ย้อนวีรกรรม “น้องหยก” เยาวชนนักเคลื่อนไหวที่เป็น “เหยื่อของสังคม” หรือแค่ “เด็กเกเร”?
กลับมาเป็นดราม่าร้อนในโลกโซเชียลอีกครั้ง สำหรับประเด็นของ “หยก” เยาวชนนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ที่ลงไปนอนขวางล้อรถบัส หลังจากโรงเรียนปฏิเสธไม่ให้เธอไปเข้าค่ายเรียนภาษาจีนกับเพื่อน ๆ จนกลายเป็นเรื่องดราม่าและเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนทั้งในและนอกโซเชียลอย่างร้อนแรงอีกครั้ง นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่หยกตัดสินใจ “เรียกร้องสิทธิ์” ด้วยพฤติกรรมที่หลายคนมองว่า “ก้าวร้าว” แน่นอนว่าการกระทำของเธอนำมาซึ่งเสียงก่นด่าจาก “ผู้ใหญ่” ในสังคม
ทว่า สิ่งที่หยกยึดมั่นและเชื่อถือ รวมถึงพฤติกรรมของตัวเธอนั้น คือสิ่งที่สังคมไม่เข้าใจ หรือหยกเองก็คือ “เด็กเกเร” คนหนึ่งของสังคมเท่านั้น Sanook พาทุกคนย้อนดูเหตุการณ์การเรียกร้องสิทธิ์ของหยก เพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่เด็กหญิงวัย 15 ปี อาจจะกำลังต้องการสื่อสารกับสังคม
“หยก” ผู้ต้องหาอายุน้อย
หยกถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ตั้งแต่อายุ 14 ปี หลังจากอานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อหยก จากการที่เธอแสดงออกทางการเมืองในชุมนุม “13 ตุลา หวังว่าสายฝนจะพาล้องลอยไป” ที่ลานเสาชิงช้า และโดนร้องทุกข์กล่าวโทษครั้งที่ 2 จากอานนท์คนเดิม หลังจากที่หยกไปอ่านแถลงการณ์และฉีกหมายเรียกหน้าสำนักงาน UN ซึ่งทำให้เธอกลายเป็นเยาวชนที่อายุน้อยที่สุดที่โดนดำเนินคดีมาตรา 112
ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน
หยกถูกจับกุมตัวที่ สน.พระราชวัง หลังจากที่เธอเดินทางไปติดตามการจับกุมศิลปินอิสระคนหนึ่ง ที่พ่นสเปรย์ใส่กำแพงพระบรมมหาราชวัง อย่างไรก็ตาม การจับกุมดังกล่าวไม่มีการแสดงหมาย แต่เป็นการลากตัวเธอเข้าไปในห้องสอบสวน ต่อมาเมื่อทนายความมาถึงที่ สน.พระราชวัง ก็ได้รับแจ้งว่า หยกถูกจับกุมตามหมายจับ แม้ว่าเธอจะเคยยื่นหนังสือขอเลื่อนรับทราบข้อกล่าวหา เนื่องจากติดเรียนไปแล้วก็ตาม
หยกเปิดเผยว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจชายเอามือล้วงเข้าไปในเสื้อเพื่อจะยึดไอแพด และถูกยึดทรัพย์โดยไม่เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย นอกจากนี้ การจับกุมครั้งนี้ทำให้หยกถูกแจ้งข้อหาเพิ่มเติม คือ “ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน” เนื่องจากเธอปฏิเสธการลงนามในเอกสารและการพิมพ์ลายนิ้วมือ ก่อนที่ถูกนำตัวไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง
นั่งหันหลังให้บัลลังก์
หยกถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 7 คนใช้กำลังบังคับอุ้มขึ้นรถ ขณะถูกนำตัวไปศาลเยาชนฯ และเมื่อไปถึง หยกได้เลือกนั่งหันหลังให้บัลลังก์ของคณะผู้พิพากษา เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าต้องการปฏิเสธอำนาจและกระบวนการยุติธรรมที่เธอมองว่าไม่เป็นธรรม อย่างไรก็ตาม ศาลเยาวชนฯ มีคำสั่งให้ออกหมายควบคุมตัว และส่งตัวหยกไปไว้ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี
หลังถูกคุมขังในบ้านปรานีทั้งหมด 51 วัน ก่อนได้รับการปล่อยตัว และมีผดขึ้นบริเวณหลังจำนวนมาก เนื่องจากการติดเชื้อจากน้ำที่ไม่สะอาด อากาศร้อน และยุงกัด
ย้อมผมแต่งไปรเวทไปเรียน
หลังจากหยกได้รับการปล่อยตัวจากบ้านปรานี และได้เข้ามอบตัวกับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ เพื่อศึกษาต่อในระดัยมัธยมปลาย หยกเริ่มทำสีผมและแต่งตัวด้วยชุดไปรเวทมาเรียน เพื่อเรียกสิทธิเสรีภาพเรื่องเครื่องแต่งกายและทรงผม โดยหยกโพสต์บนเฟสบุ๊กส่วนตัวว่าการแต่งกายและทรงผมไม่ใช่ตัวชี้วัดผลการเรียน ซึ่งโพสต์ดังกล่าวก็กลายเป็นประเด็นถกเถียงในวงกว้าง ถึงเรื่องสิทธิและเสรี เช่นเดียวการกับปฏิบัติตามกฎระเบียบของโรงเรียน
ปีนเข้าโรงเรียน
หยกโพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัว ระบุว่าถูกไล่ออกจากโรงเรียน เนื่องจากปัญหาเรื่องการมอบตัว เนื่องจากไม่ได้มามอบตัวกับผู้ปกครองตามสายเลือด และการยืนยันข้อมูลจำนวนนักเรียนในระบบ DMC ทำให้ทางโรงเรียนไม่อนุญาตให้เธอเข้าไปในพื้นที่ จนกระทั่งเช้าวันที่ 14 มิถุนายน 2566 หยกตัดสินในปีนรั้วโรงเรียนเข้าไปด้านใน อีกทั้งยังมีการโต้เถียงกับ รปภ. ของโรงเรียนอย่างดุเดือดอีกด้วย เหตุการณ์นี้ทำให้หยกถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก
โรยแป้งประท้วงพรรคเพื่อไทย
หยกและแนวร่วมกลุ่ม “ทะลุวัง” ถูกวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง หลังจากที่เดินทางมายังที่ทำการพรรคเพื่อไทย และทำโพลสำรวจความคิดเห็นว่า “เห็นด้วยหรือไม่ถ้าพรรคเพื่อไทยจับมือกับเผด็จการ” เพื่อแสดงจุดยินไม่เห็นด้วยที่พรรคเพื่อไทยเชิญพรรคพลังประชารัฐมาพูดคุยเพื่อหาแนวทางจัดตั้งรัฐบาล ก่อนจะแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการโรยแป้งในพื้นที่ของพรรคเพื่อไทย
ขวางรถโรงเรียน
และเหตุการณ์ล่าสุด คือหยกนั่งขวางและนอนขวางล้อรถบัส ที่กำลังจะเดินทางไปค่ายเรียนภาษาจีน เนื่องจากโรงเรียนปฏิเสธให้หยกขึ้นรถ อ้างว่าเธอไม่ได้จ่ายค่าเทอม เพราะโรงเรียนได้คืนค่าเทอมให้หยกไปทั้งหมดแล้ว แม้หยกจะพยายามต่อสู้และเรียกร้องเพื่อให้ตัวเองได้เดินทางไปเข้าค่ายกับเพื่อน ๆ แต่เธอก็ถูกสั่งให้ลงจากรถ ถึงขนาดเพื่อน ๆ ต้องอุ้มหยกลงจากรถ ซึ่งเธอได้โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัวถึงเหตุการณ์ดังกล่่าว ระบุว่า “หนูตัดสินใจไปค่ายเพราะหนูยังคงเห็นว่าโรงเรียนทำไม่ถูกที่คืนเงินมาเงียบๆแล้วถือว่าหนูไม่ใช่นักเรียนแล้ว หนูยืนยันว่าโรงเรียนไม่เคยมีหนังสือทางการแจ้งหนู ไม่เคยไล่หนูออกมีแต่ไปป่าวประกาศกับสังคม ไม่เคยให้มีส่วนร่วม”