เนื้อหาในหมวด ข่าว

เปิดชื่ออาหารปนเปื้อนไมโครพลาสติกมากที่สุด ช็อกบางอันกินทุกวัน ใกล้ตัวมาก

เปิดชื่ออาหารปนเปื้อนไมโครพลาสติกมากที่สุด ช็อกบางอันกินทุกวัน ใกล้ตัวมาก

เปิดรายชื่ออาหารปนเปื้อนไมโครพลาสติกมากที่สุด ภัยเงียบอันตรายต่อร่างกาย อึ้งหลายอันคนกินกันบ่อย ใกล้ตัวกว่าที่คิด

CNN รายงานว่า เผยบทความวิจัยกรณีศึกษาเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมาพบว่า ร้อยละ 90 ของตัวอย่างอาหารประเภทโปรตีนจากพืชและสัตว์ มีการปนเปื้อนไมโครพลาสติก ภัยเงียบอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในการเกิดมะเร็งเต้านม และมะเร็งในต่อมลูกหมาก และยังส่งผลต่อความผิดปกติทางพันธุกรรมของเซลล์ในร่างกายอีกด้วย

ข้อมูลจากวารสาร Environmental Research วารสารวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม ทีมนักวิจัยได้ทดสอบอาหารแช่แข็งประเภทโปรตีนที่คนนิยมรับประทานกันโดยทั่วไปหลายอาทิ เนื้อวัว กุ้งและกุ้งชุบแป้งทอด อกไก่ และนักเก็ตไก่ เนื้อหมู อาหารทะเล เต้าหู้และอาหารประเภทแพลนต์เบส (ผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากพืช)

จากผลการตรวจสอบพบว่า กุ้งชุบแป้งทอด พบไมโครพลาสติกปนเปื้อนมากที่สุด โดยเฉลี่ยแล้วจะมีอยู่ราว 300 ชิ้นต่อมื้อ ส่วนอันดับที่ 2 ได้แก่ นักเก็ตแพลนต์เบส มีไมโครพลาสติก 100 ชิ้นต่อมื้อ ต่อมาคือ นักเก็ตไก่ ตามมาด้วยชิ้นปลาคลุกแป้งขนมปัง เนื้อกุ้งสดและปลาแพลนต์เบสคลุกแป้งขนมปัง

ส่วนอาหารที่มีการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกน้อยที่สุด คือ เนื้ออกไก่ ตามด้วยเนื้อหมูสันในและเต้าหู้

ผักผลไม้ที่พบว่ามีไมโครพลาสติกมากที่สุด

ขณะเดียวกัน นักวิจัยจาก University of Catania ประเทศอิตาลี พบเศษชิ้นส่วนพลาสติกขนาดเล็กในผลไม้และผักบางชนิด ซึ่งพบไมโครพลาสติกในแอปเปิล 1 กรัม เฉลี่ย 195,500 ชิ้น

ในขณะที่ลูกแพร์มีปริมาณไมโครพลาสติกเฉลี่ย 189,500 ชิ้น ต่อ 1 กรัม ส่วนบร็อกโคลี และแคร์รอต เป็นผักที่พบไมโครพลาสติกมากที่สุด เพราะพบไมโครพลาสติกในปริมาณมากกว่า 100,000 ชิ้นต่อผัก 1 กรัม

ไมโครพลาสติกมีอยู่ทั่วไป

เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมามีผลวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เผยผลทดสอบในการสุ่มตรวจสอบตัวอย่างน้ำดื่มบรรจุขวดทั่วไป จำนวน 5 ตัวอย่าง จากทั้งหมด 3 ยี่ห้อ รวมทั้งหมด 15 ตัวอย่าง ผลการศึกษานี้พบว่า มีอนุภาคไมโครพลาสติกระหว่าง 110,000-400,000 ชิ้นต่อลิตร โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 240,000 ชิ้น

วิธีลดไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกาย

ผู้เชี่ยวชาญได้ให้คำแนะนำสำหรับการบริโภคอาหารเพื่อลดโอกาสเสี่ยงที่จะรับไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายไว้ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่บรรจุภัณฑ์แบบพลาสติก ถ้าเป็นไปได้ในการเลือกซื้ออาหารที่บรรจุในขวดแก้วหรือห่อกระดาษฟอยล์ดีกว่า
  • สวมเสื้อผ้าที่ทำจากผ้าธรรมชาติและซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ
  • หลีกเลี่ยงอาหารแช่แข็งหรืออาหารที่ผ่านการแปรรูป และไม่ควรใช้ภาชนะพลาสติกอุ่นอาหารให้ร้อนด้วยไมโครเวฟ แต่ควรเปลี่ยนถ่ายอาหารใส่ภาชนะประเภทแก้วเสียก่อน หรืออุ่นอาหารด้วยเตาแทน
  • ถ้าเป็นไปได้ ให้กินอาหารสดให้มากที่สุด และจำกัดการซื้ออาหารแปรรูปและอาหารแปรรูปพิเศษที่ห่อด้วยพลาสติก