"เรือฟริเกต" คืออะไร คุ้มค่ากับการล้มดีล "เรือดำน้ำ" หรือเปล่า
หนึ่งประเด็นที่ประชาชนกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ คือเรื่องการเปลี่ยน “เรือดำน้ำ” เป็น “เรือฟริเกต” หลังสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมาให้สัมภาษณ์เรื่องการล้มดีลเรือดำน้ำกับทางการจีน ซึ่งนำไปสู่การถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างถึงเรื่องความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน อย่างไรก็ตาม เรือฟริเกตก็กลายเป็นสิ่งที่คนเริ่มให้ความสนใจว่ามีคุณสมบัติอย่างไร กองทัพเรือไทยมีแล้วกี่ลำ แล้วมันจะคุ้มค่ากับการล้มดีลเรือดำน้ำหรือไม่
Sanook พาทุกคนไปทำความรู้จัก “เรือฟริเกต” อาวุธด้านการรบทางน้ำของทหาร
“เรือฟริเกต” คืออะไร
เรือฟริเกต (Frigate) คือเรือรบบนน้ำ ที่สามารถทำการรบได้ 3 มิติ คือ รบบนฟ้า รบบนน้ำ และรบใต้น้ำ จึงเป็นเรือรบหลักของกองทัพเรือทั่วไป โดยกองทัพเรือไทยมีเรือฟริเกตที่ประจำการอยู่ทั้งหมด 5 ลำ ได้แก่ เรือตากสิน, เรือนเรศวร, เรือกระบุรี, เรือสายบุรี, และเรือภูมิพล
สำหรับเรือฟริเกตที่ประจำการในกองทัพเรือไทยนั้น แบ่งออกเป็นกองเรือฟริเกตที่ 1 กองเรือยุทธการ กองทัพเรือ และกองเรือฟริเกตที่ 2 กองเรือยุทธการ กองทัพเรือ
- กองเรือฟริเกตที่ 1 กองเรือยุทธการ กองทัพเรือ
ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2496 ถือเป็นหน่วยกำลังรบทางเรือที่เก่าแก่ที่สุดหน่วยหนึ่งของกองทัพเรือไทย และมีเรือที่มีขีดความสามารถในการปราบเรือดำน้ำ อย่างไรก็ตาม ได้รับการเปลี่ยนชื่อหน่วยตามการแก้ไขอัตราจัดกองเรือยุทธการใหม่ พร้อมกับเปลี่ยนแปลงกองกำลังทางเรือของกองเรือฟริเกตที่ 1 ด้วยการปลดประจำการเรือฟริเกตชุดเรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก 2 ลำ ต่อมาในปี พ.ศ.2565 ก็ได้ปลดประจำการเรือฟริเกตชุดเรือหลวงตาปี และปลดประจำการเรือหลวงคีรีรัฐ ในปี พ.ศ.2566
- กองเรือฟริเกตที่ 2 กองเรือยุทธการ กองทัพเรือ
จัดตั้งเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2535 โดยกระทรวงกลาโหมได้อนุมัติให้กองทัพเรือปรับโครงสร้างหน่วยกำลังรบใหม่ แบ่งกองเรือตามประเภท จากเดิม 4 กองเรือ เป็น 9 กองเรือ โดยกองเรือฟริเกตที่ 2 ประจำการด้วยเรือฟริเกตที่ซื้อมาจากประเทศจีน พร้อมเปลี่ยนหมายเลขเรือจากเลขตัวเดียวเป็นเลขสามหลัก ทั้งนี้ กองเรือฟริเกตที่ 2 มีหน้าที่ในการจัดและเตรียมกำลัง สำหรับการปฏิบัติการผิวน้ำ การปราบเรือดำน้ำ และการป้องกันภัยทางอากาศ
เรือฟริเกตชุดเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช
เรือฟริเกตชุดเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เป็นชุดเรือฟริ้กตของกองทัพเรือไทย ออกแบบมาจากแบบของเรือพิฆาตชั้นควังแกโทมหาราช ของกองทัพเรือสาธารณรัฐเกาหลี ที่ใช้มาตรฐานเดียวกับกองทัพเรือสหรัฐ เป็นเรือชุดที่ต่อขึ้นเพื่อทดแทนเรือฟริเกตชุดเรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่ปลดประจำการในปี พ.ศ.2560
เรือฟริเกตชุดเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชถือเป็นเรือฟริเกตสมรรถนะสูงของกองทัพเรือไทย เรือมีการออกแบบให้ใช้เทคโนโลยีในการล่องหน หรือตรวจจับได้ยาก สามารถปฏิบัติการรบได้ทั้ง 3 มิติ คือบนผิวน้ำ ใต้น้ำ และอากาศ สามารถปฏิบัติการได้ในสภาวะแวดล้อมที่มีการปนเปื้อนทางเคมี ชีวะ รังสิ และนิวเคลียร์ สามารถทนทะเลได้ในระดับ 8 ความสูงคลื่นประมาณ 12 เมตร ทำความเร็วสูงสุดได้ 30 นอต มีระยะในการปฏิบัติการไกล 4,000 ไมล์ทะเล ปฏิบัติการต่อเนื่องได้ 21 วัน และใช้กำลังพบปฏิบัติงานทั้งหมด 141 นาย
สำหรับระบบป้องกันตัวเอง เรือฟริเกตชุดเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชประกอบไปด้วยอาวุธปล่อยนำวิถี ปืนต่อสู้อากาศยาน ปืนใหญ่เรือ อาวุธป้องกันระยะประชิด ระบบเป้าลวงอิเล็กทรอนิกส์ ระบบควบคุมความเสียหายของเรือสามารถทำได้ทั้งจากศูนย์กลางและแบบแยกส่วน รวมถึงระบบป้องกันการแพร่สัญญาณต่างๆ ออกจากตัวเรือ และการดักจับรบกวนสัญญาณต่างๆ
นอกจากนี้ บริเวณท้ายเรือยังเป็นดาดฟ้าเฮลิคอปเตอร์และโรงเก็บเครื่องบิน สามารถรองรับเฮลิคอปเตอร์น้ำหนักไม่เกน 10 ตัว ทั้งยังสามารถดัดแปลงโรงเก็บอากาศยานให้เป็นพื้นที่พักสำหรับผู้ประสบภัยได้ชั่วคราว ประมาณ 100 คน
“เรือฟริเกต” คุ้มกับการล้มดีล “เรือดำน้ำ” ไหม
กองทัพเรือไทยมีความต้องการเรือดำน้ำ เนื่องจากประเทศไทยไม่มีเรือดำน้ำนับตั้งแต่สงครามโลก จึงเกิดเป็นโครงการประมูลแข่งกันหลายประเทศ แต่สุดท้ายประเทศจีนเป็นผู้ชนะ โดยข้อเสนอของจีนคือซื้อเรือดำน้ำ 2 แถม 1 พร้อมติดเครื่องยนต์เยอรมัน แต่ด้วยปัญหาการเมืองภายในประเทศของเยอรมนี และประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน ทำให้เยอรมนีไม่ขายเครื่องยนต์ให้กับจีน ซึ่งส่งผลกระทบกับประเทศไทยที่เซ็นสัญญาซื้อเรือดำน้ำกับประเทศจีน
ด้วยเหตุนี้ ทำให้สุทิน คลังแสง ทำการเจรจากับจันเพื่อเปลี่ยนเรือดำน้ำเป็นเรือฟริเกต อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงการซื้อเรือฟริเกตจากจีน โดยแสดงความกังวลถึงเรื่องความเข้ากันกับเรือฟริเกตที่ไทยกำลังใช้อยู่ และระบบที่กองทัพเรือไทยไม่เคยใช้งาน ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับเรือลำอื่นๆ ได้ และอาจนำไปสู่การลงทุนใหม่อีกหลายพันล้าน
แล้วเรือฟริเกตจะคุ้มค่าหรือมีประสิทธิภาพทดแทนเรือดำน้ำได้หรือไม่นั้น อาจจะไม่มีคำตอบที่ชัดเจนสำหรับคำถามนี้ เนื่องจากเรือดำน้ำก็มีหน้าที่และประสิทธิภาพของมันเอง เช่นเดียวกับเรือฟริเกต ที่อาจจะใช้ทดแทนกันไม่ได้ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม การที่ไทยไม่ได้รับเรือดำน้ำที่เซ็นสัญญาซื้อกับจีน ก็ไม่ใช่ความผิดของไทยหรือกองทัพเรือ แต่เป็นความผิดของผู้ขาย ที่ต้องมีการรับผิดชอบ แต่นอกจากประเทศไทยจะไม่ปรับหรือเรียกร้องการชดเชยใดๆ จากจีน ประเทศไทยยังจ่ายเงินเพิ่มเพื่อซื้อเรือฟริเกตที่แพงกว่า ซึ่งประเด็นนี้อาจจะไม่ใช่ทางออกที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน