เนื้อหาในหมวด ข่าว

\

"คดีอุทลุม" คืออะไร ทำไมลูกถึงฟ้องเอาผิดพ่อแม่ไม่ได้

เห็นผ่านตากันมาหลายกรณี สำหรับข่าวความขัดแย้งระหว่างลูกกับพ่อแม่ ซึ่งหลายครั้งก็นำไปสู่การฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาล ทว่า ตามกฎหมายของไทยระบุไว้ว่า “ลูกจะไม่สามารถฟ้องบุพการีได้” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “คดีอุทลุม” แล้วคดีอุทลุมนี้คืออะไร ทำไมลูกจึงไม่สามารถฟ้องร้องเอาผิดกับบุพพารีได้ Sanook พาทุกคนไปทำความรู้จักกฎหมายนี้กัน

“คดีอุทลุม” คืออะไร

คดีอุทลุม (อุด-ทะ-ลุม) คือคดีที่ห้ามไม่ให้บุตรฟ้องบุพการี ทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา เพราะตามธรรมเนียมจารีตประเพณีของไทย ลูกหลานจะต้องมีความกตัญญูรู้คุณต่อบิดามารดา รวมถึงบุพการีคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นปู่ ย่า ตา ยาย ซึ่งถือเป็นผู้มีบุญคุณอย่างล้นเหลือ เป็นผู้ให้กำเนิด และเป็นผู้เลี้ยงดู ลูกหลานจึงต้องให้ความเคารเป็นอย่างสูง ดังนั้น การกระทำที่ไม่ดีต่อบิดามารดาและบุพการี จะถูกเรียกว่าเป็นผู้เนรคุณ

คดีอุทลุมเป็นกฎหมายเดิมของไทยตั้งแต่สมัยโบราณ แต่เมื่อมีการแก้ไขกฎหมายใหม่ จึงให้กฎหมายดังกล่าวเข้าไปอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 1562

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 ระบุว่า “ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดี ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญาก็ตาม ผู้นั้นจะฟ้องบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด ชวด ที่สืบสายโลหิตโดยตรงของตนไม่ได้” 

บุตรหลานไม่สามารถฟ้องร้องบุพการีของตนเองได้ ทว่า กฎหมายก็ไม่ได้ห้ามโดยเด็ดขาด เพราะกฎหมายเปิดช่องให้ผู้สืบสันดานร้องขอให้อัยการยกคดีนั้นขึ้นว่ากล่าวแทนได้ กล่าวคือ บุตรหลานจะไม่สามารถฟ้องบิดามารดาหรือบุพการีตรงๆ ได้ แต่ต้องให้อัยการดำเนินการแทน ตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 14 

ทั้งนี้ มีบางกรณีผู้สืบสันดานสามารถฟ้องบพการีได้โดยตรงต่อศาล โดยไม่ถือเป็นคดีอุทลุม เช่น 

  • ลูกในฐานะผู้ถือหุ้น ฟ้องพ่อแม่ในฐานะกรรมการบริษัท ที่ยักยอกเงินของบริษัท
  • ลูกสามารถฟ้องพ่อได้ ในกรณีที่พ่อไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับแม่ หรือจดทะเบียนรัับรองบุตร แม้จะเลี้ยงดูลูกมา แต่ไม่ถือเป็นพ่อโดยชอบด้วยกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีการถกเถียงกันอยู่ว่าคดีอุทลุมนี้เป็น “ช่องโหว่” ทางกฎหมายหรือไม่ เพราะผู้เสียหายคือลูก ที่ถูกกระทำจากพ่อแม่หรือคนในครอบครัว แต่กลับไม่สามารถฟ้องพ่อแม่โดยตรงได้ แม้จะเป็นคดีอุกอาจอย่างคดีข่มขืนหรือคดีทำร้ายร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่สังคมกำลังตระหนักรู้ถึงปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ก็อาจจะถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องพิจารณาแก้ไขกฎหมายคดีอุทลุมดังกล่าวแล้วหรือยัง