กล้ากินไหม? นักวิทยาศาสตร์เปิดตัว “ไอศกรีมจากพลาสติก” สะท้อนปัญหาอาหารและขยะล้นโลก
นักวิทยาศาสตร์อังกฤษเปิดตัวอาหารที่ทำจาก “ขยะพลาสติก” เป็นครั้งแรกของโลก นั่นคือ “ไอศกรีมวานิลลา” เพื่อสะท้อนปัญหาและสร้างความตระหนักเรื่องอาหารในอนาคต และปัญหาขยะพลาสติกล้นโลก
ไอศกรีมดังกล่าวแท้จริงแล้วคือ “งานศิลปะจัดวาง” ที่ใช้ชื่อว่า “Guilty Flavours” (รสชาติความรู้สึกผิด) ซึ่งเป็นผลงานของเอเลนอร่า ออร์โทลานี่ วัย 27 ปี ที่ต้องการตั้งคำถามกับคนทั่วไปเรื่องการมองขยะพลาสติก และสิ่งที่เรากินเข้าไป ซึ่งหลายคนก็อาจจะไม่ทันได้ระวังตัวด้วยซ้ำว่าสิ่งที่เรากินทุกวันนี้มีอะไรเจือปนอยู่ในนั้นบ้าง
“Guilty Flavours เป็นสิ่งที่ฉันเชื่อว่าจะเป็นตัวอย่างแรกของไอศกรีมที่สร้างมาจากขยะพลาสติกค่ะ มันทำมาจากพลาสติกที่เราหาเจอได้ทั่วไปในชีิวิตประจำวันเลย อย่างพวกขวดพลาสติก” เอเลนอร่าให้สัมภาษณ์
ขั้นตอนการผลิตไอศกรีมดังกล่าว พัฒนาขึ้นโดยนักวิทยาศาสตร์ในเมืองเอดินบะระ สก็อตแลนด์ โดยทำการควบคุมพลังงานการเผาผลาญของแบคทีเรียและเอนไซม์ ให้เป็นเหมือนตัวทำปฏิกิริยาเชิงนิเวศ เพื่อไปย่อยสลายพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (polyethylene terephthalate) หรือ PET พลาสติกชนิดหนึ่ง แล้วเปลี่ยนให้มันกลายเป็น “วานิลลิน” สารประกอบที่ให้รสชาติวานิลลานั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ดร.โจแอนนา แซดเลอร์ นักเทคโนโลยีชีวภาพ แห่งมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ก็ชี้ว่า เธอช่วยเอเลนอร่าในด้านเครื่องมือต่างๆ แต่ไอศกรีมดังกล่าวก็ยังเป็นโครงงานวิจัยของนักศึกษาเท่านั้น และยังไม่สามารถให้มนุษย์รับประทานได้จริง
เอเลนอร่า ระบุว่าผลงาน Guilty Flavours ได้แรงบันดาลใจจากตอนที่เธอรู้สึกหงุดหงิดมากๆ กับความล้มเหลวของระบบรีไซเคิล ที่จะหยุดยั้งการสร้างขยะพลาสติกไม่ให้ไปสู่สิ่งแวดล้อม แล้วตอนนี้มันก็กำลังส่งผลกระทบกับวิกฤตด้านอาหาร
ทั้งนี้ วานิลลาถูกเรียกว่า “ทองสีเขียว” เพราะมันเป็นเครื่องเทศราคาแพงเป็นอันดับที่สองของโลก รองจากหญ้าฝรั่นเลยทีเดียว