เนื้อหาในหมวด ข่าว

ทำความเข้าใจ \

ทำความเข้าใจ "กฎหมายการบุกรุก" มีโทษอย่างไร ดูความผิดอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูเจตนาด้วย

ประเด็นเรื่อง "การบุกรุก" เป็นเรื่องที่ใครหลายคนให้ความสนใจเมื่อกลายเป็นข่าวดัง แต่เชื่อว่าคนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่เข้าใจหรือไม่มีความรู้เกี่ยวกับข้อกฎหมายที่ว่าด้วย "การบุกรุก" มากนัก Sanook จึงขอพาทุกคนไปทำความเข้าใจกฎหมายว่าด้วยการบุกรุก ว่ามีโทษอย่างไร และเอาผิดเลยได้ไหม โดยไม่ต้องดูเจตนาของผู้กระทำ

“การบุกรุก” คืออะไร

การบุกรุก คือ การที่บุคคลหนึ่งเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่มีเหตุอันสมควร จึงจะถือว่าบุคคลนั้นทำการบุกรุก ซึ่งความผิดฐานบุกรุกนั้น จัดอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา ในลักษณะความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ โดยมีข้อกฎหมาย ดังต่อไปนี้

  • มาตรา 362 ผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • มาตรา 363 ผู้ใดเพื่อถือเอาอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นมาเป็นของตนหรือของบุคคลที่สาม ยักย้ายหรือทำลายเครื่องหมายเขตแห่งอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • มาตรา 364 ผู้ใดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เข้าไปหรือซ่อนตัวอยู่ในเคหสถาน อาคารเก็บรักษาทรัพย์ หรือสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่น หรือไม่ยอมออกไปจากสถานที่เช่นว่านั้นเมื่อผู้มีสิทธิที่จะห้ามมิให้เข้าไปได้ไล่ให้ออก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • มาตรา 365 ถ้าการกระทำความผิดมาตรา 362 มาตรา 363 หรือมาตรา 364 ได้กระทำ
    • โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย
    • โดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป หรือ
    • ในเวลากลางคืน

ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

  • มาตรา 366 ความผิดในหมวดนี้นอกจากความผิดมาตรา 365 เป็นความผิดอันยอมความได้

ลักษณะความผิดเป็นการบุกรุก

ตามมาตรา 362 นั้น เมื่อพิจารณาความผิดที่จะมีลักษณะเป็นการบุกรุกแล้ว จะมีอยู่ 2 ความผิด คือ

  • เพื่อถือการครอบครองของผู้อื่น มีลักษณะเป็นการแย่งการครอบครอง และการแย่งการครอบครองนั้น ผู้ที่ถูกแย่งการครอบครอง (หรือผู้เสียหาย) จะต้องเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้น
  • รบกวนการครอบครองของผู้อื่น หรือหากเป็นกรณีที่มีการเข้าไปรบกวนการครอบครองที่มีผู้เช่าอยู่ ถึงแม้ผู้ที่ไปรบกวนการครอบครองจะเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์นั้น เจ้าของก็จะเป็นผู้บุกรุกได้เช่นกัน 

อย่างไรก็ตาม ความผิดฐานบุกนั้นต้องกระทำโดยเจตนา หากไม่มีเจตนาก็จะไม่ถือว่าเป็นความผิดฐานบุกรุก

วิธีป้องกันการบุกรุก

แน่นอนว่าไม่มีใครอยากโดนผู้อื่นเข้ามาบุกรุกในพื้นที่หรืออสังหาริมทรัพย์ของตัวเอง ดังนั้น การป้องกันจึงเป็นวิธีการรับมือกับปัญหาที่ยังไม่เกิดได้ดีที่สุด ซึ่งสามารถทำได้ ดังนี้ 

  • ติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัย
  • ติดตั้งไฟส่องสว่างรอบๆ อสังหาริมทรัพย์
  • ทัศนวิสัยรอบอสังหาริมทรัพย์ต้องมองเห็นได้ชัดเจน 
  • หมั่นเข้าไปตรวจสอบดูแลอสังหาริมทรัพย์ของตัวเอง หากไม่ได้อยู่
  • ฝากเพื่อนบ้านช่วยสอดส่องดูแล