เนื้อหาในหมวด การเงิน

สกพอ.-HSBC ประเทศไทย เชื่อมการลงทุนโลก ดึงเงินลงทุน 500,000 ล้านบาท ใน 5 ปี สู่ EEC

สกพอ.-HSBC ประเทศไทย เชื่อมการลงทุนโลก ดึงเงินลงทุน 500,000 ล้านบาท ใน 5 ปี สู่ EEC

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี และนายจอร์โจ กัมบา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและหัวหน้ากลุ่มลูกค้าธุรกิจ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ประกาศความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ เพื่อดึงดูดการลงทุนระดับโลก สู่พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมมูลค่าสูง โดยจะเพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงนักลงทุนซึ่งไม่จำกัดอยู่เพียงในระดับภูมิภาค แต่ยังรวมถึงนักลงทุนระดับโลกในระเบียงเศรษฐกิจที่สำคัญ ผ่านเครือข่ายระดับนานาชาติของธนาคารเอชเอสบีซีใน 58 ประเทศและเขตดินแดน สร้างโอกาสการลงทุนจากตลาดสำคัญ อาทิ จีน ยุโรป เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง อินเดีย ไต้หวัน และญี่ปุ่น โดยจะมุ่งพัฒนากลยุทธ์ดึงดูดการลงทุนสู่พื้นที่อีอีซี พร้อมให้การสนับสนุนด้านโซลูชันทางการเงิน และคำปรึกษาครบวงจร เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการลงทุนจากทั่วโลก

395605

ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างทั้งสององค์กร มีเป้าหมายที่จะสนับสนุน สกพอ.ในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจริงในพื้นที่รวม 5 แสนล้านบาท ภายใน 5 ปี พร้อมขับเคลื่อนการเติบโตในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญ 5 คลัสเตอร์ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ อุตสาหกรรมสีเขียว BCG และอุตสาหกรรมบริการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของไทยในการเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานของโลก

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า “เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ถือเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เป้าหมายหลักคือ การสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการลงทุนที่มีมูลค่าสูง และเชื่อมโยงไปถึงพื้นที่และชุมชน ที่ผ่านมา การลงทุนจากต่างประเทศมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาในพื้นที่อีอีซีเป็นอย่างมาก การขยายขีดความสามารถของพื้นที่และระบบบริหารจัดการที่เอื้อต่อการลงทุนเป็นกลยุทธ์สำคัญในการเติบโตของอีอีซี การผนึกกำลังร่วมกับธนาคารเอชเอสบีซี ซึ่งเป็นสถาบันทางการเงินที่มีความเชี่ยวชาญและเครือข่ายที่แข็งแกร่งใน 58 ประเทศและเขตดินแดน จะเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนการลงทุนจากทั่วโลก และเชื่อมโยงอีอีซี กับองค์กรชั้นนำระดับนานาชาติ”

ภายใต้การบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ ทั้งสององค์กรจะร่วมมือในการแสวงหานักลงทุนที่มีศักยภาพ อำนวยความสะดวกในการลงทุนผ่านโครงการต่าง ๆ และอาศัยความแข็งแกร่งของเครือข่ายธุรกิจระดับนานาชาติของธนาคารเอชเอสบีซี เพื่อปลดล็อคโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ โดยในปี 2568 ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย จะให้การสนับสนุนในกิจกรรมโรดโชว์เพื่อส่งเสริมการลงทุนสู่พื้นที่อีอีซีในระเบียงเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ จีน สิงคโปร์ ยุโรป ไต้หวัน และญี่ปุ่น

“สกพอ. มุ่งมั่นที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการลงทุนและดำเนินธุรกิจ ผ่านการสนับสนุนตลอดทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเจรจาสิทธิประโยชน์จนถึงการเริ่มต้นประกอบกิจการ ความร่วมมือกับธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย ไม่เพียงเปิดโอกาสให้เราสามารถเข้าถึงฐานลูกค้าระดับโลกของธนาคารฯ ซึ่งครอบคลุมหลากหลายอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจสำคัญ แต่ยังเข้ามาสนับสนุนด้านการนำเสนอโซลูชันทางการเงินที่ครบวงจรให้แก่นักลงทุน ซึ่งจะเข้ามายกระดับอุตสาหกรรมในประเทศให้สอดรับกับแนวโน้มของตลาดโลก เราเชื่อมั่นว่าความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับประเทศไทยในการเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานในระดับโลก และตอกย้ำบทบาทของอีอีซีในฐานะจุดหมายของการลงทุนชั้นนำสำหรับอุตสาหกรรมมูลค่าสูงในระดับภูมิภาค” ดร.จุฬา กล่าวเสริม

395604

นายจอร์โจ กัมบา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและหัวหน้ากลุ่มลูกค้าธุรกิจ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวถึงความมุ่งมั่นของธนาคารในการสนับสนุนเป้าหมายของการลงทุนในประเทศไทยว่า “ในขณะที่ธุรกิจระหว่างประเทศยังคงปรับแผนด้านห่วงโซ่อุปทานอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยกำลังได้รับความสนใจในการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากทำเลที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ และอีโคซิสเต็มในด้านการผลิตที่ครอบคลุม ในปี 2567 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการลงทุนจากต่างประเทศที่ได้รับอนุมัติเป็นมูลค่ารวมราว 7.27 แสนล้านบาท ถือเป็นสถิติยอดการลงทุนสูงสุดในรอบ 20 ปี และอีอีซีถือเป็นศูนย์กลางของการเติบโตนี้ โดย 78% ของมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเป็นการลงทุนในพื้นที่อีอีซี (ราว 5.68 แสนล้านบาท) สะท้อนถึงบทบาทของอีอีซีในฐานะแรงขับเคลื่อนหลักของกลยุทธ์การลงทุนของประเทศไทย โดยอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (2.56 แสนล้านบาท) อุตสาหกรรมดิจิทัล (9.5 หมื่นล้านบาท) และยานยนต์แห่งอนาคต (8.7 หมื่นล้านบาท)”

ธนาคารเอชเอสบีซี เล็งเห็นถึงแนวโน้มความสนใจของธุรกิจจีนในการขยายกิจการสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากจำนวนขององค์กรธุรกิจจีนที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในอาเซียนผ่านเครือข่ายของธนาคารในปี 2566 ที่เพิ่มขึ้น 80% จากปีก่อนหน้า โดยประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในจุดหมายการลงทุนที่สำคัญ ทั้งนี้ แม้การลงทุนจากประเทศจีนจะครอบคลุมหลากหลายอุตสาหกรรม แต่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุด คือ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีมูลค่ารวมนับตั้งแต่ปี 2561 จนถึงไตรมาสสามปี 2567 ราว 2.75 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ประเทศไทยยังประสบความสำเร็จในการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศในธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ เนื่องจากมีแหล่งพลังงานที่มั่นคงเพียงพอ และมีเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยล่าสุด สกพอ.ยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือด้านการลงทุนในเศรษฐกิจดิจิทัลที่หลากหลายยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ อินเดีย และตะวันออกกลาง ยังถือเป็นระเบียงการลงทุนที่สำคัญสำหรับประเทศไทยด้วยเช่นกัน ด้วยความสัมพันธ์ทางการค้าที่แข็งแกร่งและโอกาสจากการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกัน โดยเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่งและความเชี่ยวชาญด้านการเงินของธนาคารเอชเอสบีซีในประเทศเหล่านี้ จะช่วยดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสู่พื้นที่อีอีซีได้มากยิ่งขึ้น

“เอชเอสบีซี จะอาศัยความเชี่ยวชาญของธนาคารฯ ในการเชื่อมโยงการลงทุนระหว่างประเทศ เข้ามาสนับสนุน สกพอ. ในการเข้าถึงกลุ่มนักลงทุนจากทั่วโลก โดยเฉพาะจากระเบียงเศรษฐกิจสำคัญที่สอดคล้องกับเป้าหมายด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย ผ่านการนำเสนอโซลูชันด้านการเงินที่ครบวงจร อำนวยความสะดวกในการเริ่มดำเนินธุรกิจ และเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการลงทุน เราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือกับ สกพอ. ในครั้งนี้จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก กระตุ้นการจ้างงานทักษะสูง และบรรลุเป้าหมายในการเสริมศักยภาพในการแข่งขันในระดับนานาชาติ ตลอดจนเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของไทยต่อไปในอนาคต” นายกัมบา กล่าว

ภายหลังพิธีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ ยังมีการสัมมนาเกี่ยวกับศักยภาพของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการลงทุนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโอกาสที่ธุรกิจระดับนานาชาติจะได้รับจากความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานของไทย และการสนับสนุนในเชิงนโยบายจาก สกพอ.

โดยในงานแถลงข่าวและการสัมมนา มีบุคคลสำคัญและผู้แทนกว่า 50 ราย จากบริษัทระดับโลกชั้นนำ ตลอดจนสถานทูตและหอการค้าระหว่างประเทศเข้าร่วมงาน เช่น สถานเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี สถานเอกอัครราชทูตแคนาดา สถานเอกอัครราชทูตเวียดนาม สำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกง คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์ หอการค้าอเมริกันในประเทศไทย และหอการค้าอังกฤษ-ไทย เป็นต้น

โฮมโปร แจงกรณีถูกละเมิดข้อมูลเป็นข้อมูลพื้นฐาน ไม่มีข้อมูลธุรกรรม

โฮมโปร แจงกรณีถูกละเมิดข้อมูลเป็นข้อมูลพื้นฐาน ไม่มีข้อมูลธุรกรรม

โฮมโปร แจงกรณีถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ยันเป็นเพียงข้อมูลพื้นฐาน-ไม่มีข้อมูลอ่อนไหว-ไม่มีข้อมูลธุรกรรม พร้อมยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุด

SCB WEALTH มองภาษีทรัมป์ ฉุด GDP โลกโตเหลือ 2.2% แนะพักหุ้น ถือตราสารหนี้-ทองคำ

SCB WEALTH มองภาษีทรัมป์ ฉุด GDP โลกโตเหลือ 2.2% แนะพักหุ้น ถือตราสารหนี้-ทองคำ

SCB WEALTH มองภาษีทรัมป์กดดัน GDP โลกโตเหลือ 2.2% ส่วนไทยโต 1.4-1.5% แนะลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้น-กลาง กองทุนผสม และทองคำ เลี่ยงสินทรัพย์เสี่ยงชั่วคราว

เนสท์เล่ ร่อนแถลงห่วงผู้ประกอบการรายย่อย หลังศาลสั่งห้ามผลิต-ขาย เนสกาแฟ

เนสท์เล่ ร่อนแถลงห่วงผู้ประกอบการรายย่อย หลังศาลสั่งห้ามผลิต-ขาย เนสกาแฟ

เนสท์เล่ ร่อนจดหมาย ห่วงใยผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ หลังศาลสั่งห้ามผลิต-ขาย แบรนด์ Nescafé ในประเทศไทย

SCB FM มอง ค่าเงินบาทไทย อาจอ่อนค่าในระยะสั้น จากสหรัฐฯ ประกาศ Reciprocal tariffs

SCB FM มอง ค่าเงินบาทไทย อาจอ่อนค่าในระยะสั้น จากสหรัฐฯ ประกาศ Reciprocal tariffs

SCB FM มองเงินบาทอาจอ่อนค่าต่อได้อีกไม่มากในระยะสั้น แม้สหรัฐฯ จะประกาศ Reciprocal tariffs แต่ปลายปียังไม่แน่นอนสูง บาทอาจอ่อนต่อ