เนื้อหาในหมวด ข่าว

ความสามารถในการแข่งขันของคนไทยร่วงไปที่ 79 ของโลก คนฉลาดสมองไหลไป \

ความสามารถในการแข่งขันของคนไทยร่วงไปที่ 79 ของโลก คนฉลาดสมองไหลไป "สวิตเซอร์แลนด์"

ขณะที่เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางไปร่วมประชุมเอเปค ระบุว่า จะใช้โอกาสนี้เชิญชวนนักลงทุนมาลงทุนในประเทศไทย เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เล็งเห็นโอกาสจากโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ และอาจจะติดสินใจไม่ย้ายประเทศ ทว่า ดัชนีชี้วัดศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์โลก (The Global Talent Compettitiveness Index หรือ GTCI) ของประเทศไทย กลับร่วงมาอยู่อันดับที่ 79 จาก 134 ประเทศ ซึ่งจัดเป็นกลุ่มที่อยู่ค่อนข้าง “ท้ายตาราง” ขณะที่สวิตเซอร์แลนด์ครองอันดับ 1 เป็นปีที่ 10

ดัชนีชี้วัดศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์โลก (The Global Talent Compettitiveness Index หรือ GTCI) โดยสถาบันทางการศึกษา INSEAD ที่ร่วมมือกับ Portulans Institute และองค์กร Accenture คือดัชนีบอกความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งทรัพยากรที่สำคัญคือ “แรงงานทักษะสูง” หรือประเทศที่มีคนเก่ง เป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนประเทศ จะเพิ่มความน่าสนใจให้ประเทศจนสามารถดึงคนเก่งจากประเทศอื่นๆ มาร่วมทำงานได้

โดยดัชนี GTCI จะพิจารณาจาก 6 มิติสำคัญ ได้แก่

  • ส่งเสริมภายในประเทศ (Enable) ที่เชื่อมโยงกับเรื่องนโยบาย กฎหมาย การตลาด ธุรกิจ และแรงงาน
  • ดึงดูดแรงงาน (Attract) การเปิดรับแรงงานต่างชาติ สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อแรงงานในประเทศ
  • พัฒนาแรงงาน (Grow) ทั้งในมิติการศึกษา การเรียนรู้ตลอดชีวิต และการเข้าถึงโอกาส
  • รักษาฐานแรงงาน (Retain) ในมิติความยั่งยืนในชีวิตการทำงานและการใช้ชีวิต
  • ทักษะสายวิชาชีพ (Vocational and Technical Skills) ที่เชื่อมโยงกับการส่งเสริมทักษะและตลาดแรงงานรองรับ
  • ความสามารถระดับสูงของแรงงาน (Global Knowledge Skills)

จาก 6 มิติที่ถูกนำมาพิจารณา ส่งผลให้ สวิตเซอร์แลนด์รั้งอันดับที่ 1 ประเทศที่มีการแข่งขันด้านผู้มีความสามารถมากที่สุดในโลก ประจำปี 2023 ซึ่งถือเป็นปีที่ 10 ติดต่อกันแล้ว รองลงมาคือสิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ นอร์เวย์ ออสเตรเลีย สวีเดน และสหราชอาณาจักร เป็นอันดับที่ 2 - 10 ตามลำดับ

สำหรับประเทศไทยในปีนี้ ถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 79 จากทั้งหมด 134 ประเทศ ซึ่งร่วงลงมากอันดับที่ 75 ในปี 2022 และจัดว่าเป็นกลุ่มค่อนข้างท้ายตาราง 

ทั้งนี้ หากดูประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะพบว่านอกจากนี้สิงคโปร์ที่ติดอันดับ 2 และประเทศไทยที่ติดอันดับ 79 บรูไนรั้งอันดับที่ 41 ขณะที่มาเลเซียอยู่ในอันดับที่ 42 ขณะที่เวียดนามถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 75 อินโดนีเซียอยู่อันดับที่ 80 และฟิลิปปินส์ อันดับที่ 84

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ตรงนี้