เนื้อหาในหมวด ข่าว

มอง \

มอง "ผีกระสือ" ในอีกแง่มุม เมื่อผีถูกเชื่อมโยงกับความเป็นหญิง สังคม และการเมือง

เวลาพูดถึง “ผีกระสือ” เชื่อว่าภาพที่หลายคนคิดถึงก็คงหนีไม่พ้น “ผีผู้หญิง” ที่กลางวันก็ใช้ชีวิตปกติกับคนอื่นในสังคม แต่ตกดึกกลับ “ถอดหัวกับไส้” ออกจากร่างไปหากิน มีแสงสีเขียวลอยล่องอยู่บนฟ้ายามค่ำคืน ตามหาของเน่าเสียหรือสิ่งปฏิกูลกินเป็นอาหาร โดยเฉพาะ “รกเด็ก” ที่เป็นของโปรดที่กระสือชอบกินเป็นพิเศษ และสืบทอดทายาทด้วย “การกินน้ำลาย” 

ในแง่มุมของความเป็นผี ผีกระสือคือปีศาจร้ายที่ใครๆ ก็หวาดกลัวและอยากหลีกหนีให้ไกล แต่อีกแง่มุมหนึ่ง ผีกระสือถูกเชื่อมโยงอยู่กับ “ความเป็นหญิง” ด้วยการสร้างภาพผีผู้หญิงที่มีความน่ากลัว อาฆาตมาดร้าย และไร้เหตุผล ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นภาพการกดขี่ผู้หญิงของ “สังคมชายเป็นใหญ่” จนกลายเป็นความเคยชินที่เราทุกคนไม่ตั้งคำถาม Sanook ชวนทุกคนมอง “ผีกระสือ” ในอีกแง่มุม เมื่อผีถูกเชื่อมโยงกับความเป็นหญิง สังคม และการเมือง

“ผีกระสือ” คืออะไร

ตามคำของคนแก่เฒ่าเล่าเรื่องราวว่า “ผีกระสือ” คือผีผู้หญิงที่ใช้ชีวิตปกติ ปะปนกับชาวบ้านทั่วไปในช่วงตอนกลางวัน แต่ตกดึกจะถอดหัวกับไส้ออกจากร่างไปหากิน โดยมีแสงไฟสีเขียวล่องลอยไปมาในยามค่ำคืน ผีกระสือชอบกินของเน่าเสียหรือสิ่งปฏิกูลต่างๆ โดยเฉพาะ “รกเด็ก” ซึ่งเป็นของโปรดที่ผีกระสือชอบกิน ดังนั้น ในสมัยโบราณ บ้านไหนมีหญิงตั้งครรภ์ ชาวบ้านก็มักจะเชื่อว่าผีกระสือจะต้องไปที่บ้านหลังนั้น จึงมักนำไม้ไผ่ปลายแหลมหรือของมีคนต่างๆ มาล้อมบ้านไว้

นอกจากนี้ ผีกระสือจะสืบทอดทายาทด้วยการให้กินน้ำลายของตัวเอง คนใดที่ดื่มกินน้ำลายของผีกระสือเข้าไป ก็จะซึมซับความเป็นผีกระสือไปทีละน้อย และในที่สุดก็จะกลายเป็นผีกระสือ

อย่างไรก็ตาม ตำนานผีกระสือยังปรากฏอยู่ในเรื่องเล่าของประเทศเพื่อนบ้านของไทยเหมือนกัน เช่น ในแถบมาเลเซีย ซึ่งเรียกผีกระสือว่า “ฮันตูปินังกาลัน” เป็นตำนานของหญิงผู้เป็นแม่ ที่หยิบขวดน้ำมันมนต์มาทารอบคอ จากนั้นตัวกับหัวของเธอจึงแยกออกจากกัน โดยมีตับไตไส้พุงติดออกมาด้วย เวลาออกหากินจะมีแสงสีเหลือง และเสียงชู่ๆ เพื่อขับไล่สัตว์ที่เข้าใกล้

ผีสางกับความเป็นหญิง

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ “อุษาคเนย์” ในสมัยก่อน ถือเป็น “สังคมแบบหญิงเป็นใหญ่” นั่นคือผู้หญิงมีบทบาทมากกว่าผู้ชาย ผู้หญิงจะใช้ความเชื่อเรื่องผีเป็นเครื่องมือในการปกครองชาวบ้าน โดยส่งต่อในรูปแบบของเรื่องเล่าที่แฝงแง่คิด ศีลธรรมอันดี และรักษาระเบียบของสังคม โดยผีมักเป็นเพศหญิงที่ทำหน้าที่ปกป้องคนดีและคอยลงโทษคนทำผิด

แต่เมื่อสังคมเริ่มพัฒนาเปลี่ยนแปลงตามแนวโน้มของ “สังคมชายเป็นใหญ่” กษัตริย์กลายเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจ ขณะที่ศาสนาพุทธก็เริ่มมีบทบาทและสถานะที่สูงขึ้น ความเชื่อเรื่องผีสางจึงถูกลดความสำคัญลง อ้างอิงจากงานวิจัยเรื่อง “ความคิดแบบปิตาธิปไตยกับการพัฒนาภาพลักษณ์ของผีในวรรณกรรมไทย: กรณีศึกษาจากเรื่องแม่นาก” ระบุว่า การปฏิรูประบบศักดินาในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ช่วยกระตุ้นให้สังคมพัฒนาไปเป็นแบบปิตาธิปไตย เกิดพื้นที่เชื่อมต่อและผลิตความหมายเพื่อรองรับอำนาจของผู้ชาย และสร้างชนชั้นผู้ปกครองที่สำคัญมากคือ “วัด” ชนชั้นสูงเท่านั้นที่จะได้รับการศึกษา และผู้ชายเท่านั้นที่จะสามารถบวชเรียนได้ 

เมื่อศาสนาพุทธเรืองอำนาจ ศาสนาผีก็ถูกลดความสำคัญ ขณะที่แนวคิดชายเป็นใหญ่กลายเป็นแนวคิดหลักของสังคม การสร้างภาพลักษณ์ผีที่มักจะมีความเกรี้ยวกราด ไม่มีเหตุผล เต็มไปด้วยการใช้อารมณ์ อยากแก้แค้น อาฆาตพยาบาท และผู้จะสามารถปราบผีผู้หญิงเหล่านี้ได้ ก็คือ “พระ” หรือ “ผู้ชาย” เท่านั้น 

ผีกระสือสะท้อนผู้หญิงที่น่าเกลียดน่ากลัว

สังคมไทยผลิตซ้ำตัวละครผีผู้หญิงตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นผีกระสือ แม่นากพระโขนง หรือผีปอป โดยวิธีคิดของนักวิชาการกลุ่มเผมินิสต์ มองว่าภาพผีปีศาจผู้หญิงมีความน่ากลัว สกปรก น่ารังเกียจ น่าขยะแขยง เต็มไปด้วยเลือดและของสกปรก ทั้งยังถูกทำให้เป็นอื่น ซึ่งภาพลักษณ์ของผีผู้หญิงเหล่านี้เชื่อมโยงไปถึง “ธรรมชาติของความเป็นหญิง” ทั้งเรื่องการมีประจำเดือน การตั้งครรภ์ และความเป็นแม่ ที่ถูกแนวคิดแบบชายเป็นใหญ่มองว่าเป็นสิ่งสกปรก สลับซับซ้อน และน่ากลัว 

เช่นเดียวกับผีกระสือ ที่แม้จะมีอำนาจ แต่ก็มีความน่าเกลียดน่ากลัว มีแต่หัวลอยไปมา มีไส้พันกัน ผมเผ้ายุ่งเหยิง และชอบกินของสกปรก เช่น อุจจาระ เลือด เครื่องในวัวควาย เป็นต้น 

สภาพของสังคมไทยที่พัฒนาขึ้นจากความเชื่อเรื่องผี จนมาสู่ศาสนาพุทธและสังคมสมัยใหม่ ล้วนเป็นกลไกที่ตอกย้ำให้ผู้หญิงกลายเป็นเพศที่อ่อนแอและมีปัญหา ผู้หญิงถูกทำให้เป็นสิ่งที่ต้องกดปราบ และแม้จะเป็นผีที่มีอำนาจมากแค่ไหนก็ตาม สุดท้ายก็ต้องถูกผู้ชายที่มีอำนาจมากกว่าปราบอยู่ดี

\

"น้ำเงิน บุญหนัก" เปลือยชีวิตในวงการเกือบ 70 ปี เผยความเชื่อเคยเจอกระสือกับตา

อดีตดารารุ่นลายคราม น้ำเงิน บุญหนัก เผยประสบการณ์ในวงการบันเทิงกว่า 70 ปี และความเชื่อเรื่องกระสือ