงั้น

ตอน 6: รักติดหล่มเมื่อเขาปันใจ

ทั้งจับมือและหยิกหลังกันเดินทางมาจนถึงวันโหวตเลือกนายกฯ วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 แต่ก็ฝันสลาย เมื่อพิธาได้เสียงไม่ถึงครึ่งหนึ่ง 375 เสียงของรัฐสภา โดยผลการโหวตพิธาอย่างเป็นทางการ มีผลโหวตดังต่อไปนี้

  • เห็นชอบ 324 เสียง 
  • ไม่เห็นชอบ 182 เสียง
  • งดออกเสียง 199 เสียง
  • ขาดประชุม/ ไม่ลงมติ 44 เสียง

พอโหวตครั้งแรกไม่ผ่าน พรรคก้าวไกลก็จ่อเสนอชื่อพิธารอบที่ 2 (วันที่ 19 กรกฎาคม 2566) แต่พอถึงวันโหวตจริง ก็มีความวุ่นวายเกิดขึ้น เมื่อ ส.ส. จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ลุกขึ้นประท้วงว่าการที่สมาชิกรัฐสภาเสนอนายพิธาเป็นนายกฯ นั้น รัฐสภากำลังทำผิดข้อบังคับข้อที่ 41 ที่บัญญัติว่า “ญัตติใดที่ตกไปแล้ว ห้ามนำเสนอซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นมาเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติที่ยังไม่ได้ลงมติ” ก่อนจะเกิดการประท้วงและถกเถียงกันไปมาในรัฐสภา ซึ่งกินเวลานานหลายชั่วโมง สุดท้ายประธานสภาจึงให้มีการลงมติ และที่ประชุมรัฐสภาเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าญัตติเสนอชื่อนายพิธาเป็นญัตติที่ตกไปแล้ว ไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธาซ้ำได้

ในวันเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติเอกฉันท์รับคำร้อง กรณีหุ้นสื่อไอทีวีของพิธา และมีคำสั่งให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ซึ่งพิธาก็ได้ถอดบัตรประจำตัว ส.ส. วางลงบนนโต๊ะ ชูกำปั้นขึ้นฟ้าขณะเดินออกจากที่ประชุมไป 

ขณะที่พรรคก้าวไกลพยายามหากลยุทธ์ใหม่ ๆ เพื่อทำตามมติของประชาชน ทั้งการยื่น “ปิดสวิตช์ ส.ว.” การเดินสายดีลกับพรรคร่วมอื่น ๆ แต่ดูเหมือนพรรคเพื่อไทยจะไม่ได้คิดแบบนั้น เพราะหลังจากนั้นไม่กี่วัน ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย ก็ปรากฏภาพ นพ.ชลน่าน และแกนนำพรรคเพื่อไทย เปิดบ้านต้อนรับพรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคการเมืองขั้นตรงข้ามอื่น ๆ ในบรรยากาศร่าเริงสดใส พร้อมชน “ช็อกมิ้นต์” กันอย่างชื่นมื่น ท่ามกลางความงุนงงของประชาชนในประเทศ 

ตอน 7: เลิกแล้วค่ะ!

กระทั่งวันที่ 2 สิงหาคม 2566 นพ. ชลน่าน ก็ออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าว “ผ่าทางตัน” เพราะพรรคก้าวไกลไม่ได้รับการสนับสนุนจากทั้ง ส.ส. และ ส.ว. พรรคเพื่อไทยจึงขอถอนตัวจากการร่วมมือ 8 พรรค แล้วขอให้พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้านแทน ถือเป็นการแถลงข่าว “ยุติความสัมพันธ์” กับพรรคก้าวไกลอย่างเป็นทางการ พร้อมเสนอชื่อเศรษฐา ทวีสิน เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย

แต่ช็อกยิ่งกว่าก็คงเป็นตอนที่พรรคเพื่อไทยจูงมือพรรคภูมิใจไทย แถลงผลการเจรจาจัดตั้งรัฐบาล พร้อมตอบคำถามสื่อมวลชน โดยเฉพาะในประเด็นประโยคหาเสียง “ไล่หนูตีงูเห่า” ที่พรรคเพื่อไทยเคยใช้ โดย นพ.ชลน่าน ระบุ “เป็นเพียงการรณรงค์มาเพื่อให้ได้มาเพื่อคะแนนเสียงของการเลือกตั้ง” เรียกได้ว่าทำประชาชน “งง” กันทั้งแผ่นดินจริง ๆ

ด้านรังสิมันต์ โรม ส.ส. จากพรรคก้าวไกล ก็ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงการโดนบอกเลิกนี้ว่าต้องการให้ 8 พรรคร่วมรัฐบาลจับมือกันให้แน่นเข้าไว้ แต่ต้องยอมรับว่าการความพยายามจากพรรคก้าวไกลฝ่ายเดียวยังไม่เพียงพอ และเมื่อดูจากเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องที่พรรคก้าวไกลยอมถอยตำแหน่งประธานรัฐสภา รวมถึงให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทั้งหมดทั้งมวลพรรคก้าวไกลถอยมาเยอะ เพื่อให้ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลสามารถจัดตั้งรัฐบาลประชาชนได้ แต่เหตุการณ์ในวันนี้ก็ทำให้ทราบแล้วว่าเป็นอย่างไร

“ผมเข้าใจมาโดยตลอดว่าเรา (เพื่อไทย-ก้าวไกล) แต่งงานกันแล้ว จดทะเบียนกันแล้ว MOU เปรียบเสมือนการจดทะเบียน แต่วันนี้ ไม่ใช่เจ้าสาวรอเก้อ แต่กำลังจะมีการหย่ากันมากกว่า” 

ขณะที่อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ออกมาเปิดเผยกับสื่อมวลชนว่าทางพรรคก้าวไกลยังไม่มีการคุยเรื่องการลงมติเลือกนายกฯ ว่าจะโหวตให้พรรคเพื่อไทยหรือไม่ พร้อมระบุว่า “ผัวไปมีเมียน้อย แล้วยังต้องตามไปปูที่นอนให้อีกเหรอ”

ตอน 8: ติดตามตอนต่อไป… 

ประโยคที่ว่า “การเมืองไทยไม่มีอะไรแน่นอน” คงเป็นเรื่องจริง เพราะจนถึงวินาทีนี้ ก็ยังไม่เห็นความชัดเจนเรื่องรัฐบาลใหม่หรือนายกรัฐมนตรีคนใหม่เท่าไรนัก เอาเป็นว่าประชาชนก็ยังต้องติดตามละครการเมืองเรื่องนี้กันต่อไป 

เสียงสะท้อนจากนานาชาติ: การยุบพรรคก้าวไกลเป็นวิกฤตประชาธิปไตยไทย

เสียงสะท้อนจากนานาชาติ: การยุบพรรคก้าวไกลเป็นวิกฤตประชาธิปไตยไทย

หลังจากการผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่ออกไป สื่อต่างประเทศ และนานาชาติ ต่างออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ “การยุบพรรคก้าวไกล” จะเป็นอย่างไรบ้าง

\

"เพชร กรุณพล" โพสต์ซึ้ง! ย้อนเล่าความผูกพัน "ทิม พิธา" เผยอนาคตของ ก้าวไกล

"เพชร กรุณพล" โพสต์ซึ้ง! ย้อนเล่าความผูกพัน "ทิม พิธา" พร้อมเผยอนาคตของ ก้าวไกล สู่พรรคใหม่ที่ใหญ่ขึ้น

\

"พิธา" โบกมือพร้อมรอยยิ้ม หลังฟังคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล ยืนยัน "ทำงานต่อ"

รอยยิ้มของ "พิธา" นาทีที่เดินออกมาจากห้องฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ยืนยัน ทำงานต่อ แม้ไม่ได้อยู่ในสภาก็ตาม