“เบียร์ The Voice” ความเป็นผู้หญิงยุคใหม่ ในสังคม “ชายเป็นใหญ่” แบบไทยๆ
Highlight
- “เบียร์ The Voice” กับมุมมองความเป็นผู้หญิงยุคใหม่ ท่ามกลางสังคมชายเป็นใหญ่แบบไทยๆ ที่กำหนดคุณค่าของความเป็นหญิง
- “จำนวนคนรัก” ของผู้หญิงถูกยึดติดกับการ “ให้คุณค่าผู้หญิง” สังคมไทยมีแนวโน้มที่จะตีตราผู้หญิงที่เปลี่ยนแฟนบ่อยว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี เป็น “ของมีตำหนิ” ที่ไม่ควรเอามาเป็นแม่ของลูก
- แต่เรากลับไม่สามารถใช้ “กรอบ” เดียวกันนี้ กำหนดผู้ชายได้เลย เราจึงได้เห็นตัวอย่างมากมายของ “ผู้ชายหลายเมีย” และได้รับการเคารพเชิดชูเยี่ยงวีรบุรุษ ในขณะที่ผู้หญิงมากผัวกลายเป็น “ยัยตัวร้าย” ที่มีจุดจบเลวร้ายทุกคน
- ในสังคมชายเป็นใหญ่มักจะกำหนดกรอบความเป็นผู้หญิงเอาไว้อย่างชัดเจน ผู้หญิงที่ดีต้องไม่แต่งตัวโป๊ ไม่เปิดเนื้อเปิดหนังให้คนอื่นเห็นมากจนเกินไป ในทางกลับกัน ผู้หญิงแต่งตัวโป๊เท่ากับ “ผู้หญิงไม่ดี” และสมควรถูกคุกคาม
เป็นหนึ่งในหญิงสาวที่ตกเป็น “สนามอารมณ์” ของชาวเน็ตไทยมาอย่างยาวนาน สำหรับ “เบียร์ - ภัสรนันท์ อัษฎมงคล” หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “เบียร์ The Voice” นักร้องเสียงหวานใส พร้อมลุคเซ็กซี่ ที่ไม่ว่าจะขยับตัวไม่ทางไหน ก็มักจะตกเป็นประเด็นในโลกโซเชียลมีเดียอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเรื่อง “ความรัก” ที่เธอมักจะโดนโจมตีเสมอ ไม่เท่านั้นเบียร์ยังเป็นอีกคนที่โดน “คุกคาม” จากชาวเน็ตมาอย่างยาวนาน จนอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมเมื่อเป็นชื่อ “เบียร์ The Voice” ดีกรีความร้อนแรงก็มักจะพุ่งกระฉูด จนกลายเป็นดราม่าได้ในที่สุด
ท่ามกลางดราม่าที่ถาโถม เราในฐานะคนนอกก็ไม่มีทางรู้ได้ว่าผู้หญิงคนนี้เคยท้อแท้ หมดแรง และร้องไห้ไปมากแค่ไหน แต่เบียร์เป็นผู้หญิงอีกคนที่มีทัศนคติและมุมมองต่อ “ความเป็นผู้หญิง” ที่น่าสนใจ และนั่นอาจจะอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เธอถูกโจมตีจากสังคมชายเป็นใหญ่แบบไทยๆ ที่ให้คุณค่ากับผู้หญิง “บางกลุ่ม” อยู่เหนือกว่าผู้หญิงคนอื่นๆ และกลายเป็นค่านิยมเรื่องเพศที่ฝังรากลึกลงไปในความคิดและความเชื่อของคนในสังคม
Sanook ชวนย้อนดูมุมมองความเป็นผู้หญิงยุคใหม่ของ “เบียร์ The Voice” ที่อาจจะใหม่เกินไป จนสังคมไทยตามไม่ทัน
ผู้หญิงเปลี่ยนแฟนบ่อย… แล้วยังไง?
เบียร์เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The Matter พูดถึงประเด็นการเปลี่ยนแฟนบ่อยของตัวเอง หลังจากทุกครั้งที่เธอมีข่าวเลิกๆ รักๆ กับชายหนุ่มคนไหน ก็มักจะกลายเป็นข่าวใหญ่โต มีคนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าความคิดเห็นส่วนใหญ่ก็เป็นไปในเชิง “ไม่สร้างสรรค์” เอาเสียเลย และก็น่าเศร้ามากที่ส่วนหนึ่งในความคิดเห็นเลวร้ายเหล่านั้น มาจากกลุ่ม “ผู้หญิง” ที่ตำหนิเบียร์ด้วยทัศนคติทางเพศที่คับแคบเสียเหลือเกิน
เบียร์ระบุว่า “การเปลี่ยนแฟนบ่อยเป็นเรื่องไม่ดี เบียร์ว่าเข้าใจอะไรผิดหรือเปล่า เบียร์ว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติ คนสองคนมาเจอกัน แล้วเขารู้สึกว่าอยากลองใช้ชีวิตด้วยกัน ก็ต้องลอง ลองแล้วไม่เวิร์ก ก็แค่แยกย้าย ก็เปลี่ยนจนกว่าเราจะเจอ เบียร์ว่าคนเราโฟกัสผิดจุด เท่าที่ดูจากคอมเมนต์ ทุกคนโฟกัสเรื่องเซ็กส์ ว่าเราจะเสียตัวให้กับใครหลายคน ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องสำคัญ เรื่องเซ็กส์เป็นเรื่องธรรมชาติ”
เมื่อ “จำนวนคนรัก” ของผู้หญิงถูกยึดติดกับการ “ให้คุณค่าผู้หญิง” สังคมไทยมีแนวโน้มที่จะตีตราผู้หญิงที่เปลี่ยนแฟนบ่อยว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี เป็น “ของมีตำหนิ” ที่ไม่ควรเอามาเป็นแม่ของลูก ซึ่งค่านิยมและแนวคิดดังกล่าวสะท้อนให้เห็น “โครงสร้างชายเป็นใหญ่” ที่ชัดเจนมากๆ ในสังคมแห่งนี้ โครงสร้างที่กดทับและกำหนดให้ผู้หญิงต้องทำตัวอยู่ในกรอบที่สังคมขีดเอาไว้ แต่เรากลับไม่สามารถใช้ “กรอบ” เดียวกันนี้ กำหนดผู้ชายได้เลย เราจึงได้เห็นตัวอย่างมากมายของ “ผู้ชายหลายเมีย” และได้รับการเคารพเชิดชูเยี่ยงวีรบุรุษ ในขณะที่ผู้หญิงมากผัวกลายเป็น “ยัยตัวร้าย” ที่มีจุดจบเลวร้ายทุกคน
แต่สำหรับเบียร์ เธอเชื่อว่า “ถ้าไม่ใช่ ก็ลองใหม่” คนสองคนตัดสินใจเรียนรู้กันและกัน ตกลงเป็น “คนรักกัน” แต่เมื่อวันหนึ่งที่ทางเดินจำเป็นต้องแยกทาง ทุกคนมีทางเลือกของตัวเอง มีสิทธิ์ที่จะได้เลือกคนรักที่ “เรา” คิดว่าจะทำให้ตัวเองมีความสุขที่สุด ค่านิยมที่ว่าผู้หญิงต้องมีคนรักคนเดียวไปจนตายคือความคิดที่โครงสร้างชายเป็นใหญ่ใช้กดทับผู้หญิง และนำไปสู่ “ความสัมพันธ์เป็นพิษ” ทำร้ายร่างกายและจิตใจของกันและกันไปมา ติดกับดักความสัมพันธ์ที่ไม่ healthy กลายเป็นปัญหาสุขภาพจิตของใครมานักต่อนัก
เบียร์จึงบอกว่า “เรามีสิทธิ์ที่จะเลือก เรามีสิทธิ์ที่จะใช้ชีวิต” และนั่นคือคำพูดที่ทรงพลังที่สุดที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะพูดได้ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการ และสังคมรอบข้างก็ไม่ควรไปชี้หน้าประณามการกระทำของคนๆ หนึ่ง เพียงเพราะเขาหรือเธอคนนั้นเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง
แต่งตัวยังไง ใครก็ไม่มีสิทธิ์มาคุกคาม
“เราแต่งตัวยังไง ใครก็ไม่มีสิทธิ์มาคุกคาม เราแต่งเพราะเราภูมิใจในรูปร่างของเรา เรามองกระจกแล้วเรารู้สึกว่าเรารักตัวเอง เราภูมิใจ เรามั่นใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าให้คนอื่นมาคุกคามหรือพูดจาแย่ๆ ใส่เราได้”
นี่เป็นอีกหนึ่งคำพูดของเบียร์ที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้ ในสังคมชายเป็นใหญ่มักจะกำหนดกรอบความเป็นผู้หญิงเอาไว้อย่างชัดเจน ผู้หญิงที่ดีต้องไม่แต่งตัวโป๊ ไม่เปิดเนื้อเปิดหนังให้คนอื่นเห็นมากจนเกินไป ในทางกลับกัน ผู้หญิงแต่งตัวโป๊เท่ากับ “ผู้หญิงไม่ดี” และสมควรถูกคุกคาม พูดจาสองแง่สองง่ามใส่ หรือได้รับการประณามจากคนในสังคม ทว่า ในโลกยุคใหม่ที่คนเริ่มเข้าใจประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะสวมใส่เสื้อผ้าที่ตัวเองพึงพอใจและไม่มีใครสมควรถูกคุกคาม
ผู้หญิงหรือผู้ชายสามารถมีความสุขและรู้สึกมั่นใจกับเสื้อผ้า “ทุกชุด” ที่พวกเขาสวมใส่ได้ ใครจะแต่งตัวอย่างไร ก็ให้มันไปหนักบนเรือนร่างของเขาก็แล้วกัน อย่าให้เสื้อผ้าของคนอื่นย้ายมา “หนักหัว” ของเราเลยจะดีกว่า
และคนที่ควรจะถูกประณามมากที่สุด ก็คงจะเป็นคนที่พูดจาหรือแสดงพฤติกรรมคุกคามทางเพศคนอื่นมากกว่า เพราะมันแสดงออกให้เห็นถึงความไร้มารยาทและสะท้อนทัศนคติที่ “บ้ง” อีกอย่างคืออย่าใช้ข้ออ้างว่า “พูดขำๆ” กับถ้อยคำที่โพสต์ลงในโซเชียลมีเดียเลย เพราะมันดูบ้งแล้วบ้งอีก และเลวร้ายกว่าเดิมเสียอีก