เนื้อหาในหมวด ข่าว

ประเด็นร้อน ตำรวจบุกจับ \

ประเด็นร้อน ตำรวจบุกจับ "นักข่าว-ช่างภาพอิสระ" หลายฝ่ายร้อง "การเสนอข่าวไม่ใช่อาชญากรรม"

เป็นอีกประเด็นร้อนนักข่าวโดนจับในสังคมขณะนี้ หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกจับกุมผู้สื่อข่าวประชาไทและช่างภาพอิสระ กรณีไปทำข่าวนักกิจกรรมพ่นสีกำแพงวัง เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2566 ซึ่งทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนอย่างหนัก รวมไปถึงหลายฝ่ายที่ออกมาเรียกร้องว่า “การเสนอข่าวไม่ใช่อาชญากรรม” จนกลายเป็นประเด็นร้อนที่คนในความสนใจเป็นอย่างมากอยู่ในขณะนี้ Sanook รวบรวมเหตุการณ์จับกุมสื่อของรัฐไทยในครั้งนี้ พร้อมฟังเสียงองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อประเด็นที่ถูกมองว่าเป็น “การปิดปากสื่อ” ของสังคมไทย

“นักข่าว-ช่างอิสระ” โดนจับ

เมื่อวานนี้ (12 ก.พ. 67) มีรายงานว่า “ณัฐพล เมฆโสภณ” ผู้สื่อข่าวของประชาไท ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบแสดงหมายจับข้อหาเป็นผู้สนับสนุนทำให้โบราณสถานเสียหายจากการขีดเขียนข้อความ จากเหตุการณ์ที่ศิลปินคนหนึ่งได้พ่นสีเขียนข้อความเป็นสัญลักษณ์ไม่เอา 112 และเครื่องหมายสัญลักษณ์ “อนาคิสต์” บนกำแพงวัดพระแก้ว เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566 

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า “ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์” ช่างภาพอิสระที่ติดตามทำข่าวในเหตุการณ์เดียวกัน ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมเช่นกัน 

หลังทำการบันทึกการจับกุมและสอบปากคำ ผู้สื่อข่าวประชาไทและช่างภาพอิสระได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ขอประกันตัวทั้ง 2 คน แต่พนักงานสอบสวนยืนยันว่าต้องนำตัวผู้สื่อข่าวประชาไทไปขังรอส่งศาลที่ สน.ฉลองกรุง ย่านมีนบุรี ส่วนช่างภาพอิสระจะถูกนำตัวไปขังรอส่งศาลที่ สน.ทุ่งสองห้อง โดยแจ้งให้ทนายความไปยื่นประกันตัวระหว่างสอบสวนกับศาลแทน

บรรณาธิการประชาไทให้สัมภาษณ์

เทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการสำนักข่าวประชาไท กล่าวถึงกรณีผู้สื่อข่าวประชาไทและช่างภาพอิสระถูกจับกุม โดยยืนยันว่าทั้งสองคนไปทำข่าว และการทำข่าวไม่ใช่การสนับสนุนการกระทำความผิด พร้อทตั้งข้อสังเกตและแสดงความกังวลว่ากระบวนการดำเนินคดีทำไมไม่ออกหมายเรียกก่อน แต่เป็นการออกหมายจับ ที่สำคัญหลังถูกจับกุม ทำไมไม่ให้สิทธิในการประกันตัว หรือให้มารับทราบข้อกล่าวหาแล้วปล่อยตัวเลย แต่กลายเป็นว่าทั้งสองคนถูกขอฝากขังต่อศาลทันที พร้อมตั้งคำถามว่าทำไมการทำข่าวถึงถือเป็นผู้สนับสนุนการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดด้วย หากเป็นเช่นนี้ต่อไปจะกระทบต่อกระบวนการทำงานของผู้สื่อข่าวทั้งระบบนิเวศข่าวหมดหรือไม่ แม้จะไม่ฟ้องดำเนินคดีในกรณีอื่นๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลต่อความกังวลในใจของนักข่าวในอนาคต จนทำให้ประชาชนไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารในเหตุการณ์หรือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

เทวฤทธิ์เผยต่อว่า ช่วงสุดสัปดาห์รวมทั้งก่อนหน้านั้น ไม่เพียงแค่นักข่าวประชาไทที่ถูกขู่และถูกประชิดตัว ถูกผลักหรือดันให้ล้มระหว่างทำข่าวในเหตุการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการใช้ความรุนแรง ยังมีนักข่าวพลเมือง ผู้สื่อข่าวอิสระที่รายงานเหตุการณ์หรือไลฟ์เหตุการณ์ชุมนุมถูกทำเช่นกัน ในฐานะสื่อมวลชนมองว่า การไลฟ์และการรายงานข่าวที่ผ่านมาเหมือนเป็นหูตาเป็นตาให้กับสังคม คอยจับจ้องป้องกันไม่ให้ใครใช้ความรุนแรงระหว่างกัน การพยายามทำให้คนเหล่านี้ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีอิสระหรืออยู่ภายใต้ความกลัวและถูกคุกคาม 

”ขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือคู่ขัดแย้งรักษาพื้นที่การทำงานของสื่อไม่ว่าจะมีสังกัด หรือเป็นสื่ออิสระหรือสื่อพลเมือง ได้รายงานและถ่ายทอดเป็นผู้บันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นหูเป็นตาให้สังคมและเป็นหลักประกันว่า จะไม่เกิดการใช้ความรุนแรงต่อกัน และหากมีการใช้ความรุนแรงต่อกันก็จะถูกบันทึกและรายงานต่อสังคม ยืนยันว่าจริงๆ จุดยืนของเราคือไม่ใช่คู่ขัดแย้ง เราต้องการเสนอข้อเท็จจริงตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น" เทวฤทธิ์ กล่าว

DemAll ออกแถลงการณ์

หลังเกิดเหตุการณ์ผู้สื่อข่าว-ช่างภาพอิสระ โดนจับกุมจากการลงพื้นที่ทำข่าว สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย (Thai Media for Democracy Alliance หรือ DemAll) ก็ได้ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ใช้อำนาจในลักษณะยัดเยียดความผิดแบบเหวี่ยงแห ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชน พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้สื่อข่าวประชาไทและช่างภาพอิสระออกมาอย่างไม่มีเงื่อนไขโดยเร็วที่สุด 

“ภคมน” จี้รัฐปกป้องสื่อ

ด้าน ภคมน หนุนอนันต์ รองโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีตำรวจจับกุมผู้สื่อข่าวประชาไทและช่างภาพอิสระสืบเนื่องจากการทำข่าวนักกิจกรรมพ่นสีบนกำแพงวัดพระแก้วเมื่อเดือนมีนาคม 2566 ว่าตนไม่คิดว่า ณ วันนี้เรายังต้องมาตั้งคำถามว่าเราอยู่ในสังคมประชาธิปไตยแบบไหน ที่สื่อมวลชนผู้นำเสนอข้อเท็จจริง โดนฟ้องปิดปากครั้งแล้วครั้งเล่า

โดย​​ภคมนได้ฝากไปยังรัฐบาล ขอให้ตั้งหลักตั้งสติ การปิดปากสื่อมวลชนเป็นเรื่องร้ายแรงในสังคมที่เรียกตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตย ในฐานะที่รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลพลเรือน มาจากการเลือกตั้ง แม้การจัดตั้งรัฐบาลจะเกิดจากการผสมพันธ์ุข้ามขั้ว แต่ท่านมีทางเลือกที่จะแสดงให้ประชาชนเห็น ว่ารัฐบาลนี้พร้อมปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ขี้ขลาดความจริงเหมือนที่รัฐบาลเผด็จการเป็นกัน ดังนั้น ท่านยังมีโอกาส อย่าปล่อยเรื่องนี้ให้เนิ่นช้า รีบสลัดรอยต่อรัฐบาลเผด็จการให้ได้ แล้วทำหน้าที่รัฐบาลของประชาชน ปกป้องพื้นที่ของสิทธิเสรีภาพของสังคมอย่าให้หดแคบไปกว่านี้ ตระหนักอยู่เสมอว่าเสรีภาพสื่อก็คือเสรีภาพประชาชน การปกป้องสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ก็คือการปกป้องสิทธิเสรีภาพประชาชนในการรับรู้ข่าวสาร ไม่ให้ถูกปิดหูปิดตา 

“แต่หากท่านปล่อยเรื่องแบบนี้ให้เกิดขึ้นซ้ำๆ ไม่คิดแก้ไข ดิฉันเป็นห่วงจริงๆ ว่าสุดท้ายประชาชนจะแยกไม่ออก ว่ารัฐบาลเศรษฐาต่างจากรัฐบาลประยุทธ์อย่างไร” ภคมนกล่าว