พลังศิลปะ: มุมมองจากศิลปินและนักสะสม กับเรื่องราวจาก Mango Art Festival
ในขณะที่ Mango Art Festival ครั้งที่ 4 ใกล้เข้ามา ความคาดหวังของศิลปินและนักสะสมงานศิลปะก็เพิ่มสูงขึ้น ด้วยทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมา งานที่มีชีวิตชีวานี้ได้กลายเป็นเวทีสำคัญซึ่งทำให้ชุมชนศิลปะได้รับประสบการณ์ที่น่าประทับใจ ทั้งยังได้สร้างการเปลี่ยนแปลงในมุมมองความคิด ชีวิต และเส้นทางอาชีพของหลาย ๆ คน พร้อมกับความคาดหวังที่อยากจะเห็นภาพความสำเร็จนั้นเกิดซ้ำอีกครั้ง มาร่วมกับเราเจาะลึกเรื่องราวของศิลปินและนักสะสมงานศิลปะ เพื่อสำรวจผลกระทบอันลึกซึ้งของศิลปะที่มีต่อพวกเขา รวมไปถึงเรื่องเล่าประสบการณ์จาก Mango Art Festival ในมุมมองที่ทั้งหมดเคยได้สัมผัส
การเป็นศิลปินเต็มเวลานั้นยากแค่ไหน? “ธนวัฒน์ สุริยะทองธรรม” เป็นอีกคนหนึ่งที่น่าจะตอบได้ดี ศิลปินมือรางวัล ผู้จบการศึกษาทางด้านภาพพิมพ์ แต่ในช่วงหลายปีหลังสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ คนที่ติดตามงานของธนวัฒน์มาตั้งแต่ยุคเริ่มต้นจะพบว่างานปัจจุบันของเขานั้นแตกต่างออกไป “การเปลี่ยนแปลงเป็นตามธรรมชาติ เราอาจจะโตขึ้น หรือ วิธีมองโลก มองสังคมเปลี่ยนไป หรือเพราะเรามีลูกมันก็อาจจะมีส่วน”
งานศิลปะแบบสื่อผสม (Mixed Media Art) ที่มีลักษณะ “กึ่งสามมิติ” ซึ่งธนวัฒน์สร้างสรรค์อยู่ในวันนี้ ชวนตะลึงทั้งด้วยขนาดและรายละเอียด บวกกับขั้นตอนการทำงานที่ค่อนข้างซับซ้อน งานที่เห็นเหมือนกับเป็นตัวการ์ตูนหรือของเล่นสำหรับเด็กได้สะท้อนบุคลิกความเป็นคนขี้เล่นและสรวลเสเฮฮาของผู้สร้างสรรค์ แต่เมื่อพิจารณาลึกลงไปจะพบความจริงจังในเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสังคม ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงงานจากยุคก่อนหน้านี้ของเขา
“สิ่งที่มันเชื่อมกันก็คือ ผม ซึ่งเป็นคนทำ เพราะในคน ๆ หนึ่งมีหลายมุม แล้วแต่ว่าเราจะแสดงออกตรงไหน หยิบตรงไหนมาใช้”
ในงาน Mango Art Festival เมื่อปีที่แล้ว ธนวัฒน์ประสบความสำเร็จอย่างงดงามด้วยผลงานศิลปะที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเขา และในปีนี้เขาพร้อมที่จะต่อยอดความสำเร็จดังกล่าวด้วยการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นใหม่มานำเสนอ
“ความสำเร็จในโลกศิลปะไม่ได้ยึดติดกับสูตรตายตัว แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการสร้างสรรค์และการขายซึ่งต้องบาลานซ์กันให้ได้”
เครื่องวัดอย่างหนึ่งของงานศิลปะที่ประสบความสำเร็จก็คือ การขาย ซึ่งมันปฏิเสธไม่ได้ เมื่อสร้างสรรค์งานออกมาแล้ว ต้องไปให้ถูกที่ถูกทาง ถ้าขายไม่เป็นหรือขายไม่ได้ ก็ไปหาว่าใครที่ขายได้ มันก็จะมีทางเลือก อย่างเช่นมาที่ Mango Art Festival “การขายงานศิลปะไม่ใช่เรื่องผิด ศิลปะก็เหมือนของอย่างอื่น จะบอกว่าศิลปะเหนือกว่าอย่างอื่น พูดไม่ได้ ไม่มีอะไรสำคัญกว่ากัน”
สิ่งที่ธนวัฒน์เน้นย้ำคือ เรื่องราวความสำเร็จของเขาไม่ใช่ “สูตรสำเร็จตายตัว” ที่จะแนะนำใคร ๆ ให้ทำตามได้ “แต่สิ่งหนึ่งที่จะบอกได้ก็คือ ศิลปินต้องมีผลงานออกมา งานเท่านั้นที่จะเป็นตัวนำทุกอย่าง แล้วต้องวิเคราะห์งานตัวเองด้วย” แม้จะมีประสบการณ์ด้านศิลปะมามากกว่าทศวรรษ แต่ธนวัฒน์ยังคงทุ่มเทให้กับการขัดเกลางานฝีมือของเขาเสมอ พร้อมไปกับการประเมินผลงานของตัวเองอยู่ตลอด ด้วยความมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงเพื่อให้งานชิ้นต่อไปดีขึ้นกว่างานเก่า
“ผมต้องรับผิดชอบมัน จะดีหรือไม่ดีก็ต้องรับผิดชอบ ยอมรับ แล้วก็ทำใหม่ให้มันดี ศิลปินต้องวิเคราะห์งานตัวเองให้เป็น ถ้ามันดีก็คงไม่ต้องทำอะไรแล้ว ถ้าไม่มีดีไปกว่านี้แล้วเราจะทำมันทำไม มันต้องหยุด พอ ไปทำอย่างอื่น แต่ผมไม่เชื่อว่ามันดีที่สุด”
และในเทศกาล Mango Art Festival 2024 ธนวัฒน์ สุริยะทองธรรม พร้อมจะเผยโฉมผลงานล่าสุดของเขาซึ่งสะท้อนแสดงถึงวิวัฒนาการทางศิลปะที่เขาพยายามก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง
ถึงเวลาจะผ่านมาเป็นปีแล้ว แต่คนที่ได้ไปร่วม Mango Art Festival 2023 ยังจำผลงานที่น่าประทับใจของศิลปินสตรีทอาร์ตมาแรงอย่าง “แมนซู้ด” (Manzood) ซึ่งทำร่วมกับสกู๊ตเตอร์ระดับตำนานอย่าง “เวสป้า” ได้
การได้ร่วมงานกับแบรนด์ดังระดับโลกเป็นโอกาสและประสบการณ์ที่ดี ทำให้เอกลักษณ์ในผลงานซึ่งแมนซู้ดอุทิศตนเพื่อสร้างในตลอดหลายปีที่ผ่านมาถูกมองเห็นและได้การยอมรับในวงกว้างมากขึ้น ด้วยเชื่อเสมอว่า การสร้างเอกลักษณ์ให้กับงานเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและจำเป็นสำหรับศิลปินทุกคน แน่นอนว่า นี่เป็นเรื่องที่ยากและท้าทายอย่างยิ่ง
“การเป็นศิลปินต้องสร้างตัวตนที่ชัดเจนและมีเอกลักษณ์ในผลงานให้คนรู้จัก ในทางการตลาดก็เหมือนการทำแบรนด์ของตัวเองให้แข็งแรง ในยุคปัจจุบันการสร้างอะไรใหม่ ๆ ก็ต้องการความคิดสร้างสรรค์และใช้เวลาในการคิดเยอะขึ้น”
แมนซู้ดเปรียบเทียบการทำงานศิลปะกับการเล่นกีฬาที่ต้องมีการฝึกฝนฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ รวมทั้งต้องพยายามรักษามาตรฐานคุณภาพ มุ่งมั่นปรับปรุงยกระดับผลงานอย่างต่อเนื่อง “ต้องทำให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ”
ศิลปินสตรีทอาร์ตผู้นี้ยังเป็นนักโต้คลื่นและผู้ชื่นชอบธรรมชาติโดยเฉพาะทะเลเป็นพิเศษ สิ่งเหล่านี้เป็น “เรื่องราว” ในผลงานของเขา
ขณะที่คาแรคเตอร์ในภาพวาดของ แมนซู้ด ซึ่งเป็น “ตัวการ์ตูน” ที่มี "ดวงตาพิเศษ" นั้นเป็นการคลี่คลายพัฒนามาจากตัว "Q" ที่เป็นชื่อเล่นของศิลปินและ “เหมือนกับเป็นการมองโลกในมุมที่พิเศษมากกว่าดวงตาปกติ”
การเรียนรู้ทดลองสร้างสรรค์สำหรับศิลปินคนนี้ไม่มีวันจบ “ทุกวันนี้ยังเรียนรู้ มีเรื่องใหม่ ๆ มาตลอดเวลา” และ “ต้องทำในสิ่งที่เป็นตัวเรา วาดในสิ่งที่เรารู้สึก ต้องหาตัวตน หาสไตล์ของเรา ต้องสร้างความแตกต่าง ต้องซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ต่อความคิดของเรา ไม่หลงกระแส ทำในสิ่งที่เราทำแล้วมีความสุข ที่เราชอบ แล้วจะทำได้เรื่อย ๆ”
สำหรับแฟน ๆ ที่ตั้งตารอคอย ศิลปินผู้นี้จะนำผลงานสร้างสรรค์ใหม่ล่าสุดของเขามาเสนอใน Mango Art Festival 2024 “เป็นงานที่แสดงคาแรคเตอร์ที่ชัดเจนของเราออกมา สดใสขึ้น น่ารักแฝงด้วยความลึกลับ” แมนซู้ดเปิดเผย
“นวัต คิวบิก” ดาวรุ่งแห่งศิลปินรุ่นใหม่ผู้เชี่ยวชาญการวาดภาพแนวคิวบิสม์ (Cubism) ซึ่งดึงดูดผู้ชมด้วยสไตล์และมุมมองอันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นน่าสนใจ “ผมวาดภาพแบบคิวบิสม์มาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันเรียกว่าคิวบิสม์ ผมวาดรูปทรงเรขาคณิต ตัดทอนรายละเอียดยุบยิบ ให้เห็นเป็นชิ้นเข้าใจง่าย”
จากการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัย รวมกับการฝึกฝนทดลองด้วยตัวเอง และบทเรียนจากชุมชนศิลปะในสวนจตุจักรซึ่งเขาเปิดร้านอยู่ที่นั่นนานถึง 6 ปีตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา “การขายภาพที่จตุจักรทำให้ผมได้เผชิญหน้ากับชีวิตจริงของแท้ ทำให้ผมได้รู้จักลูกค้า ได้คุยกับลูกค้าโดยตรง แล้วได้คุยกับศิลปินอื่น ๆ ทำให้ได้รู้ว่าคนคิดกับผลงานของผมยังไง เป็นจุดที่ทำให้ผมพัฒนาผลงานได้ไว
“ผมได้รับคำวิจารณ์ตรง ๆ ได้เรียนรู้โลกที่แท้จริงว่ามันไม่ได้สวยงาม เป็นศิลปินแล้วไม่ต้องง้อเงิน หรือศิลปะต้องไม่มีเงินเข้ามาเกี่ยว ศิลปะบริสุทธิ์ เหล่านี้ลบทิ้งไปได้เลย”
นวัต คิวบิก เป็นศิลปินที่ชอบทดลอง “เทคนิคต่าง ๆ ผมได้มาจากจตุจักร เช่น การทำเทกซ์เจอร์นูนสูงนูนต่ำ ให้มีมิติมากขึ้น ใช้คัตตอนบัด สำลี หรือผ้าเข้ามาผสม “เราสามารถเปิดใจแล้วเอาทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวในชีวิตประจำวันมาใส่ไว้ในศิลปะได้หมด มันจะเป็นเทคนิคใหม่เฉพาะตัวที่เราเอามาใช้ ทำให้ผลงานของเราก็จะมียูนีคมากขึ้น”
งานของ นวัต คิวบิก ส่วนใหญ่เป็นภาพบุคคลมาพร้อมเรื่องราวในนั้นให้คนดูได้รู้สึก “งานศิลปะอาศัยความรู้สึกในการดู ศิลปะสื่อสารกันได้โดยไม่ต้องอธิบายเป็นสตอรี่หรือเป็นคำพูดมากมาย “ผมรู้สึกว่าภาพคนมันท้าทาย เพราะศิลปินวาดภาพคนมาเป็นพัน ๆ ปีแล้วคุณจะวาดภาพคนยังไงให้แตกต่างกับศิลปินที่เกิดก่อนคุณ หรือจะวาดภาพคนยังไงให้คนดูแล้วรู้ว่านี่คือ นวัต
“ในยุคนี้มีศิลปินเกิดขึ้นใหม่มากมาย แล้วหลายคนก็วาดภาพคน เราจะสามารถพรีเซนต์ออกไปยังไงให้คนเห็นแล้วรู้ว่าภาพนี้ นวัตเป็นคนวาด”
นวัต คิวบิก ร่วมงาน Mango Art Festival มา 2 ครั้ง ปีที่แล้วผลงานของเขาขายได้ทั้งหมด “หลังจากนั้นก็มีแกลเลอรี่ติดต่อให้ผมไปแสดงงาน และนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของผมจะมีขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่ได้มาแสดงงานที่ Mango Art Festival”
นับตั้งแต่เรียนจบสาขาวิชาศิลปะจินตทัศน์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเมื่อหลายปีก่อน จิตใจของนวัตมั่นคงอยู่กับการทำงานศิลปะอย่างไม่เคยวอกแวกลังเล “พูดตามตรง มันค่อนข้างอยู่ยากมากเหมือนกัน ผมเห็นศิลปินหลายคนที่โตมาพร้อมกัน สุดท้ายก็ต้องไปทำงานอย่างอื่นที่เขาไม่ได้รัก แต่ถ้าหากต้องการเป็นศิลปิน คิดว่าสามารถอยู่กับมันไปจนตายได้ ก็ต้องทำผลงานออกมาให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ หาความรู้รอบตัวเยอะ ๆ โลกกำลังจะหมุนไปทางไหน เราจะปรับตัวเอาชนะมันได้ยังไง”
กับเส้นทางอาชีพศิลปิน นวัต คิวบิกบอกว่า เขาเคยวางแผนอนาคตไว้หลายอย่าง “แต่ผมก็ได้ค้นพบว่า ในการทำงานศิลปะ เราไม่สามารถวางแผนได้ทั้งหมด มันจะมีสถานการณ์เข้ามา ศิลปะเป็นอะไรที่เคลื่อนไหวตลอดเวลา สร้างเซอร์ไพรส์ให้กับเราได้ตลอดเวลา สุดท้ายคำตอบก็คือ ทำผลงานให้ดีที่สุด แค่นี้ก็พอแล้ว หลังจากนั้นโลกจะพาเราไปที่ไหนก็แล้วแต่”
แม้จะหลงใหลในศิลปะอย่างหยั่งรากลึกและศึกษาเชิงวิชาการมานานหลายปี แต่ “วัณณิตา ตันเก่ง” หรือ “หมิว” นักศึกษาปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ยังเรียกตัวเองว่า "หน้าใหม่" ด้วยเส้นทางอาชีพของเธอเพิ่มเริ่มต้น “หมิวเพิ่งเข้ามาในวงการ ได้เริ่มต้นแสดงงานตอนเรียนปริญญาโท รู้สึกว่ามันยังเร็วมาก มีหลายอย่างที่เราต้องเรียนรู้อีกเยอะในวงการนี้”
ก้าวแรก ๆ เพื่อเข้าสู่อาณาจักรแห่งศิลปะระดับมืออาชีพ วัณณิตาได้ร่วมเทศกาลศิลปะ Mango Art Festival เมื่อปีที่แล้ว ผลงานศิลปะของเธอถูกมองเห็นและได้รับความสนใจอย่างมาก ด้วยความโดดเด่นในแนวทางกึ่งนามธรรม (Semi Abstract) ซึ่งเป็นการสำรวจแสง สี และรูปทรงที่เชิญชวนให้ผู้ชมร่วมจินตนาการ “งานของหมิวจะเน้นเรื่องแสงสีที่สะท้อนผ่านวัตถุใส วิ้ง ๆ แวว ๆ เอกลักษณ์ของหมิวอยู่ที่การเคลื่อนไหวของฝีแปรง ที่ออกมาเบลอร์ ๆ ฟุ้ง ๆ”
การเข้าร่วมเทศกาลศิลปะเป็นการเปิดโลกสำหรับศิลปินหน้าใหม่และมอบโอกาสที่สำคัญที่สุดคือ การได้มีนิทรรศการศิลปะเดี่ยวครั้งแรก “งานนี้ทำให้คนเห็นงานเรามากที่สุด มีคิวเรเตอร์มาติดต่อให้เราไปแสดงงาน จนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีคนจำงานที่เราแสดงในงานได้ คนมาดูงานเยอะมาก คนเข้าถึงงานได้ง่าย แล้วไม่มีใครรู้ว่าหมิวเป็นศิลปิน ทำให้เรามีโอกาสได้ฟังความคิดเห็นของคนอื่นว่าเขาคิดยังไงกับงานของเรา”
ผลงานที่นำออกแสดงของวัณณิตา สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ทางศิลปะ สไตล์ และธีมส่วนตัว การเปิดเผยนี้ทำให้เธอสามารถสร้างความประทับใจ และสร้างสถานะของตัวเองในชุมชนศิลปะ โดยที่นิทรรศการเดี่ยวเป็นเครื่องยืนยันความสามารถและการทำงานหนักของศิลปิน การนำผลงานมาร่วมเทศกาลสร้างโอกาสให้วัณณิตาได้เติบโตและพัฒนา “เราต้องทำงานสม่ำเสมอ แต่ไม่ใช่แค่ทำงานในสตูดิโอ ต้องไปดูงานข้างนอก ไปพบปะผู้คน สร้างคอนเนคชั่น เปิดโอกาสให้คนรู้จักเราได้มากขึ้น อาจจะได้รับโอกาสใหม่ ๆ เข้ามา”
ขณะที่การเป็นศิลปินหน้าใหม่เป็นประสบการณ์อันท้าทาย ไม่ต่างกับเป็นผืนผ้าใบว่างเปล่าที่รอการเติมเต็มด้วยวิสัยทัศน์และเป็นเอกลักษณ์ “การที่เราได้ออกไปข้างนอก ทำให้คนเห็นงานเราแล้ว ก็ต้องพัฒนางานขึ้นไปเรื่อย ๆ ทำให้เขาจดจำผลงานของเราและได้เห็นความสม่ำเสมอในการสร้างสรรค์งานของเรา หมิวทำงานเป็นหลัก แต่เมื่อเวลามีกิจกรรมทางศิลปะก็ไปร่วมด้วย เพื่อไปพูดคุยทำความรู้จักกับคนใหม่ ๆ ทำให้เราเป็นที่รู้จัก ทำให้เขารู้จักเราด้วย”
ในมุมมองของนักสะสม อีเวนต์แห่งปีอย่าง Mango Art Festival เป็นโอกาสพิเศษในการดื่มด่ำกับงานศิลปะอันหลากหลายในที่เดียว นักสะสมสามารถค้นหาผลงานซึ่งตรงกับรสนิยมและความชื่นชอบของตนเองได้อย่างง่ายดาย เทศกาลนี้ยังเป็นประตูสู่ชุมชนศิลปะและส่งเสริมความสัมพันธ์ที่มีความหมาย “ทอม แวน บลาร์คอม” (Tom Van Blarcom) นักสะสมงานศิลปะชาวอเมริกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเทศกาล Mango Art Festival ที่เขาเคยได้สัมผัสว่า “เป็นการผสมผสาน ศิลปิน แกลเลอรี และทุกสิ่งที่หลากหลายมารวมกัน คุณไม่มีทางรู้ว่าคุณจะพบอะไร อาจจะไม่มีอะไรหรืออาจจะมีหลายชิ้นที่คุณชอบ อาจจะตรงเป้าหรือพลาดเป้า เราไม่มีทางรู้”