เนื้อหาในหมวด ข่าว

สรุปเหตุ “กราดยิงพารากอน” เรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่มันเกิดขึ้นแล้ว!

สรุปเหตุ “กราดยิงพารากอน” เรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่มันเกิดขึ้นแล้ว!

เหตุกราดยิงที่พารากอน ศูนย์การค้าชื่อดังใจกลางกรุง สร้างความหวาดกลัวและสะเทือนใจให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวมากมาย ถือเป็นเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยอีกครั้ง และจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากหลายภาคส่วน เพื่อแก้ไขและสร้างสังคมที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน 

Sanook สรุปเหตุการณ์ “กราดยิงพารากอน” ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงตอนนี้ แน่นอนว่านี่คือเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว เราทุกคนก็จำเป็นต้องเรียนรู้ ถอดบทเรียน และผลักดันเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง

เสียงปืนกลางห้างดัง

เวลาประมาณ 16.20 น. ของวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา เกิดเหตุเสียงดังคล้ายเสียงปืนหลายนัด ภายใน “พารากอน” ศูนย์การค้าชื่อดังใจกลางสยาม ส่งผลให้ผู้ใช้มาใช้บริการทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติพากันวิ่งหนีออกมาจากห้าง ท่ามกลางสายในที่ตกลงมาอย่างหนัก 

ขณะที่โลกออนไลน์ก็มีการรายงานสด จน #พารากอน ติดเทรนด์อันดับ 1 บนแอพพลิเคชัน X บางคนอ้างว่าได้ยินเสียงปืนออกมาจากหลายชั้น บางคนอ้างว่าเห็นคนถูกยิงในห้องน้ำ และบางคนก็บอกว่ากำลังซ่อนตัวอยู่ภายในห้าง โดยมีการแปลและโพสต์ข้อความเป็นภาษาอังกฤษเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับทราบและหาทางป้องกันตัวเอง

ทั้งนี้ เหตุการณ์นี้สร้างความตกใจและหวาดกลัวให้กับประชาชนผู้รับข่าวสาร มีการพูดคุย ถกเถียง และวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างร้อนแรงบนโลกโซเชียล พร้อมกับการติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด 

ผู้ก่อเหตุคือเด็ก

ตำรวจใช้เวลาไม่นานก็สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ โดยผู้ก่อเหตุยอมมอบตัว และพบว่าเป็นเยาวชนชาย อายุ 14 ปี มีอาการหวาดระแวงว่าจะมีคนตามมาทำร้าย โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ระบุว่าผู้ก่อเหตุมีอาการทางจิตเวช รักษาที่โรงพยาบาลราชวิถี อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถสอบปากคำผู้ก่อเหตุได้มากนัก แต่ผู้ก่อเหตุอ้างว่ามีคนสั่งว่าต้องยิงใคร

ต่อมา มีการส่งข้อมูลว่าผู้ก่อเหตุมาจากครอบครัวฐานะดี พ่อและแม่มีหน้าที่การงานที่ดี และแม่เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อเรื่องการวางแผนอนาคตและการศึกษาให้กับลูก และตัวผู้ก่อเหตุเองก็เป็นนักเรียนของโรงเรียนทางเลือกชื่อดังแห่งหนึ่ง

ผู้เสียชีวิตทั้งหมด 2 ราย

เหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีิวิต 2 ราย เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน 1 ราย ซึ่งมาเที่ยวห้างกับลูกสาวฝาแฝด ขณะเกิดเหตุลูกไม่ทราบว่าแม่หายไปไหน จึงเดินไปขอความช่วยเหลือจากคนไทย จนทราบว่าแม่ถูกยิงเสียชีวิต และชาวเมียนมา 1 ราย ซึ่งเข้ามาทำงานในเมืองไทย ขณะเกิดเหตุเธอนำเงินไปเข้าธนาคารให้กับนายจ้าง 

นอกจากนี้ ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 5 ราย

ค้นบ้านเจออาวุธ

เมื่อผู้ก่อเหตุถูกจับกุม เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้ทำการตรวจค้นบ้านพักของผู้ก่อเหตุ ก่อนจะพบปืนบีบีกัน ล้อหุ่นสงครามแบบ M4 กระสุนปืน M16 กระสุนปืนลูกซอง และกระสุนปืนขนาด 9 มม. เพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่งในห้องนอนของผู้ก่อเหตุ

อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองของผู้ก่อเหตุไม่ทราบว่าผู้ก่อเหตุนำของกลางทั้งหมดมาจากที่ใด 

ไม่ใช่เพราะเกม

หลังจับกุมผู้ก่อเหตุได้ ก็มีข่าวถูกแพร่กระจายไปในอินเทอร์เน็ตว่าผู้ก่อเหตุชื่นชอบการเล่นเกมแนวต่อสู้ คล้ายเป็นการเชื่อมโยงเกมกับพฤติกรรมของผู้ก่อเหตุ ซึ่งทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในโซเชียลมีเดียว่า พฤติกรรมความรุนแรงของผู้ก่อเหตุ ไม่ได้เกิดจากการเล่นเกม แต่เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากสังคมรอบข้าง 

ทั้งนี้ งานวิจัยของสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (APA) ก็ยืนยันว่าเนื้อหาความรุนแรงในเกม ไม่มีความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมก้าวร้าว ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของแพทริก มาร์กี และคริสโตเฟอร์ เฟอร์กูสัน ที่ระบุว่า ผู้ก่อเหตุยิงในโรงเรียนมักมีพฤติกรรมผิดปกติมากกว่า และวิดีโอเกมที่รุนแรงเป็นเพียงกิจกรรมปกติที่เล่นกันในหมู่เพื่อน ไม่สอดคล้องหรือเชื่อมโยงกับพฤติกรรมของบุคคล

เสียงจากผู้เชี่ยวชาญ

ในขณะที่เกิดเหตุ มีการส่งต่อชื่อและรายละเอียดของผู้ก่อเหตุ เฟสบุ๊กแฟนเพจ “เข็นเด็กขึ้นภูเขา”​ จึงได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า “ขอให้นักข่าวระวังการรายงานข่าวเกี่ยวกับผู้ก่อเหตุยิงที่ห้างพารากอน ไม่ควรออกข่าวในลักษณะเชิงดราม่า ให้ความสนใจ เปิดเผยข้อมูลต่างๆ ของผู้ก่อเหตุเกินไป เพราะเหตุความรุนแรงในอเมริกามีภาวะ Social media contagion เป็นพฤติกรรมเลียนแบบทำตามๆ กัน (เพราะรู้สึกว่าทำแล้วมีสื่อและคนมากมายสนใจ)” 

ขณะที่ ทิชา ณ นคร หรือ ป้ามล ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก ก็ได้โพสต์ข้อความ กล่าวว่าการกระทำของผู้ก่อเหตุในครั้งนี้ “ไม่ใช่แค่ตัวเด็กเท่านั้นที่นำเขามาถึงจุดนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า… จำเลยร่วมของเด็กน้อยคือพ่อแม่ “ที่รักลูกที่สุด (ขอโทษพ่อแม่ด้วยนะคะ) ที่สำคัญ… ต้องไม่ปฏิเสธว่าระบบนิเวศทางสังคม (คือการเมือง คือรัฐบาล คือระบบราชการ และไม่ขอโทษ)” 

สังคมขอ Emergency Alert

หลังเกิดเหตุการณ์ ประชาชนก็ได้ร่วมสะท้อนและเรียกร้องให้รัฐบาลจัดทำ Emergency Alert เพื่อแจ้งเตือนบุคคลในพื้นที่เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้ โดยเหตุการณ์กราดยิงที่พารากอน ประชาชนรับรู้ข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดียเป็นส่วนใหญ่

นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงกฎหมายการควบคุมปืน ที่ควรมีความจริงจังและเข้มงวดมากขึ้นกว่านี้ โดยจากการสำรวจขององค์กร Small Arms Survey ก็เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีการครอบครองอาวุธปืนมากเป็นอันดับที่ 13 ของโลก และเป็นประเทศที่ครอบครองปืนสูงที่สุดในอาเซียน 

ฆาตกรรมเพราะเป็นหญิง (Femicide) 

ชาวเน็ตบางส่วนก็ได้ตั้งข้อสังเกตถึงเหตุการณ์ในครั้งนี้ ว่าเป็นการฆาตกรรมเพราะเป็นผู้หญิง (Femicide) เนื่องจากเหยื่อ 6 ใน 7 ราย ล้วนแล้วแต่เป็นผู้หญิง และสถานที่ก่อเหตุแรกก็เป็น “ห้องน้ำหญิง” 

Femicide หรือ อิตถีฆาต เป็นการจงใจฆ่าผู้หญิงที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก โดยมีแรงจูงใจจากความเกลียดชังผู้หญิง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบัน เด็กผู้ชายหลายคนเริ่มหันเข้าสู่กลุ่มอินเซล (Incels) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกรอบคิดเกลียดชังผู้หญิง และถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก โดยเฉพาะจากแอนดรูว์ เทต ผู้เปรียบเสมือนไอดอลของผู้ชายอินเซลทั่วโลก อย่างไรก็ตาม แอนดรูว์ เทต ยังอยู่ในเรือนจำ เพราะถูกจับกุมจากการก่ออาชญากรรมสารพัด

พารากอนแถลงแสดงความเสียใจ

ศูนย์การค้าสยามพารากอนได้ออกแถลงการณ์ถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ระบุว่า

“สยามพารากอน ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับครอบครัวผู้เสียชีวิต และขอให้ผู้บาดเจ็บทุกท่านปลอดภัย ขอขอบคุณตำรวจ และอาสาสมัครทุกนาย และทีมรักษาความปลอดภัยของสยามพารากอนที่ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่เข้ายุติสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเต็มกำลัง และขอขอบพระคุณทุกกำลังใจที่มอบให้แก่พวกเราในวิกฤตการณ์ครั้งนี้”

ความเสียใจของบุคคลที่สูญเสีย

หลังเกิดเหตุการณ์เศร้า ญาติของผู้เสียชีิวิตชาวจีนก็ยังไม่ได้เดินทางมาติดต่อรับร่างไป เนื่องจากยังคงทำใจไม่ได้ ด้านนายจ้างของหญิงสาวเมียนมาที่เสียชีวิต ก็ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ระบุว่าผู้เสียชีวิตเป็นลูกน้องที่เก่ง มีความสามารถพูดได้หลายภาษา แม้ลูกน้องจะเสียชีวิตไปแล้ว เธอก็ตั้งใจว่าจะแจ้งความเอาผิดกับผู้ก่อเหตุ เรียกร้องค่าเสียหายให้กับลูกน้องของเธอ พร้อมจะช่วยจ่ายเงินดูแลพ่อแม่ของลูกน้องที่เสียชีวิต ให้เหมือนว่าเธอยังมีชีวิตอยู่ 

ทั้งนี้ วันนี้ (4 ต.ค. 66) ก็มีนักท่องเที่ยวชาวจีนมาวางดอกไม้ไว้อาลัยผู้เสียชีวิต พร้อมเปิดเผยว่าตกใจและกังวลกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เชื่อว่าอาจทำให้นักท่องเที่ยวหวั่นใจที่จะมาเที่ยว

โครเอเชียช็อก กราดยิงบ้านพักคนชรา ดับ 6 ศพ หนึ่งในผู้เสียชีวิตคือแม่ของมือปืน

โครเอเชียช็อก กราดยิงบ้านพักคนชรา ดับ 6 ศพ หนึ่งในผู้เสียชีวิตคือแม่ของมือปืน

โครเอเชียช็อก กราดยิงบ้านพักคนชรา ดับ 6 ศพ หนึ่งในผู้ตายคือแม่ของมือปืน หลังก่อเหตุหนีไปอยู่ในคาเฟ่

สะเทือนขวัญ! \

สะเทือนขวัญ! "เด็กฟินแลนด์วัย 12 ปี" บุกยิงเพื่อนในโรงเรียน เสียชีวิต 1 เจ็บ 2

เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 67 เกิดเหตุรุนแรงไม่คาดฝันในประเทศฟินแลนด์ เมื่อนักเรียนวัย 12 ปีรายหนึ่งก่อเหตุกราดยิงเพื่อนในโรงเรียน เป็นเหตุให้มีผู้ผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 2 คน

\

"หนุงหนิง" เหยื่อเด็ก 14 ตั้งใจบริจาคอวัยวะ แต่กระสุนโดนจุดสำคัญ ทำบุญครั้งสุดท้ายไม่ได้

"หนุงหนิง" เหยื่อเด็ก 14 ตั้งใจบริจาคอวัยวะหลังรักษามะเร็ง แต่กระสุนโดนจุดสำคัญ ทำบุญครั้งสุดท้ายไม่ได้

จาก “เด็ก 14 กราดยิง” ถึงเวลาที่ผู้ใหญ่ต้องให้ความสำคัญกับ “สุขภาพจิต” ของเด็กหรือยัง

จาก “เด็ก 14 กราดยิง” ถึงเวลาที่ผู้ใหญ่ต้องให้ความสำคัญกับ “สุขภาพจิต” ของเด็กหรือยัง

เปิดสถิติ “ปัญหาสุขภาพจิต” ของเด็กไทยที่อาจถูกผู้ใหญ่มองข้าม และตัวเลข “จิตแพทย์เด็ก” ผู้จะเข้ามาช่วยเหลือเยาวชน ที่อาจมีน้อยเกินไป ไม่เพียงพอต่อความต้องการของเด็ก

เปิดสถิติ “การครอบครองปืน” เมื่อประเทศไทยรั้งอันดับ 1 ของอาเซียน

เปิดสถิติ “การครอบครองปืน” เมื่อประเทศไทยรั้งอันดับ 1 ของอาเซียน

เปิดสถิติการครอบครองปืนของคนไทย รั้งอันดับ 1 ประเทศที่มีปืนมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่เหตุกราดยิงในไทยดูจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุกปี