เนื้อหาในหมวด ข่าว

ย้อนรอย “6 ตุลา” กับ 2 เหตุการณ์สังหารหมู่ที่เป็นตราบาปของสังคมไทย

ย้อนรอย “6 ตุลา” กับ 2 เหตุการณ์สังหารหมู่ที่เป็นตราบาปของสังคมไทย

วันที่ “6 ตุลา” ย้อนกลับมาอีกครั้ง เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้ย้อนรำลึกถึง “เหตุการณ์สังหารหมู่” ที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยถึง 2 ครั้ง 2 คราในห้วงเวลาวันเดียวกัน สร้างความสะเทือนใจให้กับคนในสังคม และนำไปสู่การพูดคุยเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา ทว่า จนถึงวันนี้ สังคมไทยได้เรียนรู้หรือลงมือแก้ไขปัญหาความรุนแรงเพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์เกิดขึ้นซ้ำรอยแล้วหรือยัง

Sanook ย้อนรอย 2 เหตุการณ์สังหารหมู่ที่เกิดขึ้นในวันที่ “6 ตุลา” เพื่อเรียนรู้และสร้างความตระหนักในประเด็นความรุนแรงที่สังคมไทยต้องจริงจังกับการแก้ไขปัญหาเสียที 

6 ตุลาคม 2519

วันที่ 6 ตุลาคม 2519 เกิดเหตุการณ์ “การสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” หรือ Thammasat (University) massacre ที่รุนแรงและน่าเศร้าสลดมากที่สุดของประวัติศาสตร์ไทย เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนฝ่ายขวาใช้กำลังเข้าจับกุมและปราบปรามนักศึกษาที่ชุมนุมประท้วงอยู่บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และท้องสนามหลวง เพื่อต่อต้านการเดินทางกลับประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี

เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธสงครามปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างรุนแรง ขณะประชาชนกลุ่มหนึ่งที่เข้าร่วมกับฝ่ายรัฐก็ได้ทำการลงประชาทัณฑ์ผู้ชุมนุมอย่างรุนแรง ส่งผลให้มีผู้เสีียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก โดยบันทึกระบุว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 46 คน เมื่อทำการชันสูตรพลิกศพ ก็พบว่าสาเหตุการเสียชีวิตมีทั้งถูกยิงด้วยอาวุธปืน ถูกทุบตี และถูกเผา อย่างไรก็ตาม สถิติอย่างไม่เป็นทางการของมูลนิธิป๋วย ระบุว่าน่าจะมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้มากกว่า 100 คน

เหตุการณ์สังหารหมู่ในครั้งนี้กลายเป็นข่าวที่ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก แต่รัฐไทยไม่มีการจับกุมผู้ลงมือสังหารนักศึกษาและประชาชนแม้แต่คนเดียว ขณะที่นักศึกษาและผู้ชุมนุมที่รอดชีวิตจำนวน 3,094 คน ถูกจับกุมภายในวันนั้น ก่อนจะทยอยได้รับการปล่อยตัว จนเหลือ 19 คน ที่ถูกลงโทษคุมขังและดำเนินคดีนานกว่า 2 ปี และได้รับการปล่อยตัวในท้ายที่สุด อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ถูกหยิบมากล่าวถึงโดยภาครัฐและฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง คล้ายกับรัฐบาลใช้วิธีการปล่อยให้สังคมลืมเลือนเหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งนั้นไปเสีย

แม้แต่ในหนังสือเรียนประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของประเทศไทยก็คล้ายจะพยายามไม่ลงรายละเอียด ไม่พูดถึง หรือข้ามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กระทั่งมีความพยายามของคณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และโครงการบันทึก 6 ตุลา จึงมีการรื้อฟื้นเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าวขึ้นมา เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ เรียนรู้ และเรียกร้องความยุติธรรมที่รัฐเคยกระทำกับประชาชน 

6 ตุลาคม 2565 

วันที่ 6 ตุลาคม 2565 หรือ 46 ปีหลังเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ธรรมศาสตร์ ก็เกิดเหตุสังหารหมู่ขึ้นอีกครั้งในประเทศไทย ณ จังหวัดหนองบัวลำภู ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีิวิต 38 ราย ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็กเล็ก 24 ราย กลายเป็นข่าวที่สร้างความสลดใจให้กับคนทั่วโลก และนับเป็นการฆาตกรรมหมู่โดยผู้ก่อเหตุเพียงคนเดียวที่ “ร้ายแรงที่สุด” ในประวัติศาสตร์ไทย 

เหตุการณ์ในครั้งนี้เกิดขึ้น หลังจากผู้ก่อเหตุ ซึ่งเป็นอดีตนายตำรวจได้ขับรถออกจากบ้านพัก และใช้ปืนยิงเจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลแห่งหนึ่ง ก่อนจะเดินเข้าไปก่อเหตุในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงพักกลางวันและเด็กๆ กำลังนอนหลับอยู่ภายในอาคาร ผู้ก่อเหตุใช้มีดกับปืนที่เตรียมมา สังหารครูพี่เลี้ยงและเด็กๆ อย่างโหดเหี้ยม ก่อนที่ผู้ก่อเหตุจะเดินทางกลับบ้านพัก ซึ่งระหว่างทางก็ขับรถชน ใช้มีดฟัน และใช้ปืนยิงผู้สัญจรไปมาด้วย กระทั่งมาถึงบ้านก็สังหารลูกเลี้ยงและภรรยา รวมถึงตัวเอง 

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจาก “เหตุกราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา” เพียง 2 ปี ซึ่งสังคมก็ลุกขึ้นมาตั้งคำถามเรื่อง “การครอบครองอาวุธปืน” ของพลเรือนไทย ที่มีสถิติระบุว่าพลเรือนไทยมีอัตราการครอบครองอาวุธปืนสูงเป็นอันดับ 1 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งยังมีผู้ครอบครองปืนที่ไม่ได้รับอนุญาต (ปืนเถื่อน) อีกจำนวนมาก

หลังจากนั้น ภาครัฐและภาคประชาชนก็หันกลับมาช่วยกันถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งประเด็นเรื่องสุขภาพจิตของประชาชน การเลี้ยงดู การครอบครองอาวุธปืน สถาบันตำรวจ รวมถึงการทำงานของสื่อมวลชน อย่างไรก็ตาม เมื่อเหตุการณ์ดังกล่าวจบลง ก็ดูเหมือนกับว่าประชาชนในสังคมก็ค่อยๆ ลืมเลือนความรุนแรงที่เกิดขึ้น ขณะที่ยังไม่มีการแก้ไขหรือป้องกันที่เป็นรูปธรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมา

\

"ความทรงจำ" เครื่องมือคืนความยุติธรรมให้ประชาชน

จากถังแดงสู่เหตุการณ์ 6 ตุลา สะท้อนให้เห็นการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนของภาครัฐ แม้รัฐจะพยายามทำให้เหตุการณ์เหล่านี้หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ไทย แต่ความทรงจำของผู้ถูกกระทำเป็นเครื่องตอกย้ำว่าความรุนแรงเหล่านั้นเคยเกิดขึ้นจริง

รู้จัก “บันทึก 6 ตุลา” หอจดหมายเหตุออนไลน์บรรจุบาดแผลในประวัติศาสตร์ไทย

รู้จัก “บันทึก 6 ตุลา” หอจดหมายเหตุออนไลน์บรรจุบาดแผลในประวัติศาสตร์ไทย

รู้จักเว็บไซต์ “บันทึก 6 ตุลา” หอจดหมายเหตุออนไลน์ว่าด้วยเรื่องราวและหลักฐานในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519