คนจนมีสิทธิ์ไหมคะ! 7 ปี แผนปฏิรูปรถเมล์ เส้นทางลดลง จ่ายราคาแพงขึ้น
Highlight
- กรุงเทพฯ มีรถเมล์วิ่งอยู่ 272 เส้นทาง แบ่งเป็น 151 เส้นทางที่รอการปฏิรูป ปรับเปลี่ยนเส้นทางหรือยุติการวิ่ง และ 121 เส้นทางที่มีการปฏิรูปและวิ่งรถแล้ว ขณะเดียวกันยังมีอีก 43 เส้นทางที่รอการประมูลสัมปทานใหม่และออกเดินรถ
- หลังการปฏิรูปรถเมล์ ขสมก. จะมีสัมปทานลดลง จากเดิม 142 เส้นทาง เหลือเพียง 110 เส้นทาง หรือลดลง 22.5% ในขณะที่ภาคเอกชนได้สัมปทานมากขึ้นจากเดิม 62 เส้นทาง เป็น 132 เส้นทาง หรือเพิ่มขึ้น 112.9% และยังมีสายรถเมล์ที่ยังไม่มีการประมูลอีก 33 เส้นทาง
- เมื่อนำข้อมูลประเภทของสายรถเมล์ที่เคยเป็นของ ขสมก. และประเภทของสายรถเมล์ที่มีการประมูลสัมปทานใหม่ที่เปลี่ยนจาก ขสมก. ไปเป็นเอกชนมาเปรียบเทียบกันก็จะพบว่า ในจำนวน 40 สายที่มีการเปลี่ยนเจ้าของสัมปทานไปเป็นเอกชนนั้น จะมีการขึ้นราคาค่าโดยสารจากการเปลี่ยนประเภทของรถถึง 36 สาย
ปี 2558 ขสมก. เสนอ “แผนฟื้นฟู ขสมก.” โดยจะมีการปรับปรุงเส้นทางการเดินรถ ซึ่งต่อมากรมการขนส่งทางบกก็ได้จัดทำแผนแม่บทพัฒนาระบบรถโดยสารประจําทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในปี 2559 คาดว่าเส้นทางจะเพิ่มขึ้นจาก 202 เป็น 269 เส้นทาง และมีระยะทางเพิ่มขึ้นจาก 6,437 กิโลเมตร เป็น 7,833 กิโลเมตร ระยะทางเฉลี่ยตลอดเส้นทางปรับลดลง 3 กิโลเมตร ทั้งยังให้เอกชนเข้ามาเป็นผู้ให้บริการเดินรถได้ จากที่แต่ก่อนมีเพียง ขสมก. เท่านั้น
จากนั้นเป็นต้นมาก็เริ่มมีการดำเนินการตามแผนปฏิรูป โดยในแต่ละช่วงก็มีทั้งการยุติการเดินรถในบางเส้นทาง ปรับเปลี่ยนเส้นทางการเดินรถ และประมูลเส้นทางการเดินรถใหม่เรื่อยมา Sanook หยิบข้อมูลของ Rocket Media Lab ว่าด้วยข้อมูลรถเมล์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล หลังแผนปฏิรูปออกมานาน 7 ปีแล้ว มาฝากทุกคน!
สายรถเมล์ที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง?
ภายใต้แผนปฏิรูปรถเมล์ที่ยังไม่เสร็จสิ้น กรุงเทพฯ มีรถเมล์วิ่งอยู่ 272 เส้นทาง แบ่งเป็น 151 เส้นทางที่รอการปฏิรูป ปรับเปลี่ยนเส้นทางหรือยุติการวิ่ง และ 121 เส้นทางที่มีการปฏิรูปและวิ่งรถแล้ว ขณะเดียวกันยังมีอีก 43 เส้นทางที่รอการประมูลสัมปทานใหม่และออกเดินรถ โดยใน 43 เส้นนี้ มี ขสมก. เป็นเจ้าของสัมปทานแล้ว 9 สาย (รอการจัดหารถใหม่มาบรรจุตามเงื่อนไขที่กำหนดจึงจะออกวิ่งได้) และอีก 33 สาย* (รวมสาย 68ก. ที่ต้องประมูลใหม่แต่ยังอนุญาตให้วิ่งอยู่ เป็น 34 สาย) ที่ยังไม่มีการประมูลเจ้าของสัมปทาน
และเมื่อปฏิรูปเสร็จ ยุติการวิ่งในบางสาย ปรับเปลี่ยนเส้นทางใหม่ในบางสาย และประมูลสัมปทานเส้นทางใหม่ในบางสาย กรุงเทพฯ จะมีรถเมล์ 276 เส้นทางตามแผนปฏิรูปรถเมล์ ซึ่งตามแผนคาดว่าจะเสร็จสิ้นในปี 2567 ทั้งนี้หากนำเอาสายรถเมล์ทั้ง 276 เส้นทาง เมื่อมีการปฏิรูปเสร็จมาจำแนก ก็จะพบว่า
- เป็นเส้นทางเดิม 66 เส้นทาง
- เป็นการปรับเส้นทาง 146 เส้นทาง
- เป็นเส้นทางใหม่ 64 เส้นทาง
การออกแบบเส้นทางยังอยู่ภายใต้แนวคิดในการดึงคนเข้าระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ ซึ่งก็คือระบบรางอย่างรถไฟฟ้าที่ถือเป็นขนส่งมวลชนหลักของกรุงเทพฯ ทั้งโดยนโยบายของ กทม.เองและนโยบายของกรมการขนส่งทางบก โดยใช้รถเมล์เป็นตัวเชื่อมต่อให้คนเข้าสู่ระบบรางมากขึ้น และจากข้อมูลยังพบว่านอกจากจะดึงคนเข้าสู่ระบบรงรางแล้ว ยังดึงเข้าสู่ระบบอากาศยานมากขึ้นอีกด้วย โดยหลังปฏิรูปพบว่ามีการปรับเปลี่ยนเส้นทางให้สายรถเมล์วิ่งเข้าสนามบินสุวรรณภูมิมากขึ้นถึง 8 สาย ผ่านในเขตลาดกระบัง 7 สาย และประเวศ 1 สาย
การปรับเส้นทางให้สั้นลง หรือยาวขึ้นของแผนปฏิรูปนั้น อยู่ภายใต้แนวคิดในการคำนวณความคุ้มค่าในการเดินรถ และปริมาณผู้ใช้บริการเป็นหลัก ทั้งการคำนวณว่าใน 1 เส้นทาง ต้องมีความยาวไม่เกิน 40 กม. และไปเชื่อมต่อกับระบบราง ซึ่งเป็นจุดที่ผู้ให้บริการยังทำกำไรได้ ทำให้เส้นทางเดินรถระยะไกลที่เคยมีหดหายลง ประชาชนผู้ใช้บริการจะต้องนั่งรถหลายต่อและมีค่าใช้จ่ายการในเดินทางมากขึ้น
ปฏิรูปหรือแปรรูป
แผนปฏิรูปรถเมล์ทำให้ ขสมก. ลดบทบาทจากการที่เคยเป็นผู้ผูกขาดใบอนุญาตเดินรถเมล์ทั้งหมด มาเป็นผู้ประกอบการเดินรถเทียบเท่ากับบริษัทเอกชน โดยให้กรมการขนส่งทางบกเป็นผู้กำกับดูแลเส้นทางรถเมล์ต่างๆ แทน ซึ่งส่วนหนึ่งจากแผนปฏิรูปคือการใช้ระบบ 1 สาย 1 สัมปทาน และต้องประมูลสัมปทานใหม่ ซึ่ง ขสมก. ก็จะต้องแข่งขันกับริษัทเอกชน
เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลก่อนและหลังการปฏิรูปรถเมล์จะพบว่า หลังการปฏิรูปรถเมล์ ขสมก. จะมีสัมปทานลดลง จากเดิม 142 เส้นทาง เหลือเพียง 110 เส้นทาง หรือลดลง 22.5% ในขณะที่ภาคเอกชนได้สัมปทานมากขึ้นจากเดิม 62 เส้นทาง เป็น 132 เส้นทาง หรือเพิ่มขึ้น 112.9% และยังมีสายรถเมล์ที่ยังไม่มีการประมูลอีก 33 เส้นทาง (หากรวมสาย 68ก. ที่ยังอนุญาตให้วิ่งอยู่เพื่อรอการประมูลใหม่จะเป็น 34 เส้นทาง)
ประชาชนจ่ายแพงขึ้น
ปัจจุบันมีรถเมล์อยู่ 272 สาย มีการปฏิรูปไปแล้ว 121 สาย เมื่อจำแนกในรายละเอียดของการปฏิรูปทั้ง 121 สาย จะพบว่ามีรถเมล์ 40 สาย ที่แต่เดิมเป็นสัมปทานของ ขสมก. แต่จากการปฏิรูปรถเมล์ ทำให้เกิดการประมูลสัมปทานใหม่และเอกชนประมูลได้ไป โดยใน 40 เส้นทางนี้ที่ถูกโอนย้ายไปเป็นของเอกชน แต่เดิมในแต่ละเส้นทางมีประเภทรถเมล์ที่แตกต่างกันไป ประกอบด้วย
- เส้นทางที่มีเฉพาะรถเมล์ประเภทรถธรรมดา (ครีม-แดง) 17 เส้นทาง ซึ่งมีราคาเริ่มต้น 8 บาท
- เส้นทางที่มีทั้งรถธรรมดา/ปรับอากาศ (ยูโรทู) 9 เส้นทาง ซึ่งมีราคาเริ่มต้น 8/13 บาท
- เส้นทางที่มีเฉพาะรถปรับอากาศ (ยูโรทู) 5 เส้นทาง ซึ่งมีราคาเริ่มต้น 13 บาท
- เส้นทางที่มีเฉพาะรถปรับอากาศ NGV 4 เส้นทาง ซึ่งมีราคาเริ่มต้น 15 บาท
- เส้นทางที่มีทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศ (ครีมน้ำเงิน) 3 เส้นทาง ซึ่งมีราคาเริ่มต้น 8/12 บาท
- เส้นทางที่มีเพียงรถปรับอากาศ (ครีมน้ำเงิน) 1 เส้นทาง ซึ่งมีราคาเริ่มต้น 12 บาท
- เส้นทางที่มีทั้งรถปรับอากาศ (ครีมน้ำเงิน) และรถปรับอากาศ (ยูโรทู) 1 เส้นทาง ราคาเริ่มต้น 12/13 บาท
เมื่อนำข้อมูลประเภทของสายรถเมล์ที่เคยเป็นของ ขสมก. และประเภทของสายรถเมล์ที่มีการประมูลสัมปทานใหม่ที่เปลี่ยนจาก ขสมก. ไปเป็นเอกชนมาเปรียบเทียบกันก็จะพบว่า ในจำนวน 40 สายที่มีการเปลี่ยนเจ้าของสัมปทานไปเป็นเอกชนนั้น จะมีการขึ้นราคาค่าโดยสารจากการเปลี่ยนประเภทของรถถึง 36 สาย และไม่เปลี่ยนแปลงราคาค่าโดยสาร 4 สาย
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ ที่นี่