เหลียวหน้าแลหลัง ดู 5 ประเทศที่ Soft Power ทรงพลังมากที่สุดในโลก
เป็นประเด็นดราม่าร้อนในโลกโซเชียลมีเดียอีกครั้ง หลัง “ต้องเต ธิติ” ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “สัปเหร่อ” ได้พูดถึงเรื่อง Soft Power (ซอฟต์พาวเวอร์) และการผลักดันภาพยนตร์ไทยให้ออกไปสู่สายตาชาวโลกอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่การมาถ่ายรูปแล้วก็กลับ ซึ่งต่อมากลายเป็นการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนหลายฝ่าย และทำให้คำว่า “Soft Power” ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันอีกครั้ง
- SOFT POWER คืออะไร แล้วประเทศไทยจะเอาอะไรไปขายให้ชาวโลก
- "ต้องเต" บอก รัฐบาลอาจจะไม่เข้าใจหนังสัปเหร่อ แค่มาถ่ายรูป บอกเป็น Soft Power
- “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์” นโยบายจากรัฐบาล เพื่อยกระดับทักษะคนไทย
แม้รัฐบาลจะมีความพยายามผลักดัน Soft Power ไทย ด้วยการออกนโยบายที่ช่วยเหลือและสนับสนุนวงการสร้างสรรค์ของประเทศ แต่ถึงตอนนี้ก็อาจจะยังดูไม่สำเร็จเป็นรูปธรรมมากนักและยังต้องพึ่งพาการช่วยเหลือจากหลายภาคส่วน แล้วเราสามารถดูตัวอย่างประเทศที่ส่งออก Soft Power สำเร็จได้หรือไม่ Sanook พาทุกคนไปดู 5 ประเทศที่ Soft Power ทรงพลังมากที่สุดในโลก
Soft Power คืออะไร
Soft Power คือ การใช้อิทธิพลทางวัฒนธรรม การทำให้คนมีส่วนร่วม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือการเปลี่ยนแปลงความคิด โดยเป็นแนวคิดที่ได้รับการพัฒนาจาก Joseph S.Nye อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ จากสถาบันจอห์น เอฟ เคเนดี มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประกอบด้วยวัฒนธรรม, ค่านิยม, และนโยบายต่างประเทศ ซึ่งมีลักษณะสำคัญคือการชักจูงหรือโน้มน้าวให้คนอื่นชื่นชมหลงใหล ให้ปฏิบัติตามสิ่งที่ด้วยเองต้องการ ด้วยการสร้างสินค้า ภาพลักษณ์ หรือความชื่นชม ที่ไม่ใช่การบังคับขู่เข็ญหรือ Hard power (Hard Power)
5 ประเทศที่ Soft Power ทรงพลังที่สุด
แต่ละปี Brand Finance บริษัทด้านกลยุทธ์การประเมินมูลค่าแบรนด์ชั้นนำระดับโลก จะมีการจัดอันดับ Soft Power ทั่วโลก เพื่อตามหา “มหาอำนาจ Soft Power” โดยใช้หลักเกณฑ์ทั้งหมด 4 ข้อ ได้แก่
- ดัชนีศักยภาพด้านซอฟต์พาวเวอร์โลก (Global Soft Power Index)
- ความคุ้นเคย (Familiarity)
- ชื่อเสียง (Reputation)
- อิทธิพล (Influence) ซึ่งแบ่งเป็น 8 ปัจจัย คือ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม (Culture & Heritage), ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations), ธรรมาภิบาล (Governance), ธุรกิจและการส่งออก (Business & Trade), สื่อและการสื่อสาร (Media & Communication), คนและค่านิยม (People & Value), อนาคตความยั่งยืน (Sustainable Futre), และการศึกษาและวิทยาศาสตร์ (Education & Science)
และในปี พ.ศ.2023 ประเทศที่ทรงอิทธิพลด้าน Soft Power มากที่สุดโลก คือ
- อันดับ 1 สหรัฐอเมริกา
- อันดับ 2 สหราชอาณาจักร
- อันดับ 3 เยอรมนี
- อันดับ 4 ญี่ปุ่น
- อันดับ 5 จีน
ขณะที่ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นที่รู้จักว่าเป็นผู้ส่งออก Soft Power ผ่าน Korean Waves หรือการใช้วัฒนธรรมเกาหลีควบคู่ไปกับการสร้างภาพลักษณ์ประเทศผ่านสินค้าและบริการ รวมถึงซีรีส์และเพลง จนทำให้คนทั้งโลกจดจำและสร้างรายได้มหาศาล ก็รั้งอันดับที่ 15 ประจำปี 2023
100 ปีของการสร้าง American Culture
สหรัฐอเมริกาถือเป็นประเทศผู้ส่งออก Soft Power ที่กลายเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก โดยใช้เวลามากกว่า 100 ปีในการสร้างวัฒนธรรมอเมริกันให้ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกยอมรับ ผ่านการสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์อย่าง Hollywood ที่ถ่ายทอดแนวความคิดเรื่องเสรีภาพ ความเท่าเทียม และประชาธิปไตย พร้อมสอดแทรกแนวเพลง แฟชั่น และวิถีชีวิตแบบอเมริกันลงไปในสื่ออย่างแนบเนียน ก่อนจะขายไปทั่วโลก
ไม่เพียงแต่อุตสาหกรรมภาพยนตร์เท่านั้น สหรัฐฯ ยังให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมดนตรี เช่นเดียวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ส่งผลให้สหรัฐฯ กลายเป็นผู้นำด้าน Soft Power ที่คนทั่วโลกให้การยอมรับ ดังจะเห็นได้จากแบรนด์สินค้าอย่าง Apple, Google, Microsoft และ Facebook เป็นต้น
การศึกษาสร้าง Soft Power
หรือสหราชอาณาจักรที่รั้งอันดับ 2 ประเทศที่มี Soft Power ที่ทรงพลังที่สุดในโลก โดยขึ้นชื่อเรื่อง “ระบบการศึกษา” ซึ่งถือว่าเป็นระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก สหราชอาณาจักรมีมหาวิทยาลัยชื่อดังหลายแห่ง มีแบรนด์การศึกษาที่คนทั่วโลกจดจำได้ และเป็นโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ โรงเรียนมัธยม Harrow หรือ Eton Colleage เป็นต้น นอกจากนี้สหราชอาณาจักรยังเป็นบ้านเกิดของนักเขียนชื่อดังระดับโลกมากมาย ทั้งวิลเลียม เชคสเปียร์ มาถึง เจ.เค.โรลลิ่ง เจ้าของหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ วรรณกรรมที่กุมหัวใจของแฟนๆ พ่อมดน้อยทั่วโลก
ตำแหน่งแห่งที่ของ Soft Power ไทย
สำหรับประเทศไทยนั้น ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 41 จาก 120 ประเทศทั่วโลก โดยกระทรวงวัฒนธรรมได้มีนโยบายที่จะผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทยให้ไปสู่ระดับสากล ด้วยนโยบาย 5F
- F - FOOD อาหารไทย
- F - Film ภาพยนตร์ไทย
- F - Fashion แฟชั่นไทย
- F - Fighting ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย
- F - Festival เทศกาลประเพณีไทย
ด้านพรรคเพื่อไทยก็ได้ออกนโยบายที่จะผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทย อย่างนโยบาย One Family One Soft Power ที่มุ่งพัฒนาคน และสนับสนุนทุกอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ โดยมี THACCA (Thailand Creative Content Agency) หรือทักก้า ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จและงบประมาณที่เพียงพอ ทำหน้าที่สร้างระบบนิเวศทั้งหมดเพื่อสร้างอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไทยให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด
THACCA จะเป็นเจ้าภาพหลักที่จะดูแลซอฟต์พาวเวอร์ของไทยอย่างเป็นระบบและครบวงจร โดยเป็นองค์กรเดียวที่ดูแลทุกขั้นตอน ไม่ต้องประสานงานหลายขั้นตอนและหลายหน่วยงาน พร้อมดูแลในส่วนของกองทุนรวมซอฟต์พาวเวอร์ ที่กระจายอยู่ในหลายหน่วยงาน และเติมทุนให้ทุกสาขาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เช่นเดียวกับลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐาน สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกครบวงจร เช่นเดียวกับระบบขนส่งมวลชนเพื่อเชื่อมโยงสถานที่ท่องเที่ยว
นอกจากนี้ THACCA จะรื้อกฎหมายและทลายอุปสรรค โดยเลิกงานเอกสาร ลดขั้นตอน ลัดเวลา ในส่วนของการประสานงานและขอใบอนุญาต ปลดล็อกสุราเสรี เวลาเปิดปิดธุรกิจกลางคืน ไปจนถึงกวาดล้างขบวนการรีดไถจ่ายส่วย เช่นเดียวกับปลดปล่อยเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และที่สำคัญคือเร่งผลักดัน 8 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป้าหมาย ได้แก่
- ภาพยนตร์
- ศิลปะ
- หนังสือ
- อาหาร
- ดนตรี เฟสติวัล
- ท่องเที่ยว
- กีฬา
- ออกแบบ แฟชั่น