เนื้อหาในหมวด ข่าว

\

"กั้งหางแดง" หรือ "แม่หอบอ่อน" โผล่เกลื่อนทะเลบางแสน ธรรมชาติกำลังบอกอะไรเรา?

วานนี้ (20 ก.พ. 67) เฟซบุ๊ก Suwanan Saehueng ได้โพสต์ข้อความว่า “กุ้งต็อกหรือกั้งต็อก หลาย 10 ปี พึ่งเคยเจอ ใครอยากได้มาช้อนเอาเลย” พร้อมภาพถ่ายและคลิปวิดีโอที่แสดงให้เห็นประชาชนกำลังช้อน “กั้งหางแดง” หรือ “แม่หอบอ่อน” ขึ้นมาจากน้ำ ซึ่งปรากฏการณ์นี้ได้สร้างความตกใจให้กับประชาชนในพื้นที่ทะเลบางแสนเป็นอย่างมาก เนื่องจากกั้งหางแดงเป็นสัตว์ที่พบได้บาก อยู่ในรูในทะเล จึงไม่ค่อยเจอตัวได้ง่ายๆ 

จากการสอบถามเจ้าของโพสต์ดังกล่าว พบว่าสาเหตุที่กั้งหางแดงลอยมาเหนือน้ำในครั้งนี้ อาจเป็นเพราะปรากฏการณ์ทางทะเล ซึ่งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคาดว่าอาจมีสาเหตุจากพื้นทะเลร้อนระอุ ทำให้กั้งหางแดงออกจากรูมาลอยเหนือน้ำ

ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ก็สะท้อนว่าไม่เคยเห็นปรากฏการณ์แบบนี้มาก่อนในชีวิต โดยกั้งหางแดงนั้นเป็นสัตว์หายาก และมีราคา โดยตอนนี้สามารถขายได้ตัวละ 2 บาท คนส่วนใหญ่นิยมนำไปตกปลา และเอาไปชุบแป้งทอด 

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา ได้ออกสำรวจคุณภาพน้ำทะเล พบว่ามีค่าปกติตามเกณฑ์มาตรฐาน และออกซิเจนไม่ได้ต่ำลง จึงคาดว่าอาจเป็นเพราะคุณภาพดินในบริเวณนั้น 

“กั้งหางแดง” คืออะไร

กั้งหางแดง หรือ “แม่หอบอ่อน” คือสัตว์ตระกูลกุ้งและกั้ง เป็นสัตว์มีเปลือกกลุ่มกุ้งปู โดยชาวประมงมักเรียกสัตว์ชนิดนี้ว่ากั้งหางแดง แต่ความจริงแล้วไม่ใช่กั้ง แต่เป็นสัตว์ในกลุ่มแม่หอบ หรือเป็นญาติกับแม่หอบที่อยู่ในป่าชายเลน แต่ไม่ใช่กลุ่มเดียวกัน 

เหตุผลที่มันถูกเรียกว่าแม่หอบอ่อน เป็นเพราะตัวอ่อนนุ่ม มักฝังตัวอยู่ตามพื้นทรายหรืออยู่ในรู และกินสัตว์เล็กหรือซากต่างๆ เป็นอาหาร ในเวลาปกติจะไม่ขึ้นมาอยู่เหนือน้ำ แต่อาจจะมีสาเหตุที่ทำให้แม่หอบอ่อนหนีออกมาอยู่รวมกันเยอะขนาดนี้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่คงต้องวิเคราะห์หาสาเหตุกันต่อไป