SOFT POWER คืออะไร แล้วประเทศไทยจะเอาอะไรไปขายให้ชาวโลก
กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งสำหรับเรื่อง “SOFT POWER (ซอฟต์พาวเวอร์)” หลังรัฐบาลตั้งเป้าผลักดันนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นนโยบายภายใต้ “ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ” แม้คำว่าซอฟต์พาวเวอร์จะไม่ใช่คำศัพท์ใหม่และหลายคนก็คงคุ้นหูกับคำๆ นี้พอสมควร แต่เชื่อว่ายังมีคนอีกมากมายที่ไม่เข้าใจว่าซอฟต์พาวเวอร์ที่รัฐบาลพูดถึงคืออะไร แล้วประเทศไทยมีซอฟต์พาวเวอร์ด้านไหนที่จะเอาไปขายให้ชาวโลก
- “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์” นโยบายจากรัฐบาล เพื่อยกระดับทักษะคนไทย
- อนุทินเผยสัปเหร่อ ผู้อำนวยการสร้างเป็นคนภูมิใจไทย ลั่นพรรคเน้นซอฟต์เพาเวอร์
Sanook พาทุกคนทำความรู้จักคำว่า ซอฟต์พาวเวอร์ (SOFT POWER) และไปดูซอฟต์พาวเวอร์แบบไทยๆ ที่จะช่วยสร้างเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจให้ประเทศไทยได้หลายล้านล้านบาท
SOFT POWER คืออะไร
SOFT POWER (ซอฟต์พาวเวอร์) คือการใช้อิทธิพลทางวัฒนธรรม การทำให้คนมีส่วนร่วม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือการเปลี่ยนแปลงทางความคิด โดยแนวคิดซอฟต์พาวเวอร์นี้ได้รับการพัฒนาโดย Joseph S. Nye อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากสถาบันจอห์น เอฟ เคเนดี มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ตั้งแต่ปี 1977 ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงเรื่องการเมือง การปกครอง นโยบายสาธารณะ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เกิดขึ้นได้กับผู้คนทุกชนชั้นและสังคมการเมืองทุกรูปแบบ ทั้งยังแฝงอยู่ในกิจกรรมต่างๆ และเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคม
Joseph S. Nye ระบุว่าซอฟต์พาวเวอร์ประกอบไปด้วย วัฒนธรรม (culture), ค่านิยม (value), และนโยบายต่างประเทศ (foreign policy) ซึ่งมีลักษณะสำคัญคือการทำให้คนอื่นชื่นชมและหลงใหลด้วยการเชิญชวน ไม่ใช่ด้วยการบังคับขู่เข็ญ อาจยกตัวอย่างในกรณีของสหรัฐอเมริกาที่เสนอวัฒนธรรม ค่านิยมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และทุนนิยม ผ่านภาพยนตร์ฮอลลีวูด หรือวัฒนธรรมและความเป็นเกาหลีที่ถูกส่งผ่านอุตสาหกรรม K-Pop ของเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะเป็นเพลง ซีรีส์ และภาพยนตร์ เป็นต้น
ซอฟต์พาวเวอร์จึงเท่ากับอำนาจในการชักจูงหรือโน้มน้าวผู้คนในประเทศอื่นๆ ให้ปฏิบัติตามสิ่งที่ตัวเองต้องการ ด้วยการสร้างสินค้า ภาพลักษณ์ หรือความชื่นชม ซึ่งอำนาจแบบนี้จะได้รับการยอมรับมากกว่าการออกคำสั่งหรือบังคับขู่เข็ญ หรือที่เรียกว่าฮาร์ดพาวเวอร์ (HARD POWER) ที่เป็นอำนาจเชิงบังคับอย่างอำนาจทางทหาร
SOFT POWER ของไทยมีอะไรบ้าง
สำหรับประเทศไทย กระทรวงวัฒนธรรมได้มีนโยบายที่จะผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ความเป็นไทย ใน 5 ด้าน หรือที่เรียกว่า “5F” ได้แก่
- F - FOOD อาหารไทย
- F - Film ภาพยนตร์ไทย
- F - Fashion แฟชั่นไทย
- F - Fighting ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย
- F - Festicval เทศกาลประเพณีไทย
นอกเหนือจาก 5F แล้ว หลายคนยังชี้ว่าประเทศไทยก็ยังมี “การนวด” ที่อาจจะสามารถนำมาใช้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้เช่นกัน เนื่องจากประเทศไทยมีชื่อเสียงเรื่องฝีมือการนวด และชาวต่างชาติก็มักจะแวะเวียนมานวด เมื่อเดินทางมาท่องเที่ยวเมืองไทย เช่นเดียวกับ “การสัก” ที่เราอาจจะเคยเห็นว่าแม้แต่ดาราฮอลลีวูดก็เดินทางมาสักที่เมืองไทย หรือ "รถตุ๊กตุ๊ก" ที่ไม่ว่านักท่องเที่ยวจากชาติไหน ก็ต้องมาลองนั่งเวลามาเที่ยวไทยทุกคน
SOFT POWER ไทยอยู่ตรงไหนของโลก
การจัดอันดับความสามารถด้านซอฟต์พาวเวอร์ของ Global Soft Power Index ในปี 2023 พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 41 จาก 120 ประเทศทั่วโลก โดย 5 ประเทศแรกที่มีซอฟต์พาวเวอร์ที่ทรงพลังมากที่สุด มีดังต่อไปนี้
- สหรัฐอเมริกา
- สหราชอาณาจักร
- เยอรมนี
- ญี่ปุ่น
- จีน
การผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผ่านการใช้งบประมาณ นโยบายที่สร้างสรรค์ และการพัฒนาทักษะของผู้คนในประเทศ