เนื้อหาในหมวด ข่าว

ประวัติ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” กับบทบาท ส.ส. 10 สมัย ผู้ไม่เคยเป็น​ “ฝ่ายค้าน”

ประวัติ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” กับบทบาท ส.ส. 10 สมัย ผู้ไม่เคยเป็น​ “ฝ่ายค้าน”

เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นเคยกับชื่อ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” กันอยู่บ้าง เพราะชายคนนี้คือนักการเมืองที่โลดแล่นอยู่ในสนามการเมืองมาอย่างนานกว่า 40 ปี ทำหน้าที่ ส.ส.สุโขทัยถึง 10 สมัย เช่นเดียวกับดำรงตำแหน่ง “รัฐมนตรี” มาแล้วกว่า 14 ครั้ง ซึ่งสมศักดิ์ไม่เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจระหว่างทำหน้าที่รัฐมนตรีเลยแม้แต่ครั้งเดียว และช่วงที่เป็น ส.ส. เขาก็ไม่เคยเป็นฝ่ายค้านเลยสักครั้ง ประวัติน่าสนใจขนาดนี้ Sanook จึงขอพาทุกคนไปทำความรู้จักนักการเมืองรุ่นเก๋า ผู้ผ่านมาแล้วทุกยุคคนนี้กันดีกว่า

ประวัติ สมศักดิ์ เทพสุทิน

สมศักดิ์ เทพสุทิน เกิดเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2498 ที่อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย เป็นลูกชายของ “โกเหนา” ประเสริฐ เทพสุทิน เจ้าของธุรกิจผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ในสุโขทัย สมศักดิ์จบการศึกษาชั้น มศ.3 จากโรงเรียนศรีสำโรงชนูปถัมภ์ ก่อนจะเดินทางมาศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ พระนคร 

สมศักดิ์ เทพสุทิน

สมศักดิ์จบการศึกษาระดับปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และปริญญาโท รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

สมศักดิ์สมรสกับอนงค์วรรณ เทพสุทิน มีบุตร-ธิดาด้วยกัน 2 คน ดำเนินกิจการธุรกิจก่อสร้างและกิจการ “เทิดไทฟาร์ม” 

เส้นทางการเมืองของสมศักดิ์

สมศักดิ์เริ่มต้นเส้นทางการเมืองในตำแหน่ง สจ.สุโขทัย ปี พ.ศ.2524 ก่อนจะขยับมาเล่นการเมืองระดับชาติ และได้รับตำแหน่ง ส.ส.สุโขทัยสมัยแรก สังกัดพรรคกิจสังคม ในปี พ.ศ.2526 ขณะที่เขามีอายุได้เพียง 26 ปี นับตั้งแต่นั้นจนถึงปี พ.ศ.2539 สมศักดิ์ได้ตำแหน่ง ส.ส.สุโขทัย ในทุกฤดูกาลเลือกตั้ง กระทั่งได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในรัฐบาลพลเอกสุจินดา คราประยูร ปี พ.ศ.2535 

สมศักดิ์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมาแล้วถึง 14 ครั้ง โดยสมัยสังกัดพรรคกิจสังคม เขาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข 2 ครั้ง, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม 4 ครั้ง และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ก่อนที่เขาจะย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทย และได้รับตำแหนjงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และรองนายกรัฐมนตรี เมื่อครั้งย้ายมาสังกัดพรรคพลังประชารัฐ 

สมศักดิ์ เทพสุทิน

สมศักดิ์อยากนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ติดปัญหาการเจรจาโควตารัฐมนตรีกับพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้สมศักดิ์ได้นั่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กระทั่งได้แถลงลาออกจากการเป็นรัฐมนตรีและพรรคพลังประชารัฐ ในวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2566 ก่อนจะย้ายกลับไปร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย และได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลเศรษฐา 

จากกลุ่ม “วังน้ำยม” ถึง “สามมิตร”

สมศักดิ์เคยเป็นหัวเรือใหญ่ของกลุ่มการเมืองในพรรคไทยรักไทยที่ชื่อว่า “กลุ่มวังน้ำยม” พร้อมกับสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และอนุชา นาคาศัย ดูแล ส.ส. ภายในกลุ่มประมาณ 80 คน ทำให้กลุ่มวังน้ำยมกลายเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในพรรค ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งปี พ.ศ.2548 มีนโยบายที่รู้จักกันอย่างดีคือ “โคล้านตัว” ซึ่งเป็นนโยบายแจกโคให้กับเกษตรกรฟรีทั่วประเทศ แต่โครงการไม่ประสบความสำเร็จ 

หลังการรัฐประหารปี พ.ศ.2549 สมศักดิ์และกลุ่มวังน้ำยมได้ลาออกจากพรรคไทยรักไทย จึงตั้งกลุ่มของตัวเองขึ้นมาใหม่ชื่อว่า “กลุ่มมัชฌิมา” ต่อมาเขาถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี และให้กำเนิดพรรคใหม่ชื่อ “มัชฌิมาธิปไตย” ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะสั่งยุบพรรคดังกล่าว

สมศักดิ์ เทพสุทิน

ปี พ.ศ.2561 สมศักดิ์และสุริยะ ได้ตั้ง “กลุ่มสามมิตร” ขึ้นมา โดยรวบรวมอดีต ส.ส. มาอยู่ในสังกัด และเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชน เป็นนายกรัฐมนตรี กระทั่งปี พ.ศ.2566 สมศักดิ์ได้ปิดฉากกลุ่มสามมิตร และพานักการเมืองที่ใกล้ชิด ย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อไทย เพื่อเข้าร่วมรัฐบาลหลังเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 

ไม่เคยเป็นฝ่ายค้าน

หลังจากที่สมศักดิ์แถลงลาออกจากการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ และกลับมาทำงานกับพรรคเพื่อไทย เขาได้ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวด้วยความมั่นใจในประเด็นเรื่องพรรคเพื่อไทยจะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่ ระบุว่า “ตอบไม่ได้ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือไม่ แต่ผมไม่เคยอยู่ฝ่ายค้านในขณะที่เป็น ส.ส.”  

อย่างไรก็ตาม คำพูดที่ว่าเขาไม่เคยเป็นฝ่ายค้านในขณะที่เป็น ส.ส. อาจจะถูกเพียงครึ่งเดียว เพราะเมื่อย้อนกลับไปในการเลือกตั้ง ปี พ.ศ.2554 สมศักดิ์อยู่เบื้องหลังกลุ่มมัชฌิมา ที่มี ส.ส.อยู่ในสังกัดพรรคภูมิใจไทย และตอนนั้นพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ทำให้พรรคภูมิใจไทยต้องกลายเป็นฝ่ายค้าน ทว่า สมศักดิ์ไม่ได้เป็น ส.ส. ในปีนั้น และเขาก็ดิ้นรนหาทางเข้าร่วมกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่สุดท้ายก็เจรจาปิดดีลดังกล่าวไม่ได้