เนื้อหาในหมวด ข่าว

ทำความรู้จัก \

ทำความรู้จัก "เฮดี ลามาร์" นักแสดงสาวสวย ผู้ให้กำเนิด WiFi ที่เราใช้กันในทุกวันนี้

เมื่อไม่กี่วันก่อน ขณะท่องโลกออนไลน์อ่านข่าวสารบน X (เอ็กซ์) ก็ได้พบกับวิดีโอของหญิงสาวสวยคนหนึ่ง กำลังยิ้มหวานชูสองนิ้วให้กล้อง พร้อมแคปชั่นบรรยาย ระบุว่า “everybody say thank you hedy lamarr” (ทุกคนกล่าวขอบคุณเฮดีลามาร์สิ) จึงทำให้ผู้เขียนเกิดความสนใจและอยากรู้ว่าสาวสวยคนนี้ทำคุณงามความดีอะไรให้กับโลกใบนี้ เมื่อไปสืบค้นข้อมูลของเธอ ก็ได้พบกับเรื่องราวที่น่าสนใจและอยากนำมาเล่าสู่กันฟัง 

และนี่คือเรื่องราวของ “เฮดี ลามาร์” (Hedy Lamarr) นักแสดงสาวสวยแห่งฮอลลีวูด ผู้ให้กำเนิด WiFi (ไวไฟ) และบลูทูธที่พวกเราใช้อยู่ในทุกวันนี้

“เฮดี ลามาร์” คือใคร

เฮดี ลามาร์ (Hedy Lamarr) หรือชื่อเดิมคือเฮดวิก อีวา มาเรีย คีส์เลอร์ (Hedwig Eva Maria Kiesler) คือนักแสดงภาพยนตร์และนักประดิษฐ์ชาวออสเตรีย - อเมริกัน เธอเกิดที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย โดยมีพ่อเป็นนายธนาคาร และมีแม่เป็นนักเปียโน

Hedy Lamarr

เฮดีเริ่มต้นอาชีพนักแสดงในปี 1930 ขณะอายุได้ราว 19 ปี โดยผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกของเธอชื่อเรื่อง Ecstasy ซึ่งเป็นภาพยนตร์แนวอีโรติก มีภาพเปลือยและฉากรักจำนวนมาก ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เฮดีมีปัญหากับสามีเศรษฐีชาวออสเตรีย เธอจึงตัดสินใจหย่าขาดจากเขา ก่อนจะเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่และเดินเข้าสู่แวดวงฮอลลีวูด

ภาพยนตร์เรื่องแรกในสหรัฐฯ ของเฮดี คือเรื่อง Algiers ซึ่งฉายในปี 1938 และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทำให้เฮดี ลามาร์ กลายเป็นดารานักแสดงที่มีชื่อเสียง และมีผลงานการแสดงอีกหลายเรื่องตามมา เช่น Lady of The Tropics (1939), I Take This Woman (1940), Comrade X (1940), Come Live With Me (1941), H.M.Pulham, Esq. (1941) และ Samson and Deliah (1949) เป็นต้น

Hedy Lamarr

สาวสวยหัวใจคณิตศาสตร์และวิศวกรรม

ไม่ใช่แค่บทบาทนักแสดงสาวสวยแห่งฮอลลีวูด ที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับยกย่องว่าเป็น “ผู้หญิงที่สวยที่สุดในโลก” เท่านั้น แต่เฮดียังมีความสามารถด้านคณิตศาสตร์และวิศวกรรม โดยเธอมักจะใช้เวลายามว่างในการประดิษฐ์สิ่งของและเครื่องจักรกลไกต่างๆ ซึ่งทำให้เธอมีความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านนี้ แม้จะไม่ได้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเลยก็ตาม

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เฮดีและจอร์จ แอนธีล นักแต่งเพลงชาวอเมริกั ได้ร่วมกันพัฒนาอุปกรณ์ส่งสัญญาณวิทยุ ชื่อว่า Secret Communication System โดยเป็นการพัฒนาวิธีการสื่อสารโทรคมนาคมแบบการกระจายคลื่นและความถี่ ที่ปล่อยสัญญาณแบบหลายระดับและช่วยป้องกันการดักจับการถอดรหัสลับจากศัตรู

Hady Lamarr

อุปกรณ์ดังกล่าวถูกกองทัพสหรัฐฯ นำไปใช้ เพื่อป้องกันไม่ให้กองทัพนาซีเยอรมันสามารถล้วงข้อมูลทางการทหารและรหัสลับของฝ่ายสหรัฐฯ ได้

ผู้ให้กำเนิดไวไฟและบลูทูธ

ในปี 1950 เฮดีและจอร์จได้เปิดบริษัทแห่งหนึ่ง โดยนำระบบส่งสัญญาณวิทยุ Secret Communication System มาพัฒนาให้เป็นเทคโนโลยีไร้สาย ชื่อ CDMA ซึ่งกลายเป็นต้นแบบสำคัญของเทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบัน เช่น โทรศํพท์มือืถอ, ไวไฟ, ระบบจีพีเอส และบลูทูธ 

Secret Communication System

แม้เฮดีจะเป็นสุดยอดนักประดิษฐ์ที่มีส่วนสำคัญต่อวงการเทคโนโลยีการสื่อสารของโลก แต่ในช่วงเวลานั้นเธอถูกมองว่าเป็นเพียงนักแสดงฮอลลีวูดเท่านั้น กระทั่งเรื่องราวและผลงานของเธอถูกเปิดเผย ทำให้เฮดีได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนักประดิษฐ์แห่งชาติ ของสมาคมนักประดิษฐ์แห่งอเมริกา (National Inventors Hall of Fame) ในปี 2014 

ในช่วงท้ายของชีวิต เฮดีใช้เวลาอยู่ในฟลอริดา กระทั่งเสียชีวิตอย่างสงบในวัย 85 ปี เมื่อปี 2000