เนื้อหาในหมวด สุขภาพ

5 เรื่องควรรู้เกี่ยวกับโรค “แอนแทรกซ์”

5 เรื่องควรรู้เกี่ยวกับโรค “แอนแทรกซ์”

สมัยนี้อาจจะไม่ใช่โรคที่คุ้นหูสักเท่าไร แต่หากย้อนกลับไปราว 10 ปีที่แล้ว เราอาจจะเคยได้ยินโรคที่มีชื่อว่า “แอนแทรกซ์” ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่มาจากการบริโภคเนื้อวัวที่ติดเชื้อ อย่างไรก็ตามเราควรทราบเพิ่มเติมด้วยว่าโรคแอนแทรกซ์มีสาเหตุมาจากอะไร อันตรายอย่างไร และเราจะป้องกันอย่างไร เพื่อหลีกเลี่ยงการติดโรคแอนแทรกซ์โดยไม่รู้ตัว

 

5 เรื่องควรรู้เกี่ยวกับโรค “แอนแทรกซ์”

  • โรคแอนแทรกซ์ เป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้นได้ในสัตว์กินหญ้าแทบทุกชนิด ทั้งสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยง เช่น โค แพะ หรือแกะ โดยสัตว์ติดจากการเล็มหญ้าที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส แอนทราซิส (Bacillus anthracis) เข้าไป เชื้อโรคนี้จะทำให้สัตว์ป่วยและตายอย่างรวดเร็ว

  • โรคแอนแทรกซ์สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนจากการสัมผัสทางผิวหนังที่มีบาดแผล หรือติดต่อจากการหายใจ หรือผ่านการกินเนื้อสัตว์ปนเปื้อนเชื้อ

  • ในประเทศไทย พบการติดเชื้อทางผิวหนังโดยการสัมผัสสัตว์ป่วย และผลิตภัณฑ์สัตว์ และติดเชื้อจากการกินเนื้อสัตว์ที่ป่วยแล้วไม่ได้ปรุงให้สุกด้วยความร้อนทั่วถึง

  • อาการของผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคแอนแทรกซ์ จะแตกต่างกันไปตามลักษณะการติดต่อ หากเป็นการติดเชื้อที่ผิวหนัง อาการที่พบได้แก่ ผิวหนังที่ติดเชื้อมีลักษณะเป็นผื่นนูน คัน แต่ไม่เจ็บ ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นตุ่มพุพองแล้วแตกเป็นแผลแดงนูน ซึ่งต่อมาเกิดเป็นสะเก็ดสีดำ (Eschar) และเกิดเป็นแผลเนื้อเน่าตายได้ หากเป็นการติดเชื้อผ่านระบบทางเดินอาหาร จะมีไข้ ปวดมวนท้อง คลื่นไส้ อาเจียน คล้ายกับอาการของอาหารเป็นพิษ และหากเป็นการติดเชื้อผ่านระบบทางเดินหายใจ จะมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว หายใจลำบาก ซึ่งหากเข้ารับการรักษาไม่ทัน หรือไม่ถูกต้อง จะทำให้เสียชีวิตได้

  • วิธีการป้องกันโรคแอนแทรกซ์ คือ หากพบสัตว์ป่วยตายผิดปกติ ให้รีบแจ้งปศุสัตว์หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทันที หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือชำแหละซากสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรค หากจำเป็นต้องสัมผัสให้สวมถุงมือยางและหน้ากากอนามัยทุกครั้ง หลีกเลี่ยงนำสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่สงสัยว่าป่วยตายมากิน แจกจ่าย ขาย หรือนำไปให้สัตว์อื่นกิน เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรค และเกษตรกรหรือผู้ที่ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรค ควรนำสัตว์ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรค
  •  

    อย่างไรก็ตาม ภาวะโรคแอนแทรกซ์ในประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นที่จะเรียกว่ากำลังเป็นโรคระบาด เพราะนอกจากจะยังไม่พบการระบาดแพร่กระจายในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งแล้ว เรายังไม่พบการติดต่อของโรคจากมนุษย์สู่มนุษย์ พบเพียงมนุษย์ที่ติดเชื้อจากการทานเนื้อสัตว์ หรือสัมผัส และใกล้ชิดกับสัตว์ที่ติดเชื้อเท่านั้น ดังนั้นอย่าเพิ่งตื่นตระหนก แต่ควรระมัดระวังการใกล้ชิด หรือไม่ทานเนื้อสัตว์ที่ป่วยจะดีที่สุด