“แล้วกลับมากินข้าวด้วยกันนะ” นิทรรศการที่ว่าด้วย “ผู้สูญหาย” และใจที่แตกสลายของครอบครัว
Highlight
- แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดนิทรรศการ “กลับสู่วันวาน… กลับมากินข้าวด้วยกันนะ” เนื่องในวันระลึกถึงเหยื่อของการถูกบังคับสูญหายสากล (International Day of the Victims of Enforced Disappearances) วันที่ 30 สิงหาคมของทุกปี
- นิทรรศการบอกเล่า 9 เรื่องราวของผู้สูญหายผ่านอาหารจานโปรด เพื่อไม่ให้เขาถูกลืม ไม่ให้ใครถูกลบไปจากความทรงจำ และทวงคืนความยุติธรรมที่ทุกครอบครัวต้องได้รับการชดเชยเยียวยา
- ตั้งแต่ก่อตั้งคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจของสหประชาชาติ ในปี 2553 ได้ส่งกรณีผู้ถูกบังคับสูญหายไปแล้วทั้งหมด 59,600 กรณี ไปยัง 112 ประเทศ ซึ่งจำนวนผู้ถูกบังคับสูญหายที่อยู่ระหว่างการพิจารณาเชิงรุกและยังไม่ได้รับการชี้แจงหรือยุติอยู่ที่ 46,751 กรณี จาก 97 ประเทศ
- สำหรับประเทศไทย รายงานประจำปี 2565 ของคณะทำงานระบุจำนวนผู้ถูกบังคับสูญหายทั้งสิ้น 76 กรณี ซึ่งสูงเป็นลำดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน ต่อจากฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับกลุ่มญาติผู้ถูกบังคับสูญหายในประเทศไทย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จัดนิทรรศการ “กลับสู่วันวาน… กลับมากินข้าวด้วยกันนะ” เนื่องในวันระลึกถึงเหยื่อของการถูกบังคับสูญหายสากล (International Day of the Victims of Enforced Disappearances) วันที่ 30 สิงหาคมของทุกปี บอกเล่า 9 เรื่องราวของผู้สูญหายผ่านอาหารจานโปรด เพื่อไม่ให้เขาถูกลืม ไม่ให้ใครถูกลบไปจากความทรงจำ และทวงคืนความยุติธรรมที่ทุกครอบครัวต้องได้รับการชดเชยเยียวยา พร้อมเวทีเสวนาหัวข้อ “เมื่อแตกสลาย จะกลับสู่สภาพเดิมได้หรือ” ในวันอาทิตย์ ที่ 27 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ คินใจ คอมเทมโพรารี (Kinjai Contemporary)
อังคณา นีละไพจิตร ตัวแทนกลุ่มญาติผู้ถูกบังคับสูญหายในประเทศไทย และสมาชิกคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจของสหประชาชาติ (Working Group on Enforced or Involuntary Disapprearances - WGEID) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ก่อตั้งคณะทำงานฯ ขึ้นมาในปี 2553 คณะทำงานได้ส่งกรณีผู้ถูกบังคับสูญหายไปแล้วทั้งหมด 59,600 กรณี ไปยัง 112 ประเทศ ซึ่งจำนวนผู้ถูกบังคับสูญหายที่อยู่ระหว่างการพิจารณาเชิงรุกและยังไม่ได้รับการชี้แจงหรือยุติอยู่ที่ 46,751 กรณี จาก 97 ประเทศ โดยในช่วงระยะเวลารายงานมีกรณีถูกบังคับสูญหาย 104 กรณีที่คณะทำงานสามารถคลี่คลายได้ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ได้รับเป็นเพียงส่วน “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” เท่านั้น
สำหรับประเทศไทย รายงานประจำปี 2565 ของคณะทำงานระบุจำนวนผู้ถูกบังคับสูญหายทั้งสิ้น 76 กรณี ซึ่งสูงเป็นลำดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน ต่อจากฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย
“ในฐานะของครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหาย ดิฉันพบว่า มีปัญหาและอุปสรรคมากมายในการเข้าถึงความยุติธรรมและความจริงเกี่ยวกับชะตากรรมของเหยื่อ แม้ในบางกรณีรัฐมีความพยายามในการเยีวยาด้วยการชดเชยด้วยตัวเงิน แต่การเยียวยาที่มีประสิทธิภาพต้องเป็นการเยียวยาแบบองค์รวม ทั้งการเยียวยาด้านจิตใจ การพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่สำคัญอย่างยิ่งคือการเยียวยาด้วยความยุติธรรม โดยการเปิดเผยความจริง นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ การฟื้นคืนความเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึงการช่วยเหลือครอบครัวเหยื่อให้สามารถกลับคืนสู่สังคมได้อีกครั้ง”
“รัฐต้องยอมรับความจริงว่าการชดเชยด้วยเงินอย่างเดียวไม่อาจคืนศักดิ์ศรี และลบเลือนความทรงจำที่โหดร้ายทรมานของเหยื่อได้ การเยียวยาที่ไม่ได้มาตรฐานเช่นที่กระทำอยู่ ทำให้การเปลี่ยนผ่านของเหยื่อและครอบครัวเกิดความชะงักงัน การไม่รู้ความจริงทำให้พวกเขาถูกพันธการด้วยความเจ็บปวด และไม่สามารถเชื่อมโยงตัวเองกับสังคม” อังคณากล่าว
ด้านปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงที่สุดอีกอย่างหนึ่งในสังคมไทย คือเจ้าหน้าที่รัฐ “บังคับบุคคลให้สูญหาย” ประเด็นนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบกับคนในครอบครัวผู้สูญหายเพียงอย่างเดียว แต่ส่งผลกระทบไปถึงภาพใหญ่ระดับประเทศ นั่นคือการทำให้คนอยู่ในความหวาดกลัว และระแวงจากภัยคุกคามที่เกิดจากอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมระบุว่า
“เนื่องในวันผู้สูญหายสากล แอมเนสตี้ขอขอบคุณกลุ่มญาติผู้ถูกบังคับสูญหาบในประเทศไทยทุกคนที่มาร่วมกิจกรรมกับเราในครั้งนี้ เรื่องราวอาหารทุกเมนูที่จัดอยู่ในนิทรรศการได้เล่าเรื่องราวความรัก ความคิดถึง ความหวัง ความเจ็บปวดของครอบครัวผู้สูญหายได้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งเรายืนยันว่าจะเป็นขบวนการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชน ปกป้องไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิด้วยการถูกทรมานหรืออุ้มหาย ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าวันหนึ่งจะไม่มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้ 100% แม้จะเป็นความหวังที่อาจจะต้องใช้เวลานาน แต่เราจะทำต่อไป และขอเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายให้ พ.ร.บ. นี้ไม่มีช่องโฟว่ และช่วยครอบครัวผู้สูญหายได้จริง”
ขณะที่พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้พูดถึงความก้าวหน้าของการผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2566 ว่าหน่วยงานต่าง ๆ ตื่นตัวในการใช้มาตรการป้องกันมากขึ้น ซึ่งพรเพ็ญมองว่าเป็นเรื่องที่ดี หากหน่วยงานราชการและหน่วยงานของรัฐตระหนักถึงเรื่องนี้ในวงกว้าง และเป็นหูเป็นตาให้ชาวบ้านได้จริง จะไม่มีใครที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมแล้วหายไปเลยจากกระบวนการยุติธรรม และหายไปอย่างไม่ทราบชะตากรรมจากครอบครัวและคนที่เขารัก
“ปัจจุบันกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียน และมีองค์กรภาคประชาสังคมในประเทศไทยและต่างประเทศ มาให้ความรู้เรื่ิองนี้อย่างกว้างขวางมากขึ้น แต่ยังมองว่าสังคมไทยต้องเรียนรู้พัฒนาให้ทันโลกมากขึ้น เพราะคดีทรมาน-อุ้มหาย เป็นอาชญากรรมที่มีลักษณะพิเศษ เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องมีวิธีการทำงานที่ละเอียด มีองค์ความรู้ทั้งกฎหมาย นิติเวช และจิตวิทยามาเกี่ยวข้อง ทั้งการสอบสวน การพิจารณคดี และการเยียวยาให้ครอบคลุมต่อผู้เสียหาย โดยเฉพาะญาติของผู้เสียหาย อย่างได้ผล” พรเพ็ญชี้
เยาวลักษณ์ อนุพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน ก็ยืนยันว่าหน่วยงานจะเคียงข้างบุคคลและครอบครัวผู้ถูกบังคับให้สูญหายในการตามหาความจริง เพื่อให้ทราบถึงที่อยู่และชะตากรรมของบุคคลเหล่านั้นให้หมดข้อสงสัย และจะสนับสนุนให้ทุกคนได้รับการเยียวยาจากภาครัฐให้ถึงที่สุด
“การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นสิ่งที่เราจะยอมรับให้เกิดขึ้นไม่ได้ในสังคมไทย สิ่งนี้ละเมิดอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและการจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายของบุคคลผู้สูญหาย และผู้คนรอบข้าง การละเมิดอย่างถาวรนี้จะยังคงอยู่ ตราบใดที่รัฐยังค้นหาบุคคลเหล่านี้ไม่พบ รัฐไทยต้องจริงใจ จริงจัง และทันท่วงทีต่อเหตุการณ์บังคับบุลคลให้สูญหายของบุคคลที่เกิดขึ้นตลอดมา ให้สมกับการประกาศใช้กฎหมายใหม่” เยาวลักษณ์กล่าวปิดท้าย