เนื้อหาในหมวด ข่าว

ประวัติ \

ประวัติ "กัณวีร์ สืบแสง" สส. "พรรคเป็นธรรม" ที่พร้อมยืนเคียงข้างพรรคก้าวไกล

อีกหนึ่ง สส. ที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นพิเศษในช่วงหลังเลือกตั้ง คือ “กัณวีร์ สืบแสง” เลขาธิการและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ อันดับ 1 ของ “พรรคเป็นธรรม” ที่ยืนยันจะเคียงข้าง “พรรคก้าวไกล” ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล

Sanook เปิดประวัติ “กัณวีร์ สืบแสง” ทั้งในบทบาทนักการเมือง และนักสิทธิมนุษยชนผู้มีประสบการณ์ทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยาวนาน 

“กัณวีร์ สืบแสง” คือใคร

กัณวีร์ สืบแสง (ชื่อเล่น นล) คือเลขาธิการ และ สส. บัญชีรายชื่อของพรรคเป็นธรรม จบการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ก่อนจะคว้าปริญญาตรี เกีบรตินิยมอันดับ 2 จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และปริญญาโทความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กฎหมายระหว่างประเทศ และมานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยออเรกอน สหรัฐอเมริกา

กัณวีร์สมรสกับจุนโก๊ะ โนมูระ ชาวญี่ปุ่นที่ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่โครงการสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ มีบุตรด้วยกัน 2 คน อย่างไรก็ตาม กัณวีร์ไม่ได้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับนายแพทย์เจริญ สืบแสง และจรูญ สืบแสง แต่อย่างใด

ผู้เชี่ยวชาญด้านสันติภาพ

กัณวีร์เป็นนักมนุษยธรรม นักสิทธิมนุษยธรรม ที่เชี่ยวชาญด้านสันติภาพ ผู้ลี้ภัย ความมั่นคง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ​ เขาเคยทำงานในสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 - 2552 ก่อนจะไปทำงานที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 - 2564 

นอกจากนี้ เขายังมีประสบการณ์การทำงานด้านผู้ลี้ภัยในพื้นที่สงครามและความขัดแย้ง เป็นเวลา 12 ปี ในทั้งหมด 8 ประเทศ พร้อมกันนี้ยังได้ก่อตั้งมูลนิธิสิทธิเพื่อสันติภาพ Peace Rights Foundation เพื่อทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ช่วยเหลือผู้ลี้ภัย และสานต่อการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ด้วยการมาทำงานในพื้นจังหวัดชายแดนภาคใต้ และพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา

เข้าสู่เส้นทางสายการเมือง

กัณวีร์เริ่มต้นการทำงานการเมืองที่พรรคไทยสร้างไทย ในช่วงปี พ.ศ.2565 โดยได้รับการวางตัวให้เป็นว่าที่ผู้สมัคร สส. เขตสวนหลวง-ประเวศ กรุงเทพฯ แต่เขาตัดสินใจลาออกจากพรรค เพื่อลงมาทำงานภาคประชาชนที่มูลนิธิสิทธิเพื่อสันติภาพ ก่อนจะเข้าร่วมงานกับพรรคเป็นธรรม 

เขารับตำแหน่งเลขาธิการพรรค ในปี พ.ศ. 2566 และพรรคเป็นธรรมก็ได้รับเลือกตั้ง สส. แบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 1 ที่นั่ง ทำให้กัณวีร์ได้รับเชิญเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล แต่เมื่อเกิดวิกฤตพรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นรัฐบาล กัณวีร์ก็ยืนยันว่าจะยืนคียงข้างพรรคก้าวไกล แม้จะต้องไปทำหน้าที่ฝ่ายค้านก็ตาม