เนื้อหาในหมวด ข่าว

ประวัติ “กัญจนา ศิลปอาชา” ลมใต้ปีกของน้องชาย และแง่มุมเรื่อง “ช้าง” ที่หลายคนไม่เคยรู้

ประวัติ “กัญจนา ศิลปอาชา” ลมใต้ปีกของน้องชาย และแง่มุมเรื่อง “ช้าง” ที่หลายคนไม่เคยรู้

หลังเศรษฐา ทวีสิน จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ชื่อของ “กัญจนา ศิลปอาชา” ก็ปรากฏเป็นหนึ่งในคณะที่ปรึกษาติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในตำแหน่ง “ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการฯ” แต่นอกเหนือจากตำแหน่งที่ปรึกษาที่กัญจนาได้รับ เธอยังคงทำหน้าที่ “ลมใต้ปีก” ให้กับน้องชาย “วราวุธ ศิลปอาชา” อย่างไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย

แม้จะไม่เคยชอบการโลดแล่นบนเส้นทางการเมือง แต่กัญจนาก็ทำงานการเมืองมาหลายสิบปี และดำรงตำแหน่งสำคัญมามากมาย Sanook พาทุกคนไปทำความรู้จักนักการเมืองหญิงแกร่งจากเมืองสุพรรณบุรี และแง่มุมเรื่อง “ช้าง” ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้

กัญจนา ศิลปอาชา คือใคร?

กัญจนา ศิลปอาชา ชื่อเล่น หนูนา หรือนา เกิดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2503 ที่อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นลูกสาวคนโตของ “บรรหาร ศิลปอาชา” อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงแจ่มใส ศิลปอาชา ทั้งยังเป็นพี่สาวคนโตของภัคณีรัศ ศิลปอาชา (ยุ้ย) และวราวุธ ศิลปอาชา (ท็อป) 

กัญจนาจบมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จากนั้นสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สถิติศาสตร์ปัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิล สหรัฐอเมริกา

ก่อนเข้าสู่เส้นทางการเมือง กัญจนาเริ่มทำงานที่บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด ก่อนจะได้ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัทสยามออกซี่ จำกัด และเป็นประธานกรรมการบริษัทสยามอ็อกซิเดนทอล อิเลคโตรเคมีคอล 

ตามรอยพ่อเข้าสู่เส้นทางการเมือง

กัญจนาเข้าสู่งานการเมืองตามรอยบรรหาร ผู้เป็นบิดาและหัวหน้าพรรคชาติไทย โดยเธอลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2538 เนื่องจากพรรคชาติไทยหาผู้สมัครลงที่จังหวัดสุพรรณบุรีไม่ได้ กัญจนาจึงลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในปีนั้น และได้รับเลือกให้เข้าทำหน้าที่ ส.ส. ตั้งแต่ตอนนั้น และได้รับเลือกตั้งทุกครั้งที่ลงสมัครในการเลือกตั้งครั้งต่อๆ มา 

กระทั่งในปี พ.ศ.2542 กัญจนาจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก โดยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จากนั้นก็ผ่านประสบการณ์การทำงานในอีกหลายกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ในปี พ.ศ.2544, ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปีใน พ.ศ.2545, และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในปี พ.ศ.2546 

ต่อมาพรรคชาติไทยถูกตัดสินยุบพรรคในปี พ.ศ.2551 กัญจนาในฐานะคณะกรรมการบริหารพรรคจึงถูก “ตัดสิทธิ์ทางการเมือง” เป็นเวลา 5 ปี อย่างไรก็ตาม เธอกลับมาอีกครั้งในการเลือกตั้งทั่วไป ปี พ.ศ.2557 

นักอนุรักษ์ “ช้างไทย”

นอกจากทำงานด้านการเมืองแล้ว กัญจนายังทำงานเกี่ยวกับ “การอนุรักษ์ช้างไทย” อย่างแข็งขัน และมีบทบาทอย่างมากในการผลักดันการนำ “พลายศักดิ์สุรินทร์” ช้างไทยที่ถูกส่งไปเป็นทูตสันถวไมตรีที่ศรีลังกา กลับบ้านเกิดเมืองนอนในสมัยที่วราวุธ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

กัญจนาเป็นคนรักสัตว์ และเธอก็ได้อุทิศกาย ใจ และกำลังทรัพย์ เพื่อดูแลสัตว์หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นช้าง ลิง เต่า หมี แมว หมา จระเข้ โลมา หรือพะยูน เช่นเดียวกับมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย โดยเธอเคยให้สัมภาษณ์กับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ระบุว่าแรงบันดาลใจในการทำงานอนุรักษ์อยู่ในหัวใจ แล้วก็ผลักออกมาเป็นการปฏิบัติ 

“ใจเป็นคนรักสัตว์มาก ทั้งสัตว์ป่า สัตว์บ้าน สัตว์ทั้งปวง ตอนนี้เป็นศูนย์รวมรีบเรื่องสรรพสัตว์ทั้งปวง สี่ขา สองขา ไม่มีขา ทุกเรื่องเลย ถามว่าทำไมรักสัตว์มาก เพราะว่าเขาพูดไม่ได้ เขาไม่สามารถที่จะช่วยตัวเองได้ คนเป็นเผ่าพันธู์ที่รังแกเผ่าพันธุ์อื่นมากที่สุด แล้วชอบคิดว่าโลกนี้ตัวเองมีสถานะสูงกว่าสัตว์อื่น ซึ่งมันไม่ใช่นะคะ สัตว์ทุกเผ่าพันธุ์มีสิทธิ์ที่จะอยู่บนโลกนี้อย่างเท่าเทียมกัน ต้องเกื้อกูลอาศัยซึ่งกันและกัน”