ประวัติ "พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์" ผบ.ทบ.คนใหม่ ผู้เข้ามาเปลี่ยนภาพลักษณ์ทหารไทย
หลัง “พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์” หรือ บิ๊กต่อ เข้ามารับตำแหน่ง “ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)” ก็เริ่มประเดิมงานแรกด้วยการสั่งสอบปมน้ำมันหาย 2 แสนลิตร สร้างความชื่นใจให้กับประชาชนที่ติดตามข่าวมาอย่างใกล้ชิด จนหลายคนอยากรู้จัก ผบ.ทบ. คนใหม่ไฟแรงคนนี้ Sanook จึงขอพาทุกคนไปทำความรู้จัก “บิ๊กต่อ” น้องรักของ “บิ๊กตู่” ผู้เข้ามาเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ทหารไทยให้ดีมากขึ้นกว่าเดิม
“พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์” คือใคร
พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ หรือ “บิ๊กต่อ” เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2507 ที่จังหวัดลพบุรี บิดาเป็นทหารปืนใหญ่อยู่ที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ จังหวัดลพบุรี จึงอาจเรียกได้ว่า บิ๊กต่อเติบโตขึ้นมาในครอบครัวทหารและเมืองทหาร ทั้งยังสามารถสอบเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 23 ได้สำเร็จ
ต่อมาเข้าเรียนที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 34 ก่อนจะเข้าเรียนที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก รุ่นที่ 74 และคว้าปริญญารัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยบูรพา
เส้นทางสายทหารของบิ๊กต่อ
พล.อ.เจริญชัย เคยเป็นผู้บังคับหมวดปืนเล็ก กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 พัน 1 รอ.) ก่อนจะเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ได้ขึ้นเป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์, รองแม่ทัพภาคที่ 1, แม่ทัพน้อยที่ 1, แม่ทัพภาคที่ 1, ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก, และรองผู้บัญชาการทหารบก ก่อนจะได้รับเลือกจากสภากลาโหม ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก คนที่ 43 ต่อจาก พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้
อ้างอิงจากสำนักข่าว Thaipost ระบุว่า พล.อ.เจริญชัย “เดินตามเส้นทางเหล็กเป๊ะ ไม่หลุด หรือเป๋ออกนอกเส้นทางไปแม้แต่ก้าวเดียว” โดย พล.อ.เจริญชัย ได้ชื่อว่าเป็น “น้องรัก” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพี่น้อง 3 ป. ที่ล้วนแล้วแต่กำเนิดมาจาก ร.21 รอ. ด้วยกันทั้งสิ้น
ขึ้นเป็นใหญ่ในจังหวะของการปรับตัว
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถาบันทหารเป็นสถาบันที่เก่าแก่ของประเทศ และถูกยึดโยงกับการเมืองมานาน จึงถูกสังคมตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์เรื่อยมา อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้ง พล.อ.เจริญชัย ให้ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. คนใหม่ ก็เป็นความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของสถาบันทหาร ปรับตัวให้เข้ากับสังคมในปัจจุบันและอนาคต รวมไปถึงการวางรากฐานเพื่อการปฏิรูปกองทัพได้อย่างราบรื่นในอนาคต ซึ่ง พล.อ.เจริญชัย มีภาพลักษณ์ที่เปิดกว้างและรับฟัง จึงถือเป็นสัญญาณที่ดีของการเปลี่ยนแปลงสำหรับวงการทหารและสังคมไทย