เนื้อหาในหมวด ข่าว

สรุปประเด็นค้นพบ \

สรุปประเด็นค้นพบ "แร่ลิเทียม" ในไทย แล้วเราเป็นที่ 3 ของโลกจริงหรือเปล่า?

เป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจเป็นอย่างมากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังมีข่าวการค้นพบ “แร่ลิเทียม” ในประเทศไทย ซึ่งสร้างความตื่นเต้นดีใจกับประชาชนและนักลงทุนไม่น้อย เนื่องจากแร่ลิเทียมถือเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตแบตเตอรี่รถ EV ซึ่งการค้นพบในครั้งนี้อาจทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางและฐานการผลิตหลักของภูมิภาคได้ แต่ไม่นานหลังจากนั้น หลายฝ่ายออกก็เริ่มออกมาคัดค้าน จนกลายเป็นดราม่าร้อนๆ ที่ชาวเน็ตถกเถียงกันอย่างดุเดือด

Sanook ชวนย้อนดูประเด็น “แร่ลิเทียม” ที่ข้อมูลคลาดเคลื่อนไปมา จนไม่แน่ใจว่าประเทศไทยมีแร่ลิเทียมมากเป็นอันดับที่ 3 ของโลกจริงหรือเปล่า

ไทบพบแหล่ง “แร่ลิเทียม” 

วันที่ 3 ม.ค. 67 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูล ว่าได้อนุญาตอาชญาบัตรพิเศษจำนวน 3 แปลง เพื่อสำรวจแหล่งลิเทียม ในพื้นที่อำเภอตำกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา โดยสำรวจพบ “หินอัคนี”​เนื้อหยาบสีขาวหรือหินเพกมาไทต์ ซึ่งเป็นหินต้นกำเนิดที่นำพาแร่เลพิโดไลต์สีม่วง หรือแร่ที่มีองค์ประกอบของ “ลิเทียม” ให้เย็นตัวและตกผลึกจนกลายเป็นแหล่งลิเทียมที่มีศักยภาพ 2 แหล่ง ได้แก่ แหล่งเรืองเกียรติ และแหล่งบางอีตุ้ม

ทั้งนี้ แร่ลิเทียมจากแหล่งเรืองเกียรตินั้น คาดว่าจะสามารถนำแร่ลิเทียมมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับใช้เป็นพลังงานขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน ด้วยเหตุนี้ พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจึงสั่งการให้เร่งสำรวจแหล่งแร่ลิเทียมที่มีศักยภาพ เพราะอาจทำให้ประเทศไทยสามารถรองรับการตั้งฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย 

ไทยมีแร่ลิเทียมมากเป็นอับดับ 3 ของโลก

ต่อมา วันที่ 18 ม.ค. 67 รัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตอนนี้ประเทศไทยก็มีลุ้นว่าจะเป็นผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมแบตแตอรี่และรถ EV ได้หรือไม่ โดยข้อมูลของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ระบุว่า ไทยสำรวจพบแร่ลิเทียมกว่า 14,800,000 ตัน ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่ค้นพบแร่ดังกล่าวมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากประเทศโบลิเวีย และอาร์เจนตินา

การค้นพบในครั้งนี้ถือเป็นข่าวดีและเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมรถ EV ของไทย จะทำให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ครอบครองแร่ลิเทียมมากที่สุดของโลก ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ และดึงดูดนักลงทุนเข้ามาตั้งโรงงาน 

นักวิชาการแย้ง “หยุดแหกตาประชาชน”

หลังมีข่าวประเทศไทยค้นพบแร่ลิเทียมมากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของโลก ก็มีนักวิชาการออกมาแสดงความคิดแย้ง โดยอาจารย์ลอย ชุนพงษ์ทอง นักคณิตศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญดาราศาสตร์คำนวณ และยูทูบเบอร์ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า 

“หยุดแหกตา โกหกประชาชน!! เรื่องแหล่งแร่#ลิเธียม ที่พังงา แร่ Lepidolite ที่ตะกั่วทุ่งมี % Lithium Oxide ราว 0.35-0.45%

  • สินแร่(หิน) Lepidolite 25 ล้านตัน ไม่ใช่ลิเธียมออกไซด์ 25 ล้านตัน ตามที่ตีข่าวใหญ่โต มีลิเธียมออกไซด์ ไม่เกิน 0.45% ของหินชนิดนี้ ที่แหล่งนี้
  • แหล่งเล็กมาก ต่อให้เอา 2 แหล่ง และต่อให้มีหินแร่รวมกัน 25 ล้านตัน ก็คาดว่าขุดหินแร่มาใช้ได้อย่างเก่งแค่ 10 ล้านตัน ถ้าแยกแร่ได้ดีเยี่ยม ก็เหลือลิเธียมออกไซด์ไม่เกิน 3 หมื่นตัน
  • ที่สำคัญสุดคือเกรดห่วย ต่อให้นำสินแร่ขึ้นมาได้ ยกสินแร่ให้ผมฟรี ๆ ผมก็ไม่เอาครับ เพราะเกรดต่ำมาก 0.45% ปรกติเกรดที่คุ้มค่าการลงทุนแต่งแร่ คือ 0.9% ค่าสกัดให้เป็นลิเธียมออกไซด์ ต่อตันอาจแพงกว่าราคานำเข้าเสียอีก ประมาณว่า แหล่งนี้ต้องใช้หินแร่(สินแร่)ถึง 300 ตัน จึงจะสกัดลิเธียมออกไซด์ได้ 1 ตัน

เศร้าใจไม่รู้ใครหลอกคนไทย จนเป็นข่าวใหญ่โตปัญญาอ่อน อีก 3 ปีคนไทยก็ลืม ข่าวขุมทรัพย์โคตรแร่โลกตะลึงนี้ เหมือนขุมทองทหารญี่ปุ่นที่เมืองกาญจน์ หรือเป็นข่าวปั่นหลอกนักลงทุน?”

ด้าน ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก อธิบายว่าตัวเลข 14.8 ล้านตันที่เป็นข่าว เป็นปริมาณของหินแร่ที่ชื่อว่า “หินเพกมาไทต์” ซึ่งมีธาตุลิเทียมปะปนอยู่ เฉลี่ย 0.45% และต้องทำมาถลุงสกัดเอาลิเทียมออกมาก่อน ดังนั้น เมื่อคำนวณคร่าวๆ แล้ว แร่ลิเทียมก็จะอยู่ที่ประมาณ​ 6 - 7 หมื่นตันเท่านั้น ดังนั้น ประเทศไทยพบสินแร่ที่มีธาตุลิเทียมจริง แต่ไม่ได้มีปริมาณเยอะมากขนาดอ้างว่าเป็นอันดับที่ 3 ของโลกได้

รัฐบาลยอมรับข้อมูลคลาดเคลื่อน

หลังนักวิชาออกมาโต้ข่าวพบแหล่งแร่ลิเทียม แต่ไม่ใช่อันดับที่ 3 ของโลก วันที่ 20 ม.ค. 67 รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ก็ได้ออกมายอมรับว่าข้อมูล “คลาดเคลื่อน” พร้อมเปิดเผยข้อมูลชุดใหม่เพื่อขยายความในรายละเอียดที่คลาดเคลื่อนบางประการ นั่นคือประเด็นที่ว่า “ไทยไม่ได้มีแร่ลิเทียมมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก” พร้อมขอโทษอย่างบริสุทธิ์ใจ ไม่มีเจตนาสร้างข่าวเท็จ และขอร้องอย่าให้เหตุนี้ขัดขวางข่าวดีว่าไทยค้นพบแร่สำคัญที่จะช่วยส่งเสริมเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนตร์ EV ของประเทศ

ด้านกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ก็ได้ออกมาชี้แจงข้อมูลเรื่องผลการสำรวจแหล่งลิเทียมในประเทศไทย ระบุว่า คำว่า Mineral Resource มีความหมายถึงปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ ซึ่งแตกต่างจากคำว่า Lithium Resource ซึ่งหมายถึงปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียม ดังนั้น การนำข้อมูลปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ไปเปรียบเทียบกับปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียมของต่างประเทศ จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าประเทศไทยมีปริมาณแร่ลิเทียมมากเป็นอันตับต้นๆ ของโลกได้

ทั้งนี้ การค้นพบแร่จากหินแข็งในพื้นที่แหล่งเรืองเกียรติ มีปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ ประมาณ 14.8 ล้านตัน ซึ่งแร่ที่พบเป็นแร่เลพิโดไลต์ ที่มีความสมบูรณ์ของลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% หรือมีปริมาณลิเทียมคาร์บอเนตเทียบเท่า ประมาณ 164,500 ตัน ดังนั้น หากมีการอนุญาตทำเหมืองหรือออกแบบแผนผังอย่างเหมาะสม คาดว่าในอนาคตจะสามารถนำลิเทียมมาพัฒนาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับรถ EV ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน