เนื้อหาในหมวด สุขภาพ

6 “อย่า” ที่ห้ามทำ เพื่อช่วยเหลือคนทำร้ายตัวเองผ่านออนไลน์

6 “อย่า” ที่ห้ามทำ เพื่อช่วยเหลือคนทำร้ายตัวเองผ่านออนไลน์

นอกจากการทำร้ายตัวเอง การฆ่าตัวตาย จะเริ่มพบเห็นเป็นข่าวได้มากขึ้นตามหน้าข่าวสังคมแล้ว เหตุการณ์นี้ยังเริ่มเข้ามาให้เราพบเห็นกันอย่างใกล้ตัวมากขึ้นเรื่อยๆ แถมยังเกิดขึ้นฉับพลันให้เราได้เห็นกันสดๆ ผ่านโลกออนไลน์ ที่ทุกอย่างมาไวไปไวจนเราอาจจะทำอะไรที่ไม่ระมัดระวัง จนเกิดผลที่ไม่คาดคิดตามมาได้

อ่านข่าว >> โซเชียลแตกตื่น หนุ่มไลฟ์เฟซบุ๊กกินยาฆ่าแมลง บอกจะตายให้ดูสดๆ

ดังนั้นหากพบเห็นผู้ที่กำลังจะทำร้ายตัวเองผ่านโลกออนไลน์ Sanook! Health มีคำแนะนำจากกรมสุขภาพจิตมาฝากกันค่ะ

 

6 “อย่า” ที่ห้ามทำ เพื่อช่วยเหลือคนทำร้ายตัวเองผ่านออนไลน์

  • อย่ามองว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจ
  • บางครั้งเราอาจมองว่า ข้อความตัดพ้อ คำพูดบอกลาต่างๆ หรือประโยคที่แสดงให้เห็นว่ามีความเสียใจ และไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป เป็นข้อความที่เรียกร้องความสนใจ ล้อเล่น ไร้สาระ แต่จริงๆ แล้วข้อความเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนว่าเขาเหล่านี้กำลังมีความคิดที่จะทำร้ายตัวเองอยู่ในหัว แต่ยังลังเล ไม่กล้าตัดสินใจ ดังนั้นจึงไม่ควรประมาท แล้วปล่อยให้เขาเหล่านั้นผ่านไปเฉยๆ ควรเข้าช่วยเหลือโดยทันที

     

  • อย่าท้าทาย
  • ไม่ควรใช้คำพูดที่อาจยั่วยุให้เขาเหล่านั้นเกิดแรงกระตุ้นที่อยากให้ทำร้ายตัวเองมากขึ้น เช่น “ไม่กล้าหรอก” “ไม่แน่จริงนี่นา” “ถ้าอยากทำร้ายตัวเองจริงๆ คงไม่มาโพสต์อยู่อย่างนี้” หรือแม้กระทั่ง “เอาเลย ทำเลยสิ” และ “ถ้าคิดได้แค่นี้ก็ไปเถอะ” ข้อความเหล่านี้นอกจากจะไม่ได้ช่วยเหลือเขาเหล่านี้ทั้งทางตรง และทางอ้อมแล้ว ยังเป็นข้อความที่ผู้พบเห็นคนอื่นๆ รู้สึกแย่ตามไปด้วย ควรใช้คำพูดในลักษณะที่ “ห้าม” ไม่ให้เขาทำจะดีกว่า และชวนคุยถามรายละเอียด หรือรับฟังความทุกข์ของเขา เพื่อประวิงเวลาให้เขาชั่งใจต่อไปเรื่อยๆ อย่าด่วนตัดสินใจทำอะไรรุนแรง

     

  • อย่าเยาะเย้ยถากถาง
  • บางครั้งคนที่เข้าไปโพสต์ข้อความช่วยเหลือ อาจใช้คำพูดที่ไม่น่าฟัง หรือส่งผลให้เกิดอารมณ์ และความคิดไปในทิศทางตรงกันข้าม เช่น “อย่าโง่สิ” “บ้าไปแล้วเหรอ” “มีแต่คนโง่ที่คิดได้แบบนี้” และคำตำหนิติเตียนอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดอารมณ์ในแง่ลบ เพราะจะยิ่งกระตุ้นให้เขาเหล่านั้นรู้สึกผิดกับตัวเอง มองว่าตัวเองด้อยคุณค่า ไม่มีใครรัก ไม่มีใครต้องการ และอยากทำร้ายตัวเองมากยิ่งขึ้น

     

  • อย่านิ่งเฉย
  • หากเราเห็นสัญญาณอยากทำร้ายตัวเองผ่านออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อความสั้นๆ ข้อความยาวๆ วิดีโอคลิป หรือไลฟ์สด เราไม่ควรนิ่งดูดาย แล้วปล่อยให้ผ่านไปเฉยๆ เพราะการนิ่งเป็นการเพิกเฉยที่อาจกลายเป็นการสนับสนุนทางอ้อมได้

     

  • อย่าปล่อยให้เขาอยู่คนเดียว
  • สถานการณ์ในลักษณะนี้อาจเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นในชั่ววูบ และเป็นเหตุการณ์ที่มักเกิดขึ้นในช่วงที่เขาเหล่านั้นอยู่คนเดียว ไม่มีใครให้พูดคุย หรือให้ความช่วยเหลืออยู่ใกล้ๆ เราเองที่เป็นคนในโลกออนไลน์ที่ไม่ได้อยู่ใกล้เขา หรือไม่ได้สนิทกับเขา ควรหาทางติดต่อคนรู้จัก เพื่อน หรือญาติสนิทของเขาเหล่านั้นให้รีบเข้าไปหา เข้าไปช่วยเหลือเขาถึงตัวให้เร็วที่สุดจะดีกว่า

     

  • อย่าแชร์ข้อความ คลิปวิดีโอ หรือไลฟ์สดต่อๆ กันไปอย่างไร้จุดมุ่งหมายในการช่วยเหลือ
  • เชื่อว่าหลายคนคิดว่าการช่วยกันแชร์ให้คนได้รับรู้เพิ่มมากขึ้น เป็นหนทางที่จะทำให้คนเห็นมากขึ้น และช่วยเหลือเขาเหล่านี้ได้ แต่อันที่จริงแล้วการแชร์ข้อความ คลิปวิดีโอ หรือไลฟ์สดของคนที่อยากทำร้ายตัวเอง อาจก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบในอนาคตได้ โดยเฉพาะกับเยาวชนที่ยังขาดวุฒิภาวะที่เหมาะสมอยู่มาก ดังนั้นหากอยากแชร์ ควรเป็นการแชร์เฉพาะข้อมูลของเขาเหล่านั้นให้คนอื่นๆ ทราบเพียงว่าเขาคนนี้ต้องการความช่วยเหลือ ให้ติดต่อ หรือเดินทางไปหาเขาเหล่านี้โดยเร็วที่สุดจะดีกว่า

     

    ส่วนใครที่เป็นคนที่มีความคิดอยากทำร้ายตัวเองเสียเอง หรือมีคนใกล้ตัวที่แสดงสัญญาณอยากทำร้ายตัวเองเรื่อยๆ ไม่ควรเพิกเฉย แนะนำให้พบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยตรง หรือติดต่อสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

    สัญญาณอันตราย “โรคซึมเศร้า” เสี่ยง “ฆ่าตัวตาย-ทำร้ายตัวเอง”

    สัญญาณอันตราย “โรคซึมเศร้า” เสี่ยง “ฆ่าตัวตาย-ทำร้ายตัวเอง”

    สังเกตอาการของตัวเอง และคนรอบข้างดูว่า มีใครแสดงอาการของโรคซึมเศร้า และมีแนวโน้มว่าจะทำร้ายร่างกายตัวเองหรือไม่

    แนะใส่ใจ สัญญาณเตือนภัย  \

    แนะใส่ใจ สัญญาณเตือนภัย "ฆ่าตัวตาย" สามารถช่วยได้

    วิธีสังเกตหรือประเมินว่ากำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการทำร้ายตนเองหรือไม่ ได้แก่ กำลังอยู่ในภาวะวิกฤติชีวิต และไม่สามารถปรับตัวต่อการแก้ไขปัญหาในชีวิตได้